วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

มูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด (Total Economic Value: TEV)

 
มูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด (Total Economic Value: TEV) 

            
                                ในการประเมินมูลค่าผลกระทบภายนอกอันเกิดจากโครงการที่มีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นถือได้ว่าเป็นงานสำคัญของนักวิเคราะห์โครงการ เนื่องจาก สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นสินค้าและบริการที่ไม่มีราคา เพราะไม่มีตลาดรองรับ (Non-market goods) นอกจากนั้นสินค้าและบริการเหล่านี้ไม่อาจนำกลับคืนมาใช้ได้ (irreversibility) เมื่อถูกทำลายไป และที่สำคัญคือไม่สามารถผลิตทดแทนหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
                                มูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าในหน่วยของเงินตรา การวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจถูกนำมาใช้ประเมิน ผลเสีย-ผลประโยชน์ของโครงการ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีต่อบุคคล-กลุ่มบุคคล-สิ่งแวดล้อม (Third party effects) เช่น มลพิษทางเสียง อากาศ น้ำ และอื่นๆ ผลกระทบเหล่านี้ไม่มีหน่วยนับและไม่มีการโอนในรูปตัวเงินระหว่างผู้ก่อมลพิษกับผู้รับมลพิษ
                                นักเศรษฐศาสตร์ได้จำแนกมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของสิ่งแวดล้อมออกเป็น 3 ประเภท อันได้แก่ มูลค่าการใช้ (use value), มูลค่าเผื่อใช้ (option value) และมูลค่าที่ไม่ได้ใช้ (nonuse value)
Total economic value  =  actual use value + option value + nonuse value
                                มูลค่าการใช้แท้จริง (Actual use value)  เป็นมูลค่าอันเกิดจากการใช้ประโยชน์หรือสวัสดิการที่บุคคลได้รับจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติถ้ารับประโยชน์โดยตรงเรียกว่า Direct use value เช่น ความสวยงามจากทิวทัศน์ ความเงียบสงบ  มลพิษอาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียมูลค่าการใช้ เช่น มลพิษทางอากาศเพิ่มความเจ็บป่วย  ส่วนมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อมหรือ Indirect use value เป็นการที่ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ประโยชน์ในฐานะเป็นปัจจัยการผลิต เช่น มลพิษทางน้ำทำให้ค่า BOD สูงจนมีผลต่อการเพาะเลี้ยงกุ้ง น้ำมันรั่วไหลสู่ทะเลมีผลกระทบต่อการทำประมง
                                มูลค่าเผื่อใช้ (option value) เป็นมูลค่าเผื่อใช้ในอนาคตของบุคคล โดยบุคคลเต็มใจจ่ายในปัจจุบันเพื่อให้ตัวเองหรืออนุชนรุ่นหลังมีโอกาสใช้สิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ถ้าต้องการแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของ use หรือ nonuse value ก็ตาม แต่เนื่องจากอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าในอนาคตจะมีโอกาสได้ใช้จริงหรือไม่ ดังนั้น ความเต็มใจจ่ายสำหรับการเผื่อใช้ในอนาคตดังกล่าวจึงไม่เท่ากับมูลค่าของสิ่งแวดล้อม โดยรายจ่ายของบุคคลจะรวมเอาความไม่แน่นอนที่จะมีโอกาสใช้ในอนาคต (expected value) ไว้ด้วย ความเต็มใจจ่ายซื้อสินค้าสิ่งแวดล้อมนี้ มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจส่วนเกินของผู้บริโภค (CS)  ซึ่งบุคคลคาดว่า เขาจะได้รับจากสินค้า  ผลประโยชน์ที่บุคคลได้รับจากการซื้อสินค้า ก็คือ CS  แต่เนื่องจากการตัดสินใจตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคาดคะเน (expected) จึงกล่าวได้ว่า CS ในที่นี้ก็คือ expected CS : E(CS)
จาก      Gross WTP     =      market price  +  CS
                                แต่ในความเป็นจริงนั้น ทรัพยากรธรรมชาติทุกแห่งมีขนาดและปริมาณลดลง เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าจะมีสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในอนาคตหรือไม่ แนวคิดนี้ได้สมมติว่ามีความไม่แน่นอนในอุปทานสิ่งแวดล้อม และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า บุคคลส่วนใหญ่ไม่ชอบความเสี่ยงและความไม่แน่นอน (risk averse)  ดังนั้นบุคคลจึงเต็มใจจ่ายในจำนวนที่มากกว่า E(CS) เพื่อประกันว่า เขาจะมีโอกาสได้ใช้สิ่งแวดล้อมในอนาคตด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้  gross WTP ก็คือราคาเผื่อใช้ในอนาคต (option price) ซึ่ง  OV  คือ  จำนวนเงินส่วนเกินที่บุคคลยอมจ่ายเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้ใช้สิ่งแวดล้อมในอนาคตด้วย
                                โดยที่      Option price                        =      E(CS)   +   option value
                                                                                                OP                       =      E(CS)    +    OV
                                มูลค่าที่ไม่ได้ใช้ (nonuse value)  เป็นการที่ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ประโยชน์ต่อบุคคลในลักษณะของบุคคลมีความรู้สึกที่ดีเมื่อรับรู้ว่า สิ่งแวดล้อมยังอยู่ในสภาพที่ดีโดยที่ไม่มีโอกาสใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ direct หรือ indirect use value สะท้อนให้เห็นว่า บุคคลมีความเต็มใจจ่ายเพื่อปรับปรุงและรักษาสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาจะไม่เคยได้ใช้ มูลค่าที่ไม่ได้ใช้ประกอบด้วย มูลค่าของการดำรงอยู่ (existence value) และมูลค่าของการตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง (bequest value) 
                                Existence value  เป็นมูลค่าที่บุคคลได้รับประโยชน์จากการดำรงอยู่ของลักษณะอันน่าพอใจของสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะไม่เคยมีโอกาสได้พบเห็นหรือใช้ประโยชน์โดยตรงทางกายภาพเลยก็ตาม แต่ทรัพยากรเหล่านี้มีมูลค่าอยู่ในตัวเอง (intrinsic value) ควรค่าแก่การรักษาไว้ เช่น ปะการังใต้ทะเล
                                โครงการลงทุนพัฒนาโดยส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดผกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของคุณภาพและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนในโครงการพัฒนาสามารถกระทำโดยการเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนกับผลประโยชน์ของโครงการและ TEV เราสามารถเขียนกฎพื้นฐานได้ว่า
                                1)            สมควรลงทุนในโครงการพัฒนา ถ้า
                                               (BD  -  CD   -  BP)   >   0
                                2)            ไม่สมควรลงทุนในโครงการพัฒนา  ถ้า
                                                (BD  -  CD   -  BP)   <   0
                กำหนดให้            BD    =                  ผลประโยชน์ของโครงการ
                                                                CD    =                  ต้นทุนของโครงการ
                                                                BP    =                  ผลประโยชน์ของการปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือต้นทุนที่จ่ายไปเพื่อรักษา                                                                                                               สิ่งแวดล้อมกรณีมีโครงการ  
                                ในความเป็นจริง TEV เป็นค่าที่ใช้วัด BP ซึ่งก็คือมูลค่าของผลประโยชน์ทั้งหมดในรูปของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  แต่สิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านตลาดจึงไม่มีราคาตลาด ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องตรวจสอบวิธีการซึ่งสามารถนำมาใช้วัดองค์ประกอบของ  TEV
8.2       การประเมินค่าผลประโยชน์ (Valuing Benefits)
                                ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การประเมินความเสียหายนำมาใช้เพื่อพิจารณาการชดเชยในรูปตัวเงินจากบุคคลหรือกลุ่มคนบุคคลที่ต้องร่วมรับผิดชอบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปโดยของเสียที่อันตรายที่ปลดปล่อยออกมา ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมของโครงการหรือกิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายออกมาในรูปตัวเงิน (money terms) โดยแสดงเป็นค่าของ
                                1)            มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไป
                                2)            มูลค่าของการฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับสู่สภาพเดิม
ตารางที่ 8.1 ซึ่งแสดงมูลค่าของทรัพยากรและมูลค่าการฟื้นฟู สำหรับกรณี A และ B

A
B
- มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไป
- ต้นทุนการฟื้นฟู
$ 1.2  ล้าน
$ 0.6  ล้าน
$ 1.6  ล้าน
$ 3.8  ล้าน

                                สำหรับกรณี A มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไปจากน้ำมัน หรือการปลดปล่อยกากของเสียอันตรายมีค่าเท่ากับ $ 1.2 ล้าน แต่ต้นทุนของการฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับสู่สภาพเดิมมีค่าเพียง $ 0.6 ล้าน ดังนั้น ต้นทุนการฟื้นฟูจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องวัดค่าความเสียหาย ส่วนในกรณี B มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียไปเท่ากับ $ 1.6 ล้าน มีค่าน้อยกว่าต้นทุนการฟื้นฟู เพราะฉะนั้น มูลค่าของทรัพยากรที่สูญเสียจึงถูกนำมาใช้ประเมินค่าความเสียหาย 
                                ปัญหาสำคัญในการประเมินต้นทุนของการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย เช่น  
                                -              การกำหนดระดับคุณภาพที่แท้จริงของทรัพยากรเดิม
                                -              ทางเลือกต่างๆในการฟื้นฟูทรัพยากรภายใต้แนวคิดประสิทธิผลต้นทุน
                                -              การกำหนดทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความเท่าเทียมกับทรัพยากรหนึ่งที่สูญเสียไป
                                จุดมุ่งหมายของการวัดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการออกมาในรูปตัวเงินนั้น เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการการลงทุนในอันที่จะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมใดๆ จะถูกวัดในรูปตัวเงิน และมูลค่าทั้งหมดของค่าใช้จ่ายจะเป็นตัวกะประมาณมูลค่าของทรัพยากรที่สังคมนำไปใช้ จึงจำเป็นต้องกำหนดผลประโยชน์ของโครงการลงทุนต่างๆ ให้มากกว่าต้นทุนในการใช้ทรัพยากร  ซึ่งค่าใช้จ่ายควรจะเกิดขึ้นจนกระทั่งผลประโยชน์หน่วยสุดท้ายเท่ากับต้นทุนหน่วยสุดท้าย (MB = MC)  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการใช้ทรัพยากร นั่นคือ ณ ระดับนี้ ผลประโยชน์สุทธิโดยรวมจะมีค่ามากที่สุดด้วย
                                แนวคิดของ ผลประโยชน์ (benefit) มีรากฐานมาจาก สิ่งที่บุคคลต้องการ นั่นคือ ความพึงพอใจของบุคคล ซึ่งสิ่งนี้จะต้องถูกวัดออกมาในรูปผลประโยชน์ โดยการที่บุคคลมีความพอใจสำหรับบางสิ่งอย่างมากจะแสดงในรูปของความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสิ่งนั้น (willingness to pay : WTP)  ถ้าบุคคลในสังคมเต็มใจจ่ายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ผลประโยชน์ที่ได้รับจะมีขนาดใหญ่กว่ากรณีใช้ราคาตลาดเป็นเครื่องชี้วัด ส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่านี้เราเรียกว่าส่วนเกินผู้บริโภคหรือความพอใจส่วนเกิน (consumer surplus : CS) เนื่องจากบุคคลเต็มใจจ่ายมากกว่าราคาตลาด ดังนั้น การวัดผลประโยชน์ก็คือการวัดพื้นที่ภายใต้เส้นอุปสงค์ : เส้นโค้งอุปสงค์แบบมาร์แชลล์ (Marshallian demand curve) การเคลื่อนย้ายขึ้นลงตามเส้นอุปสงค์นี้ระดับรายได้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะเกิดจากการมีโครงการลงทุน กิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือนโยบายใดๆ สวัสดิการของสังคม ความกินดีอยู่ดี หรือความพอใจของบุคคลต้องคงที่เท่าเดิมเช่นก่อนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วความพอใจจะผันแปรเมื่อเคลื่อนย้ายขึ้นลงตามเส้นอุปสงค์ หรือ เราอาจจะถามผู้บริโภคว่า ถ้าต้องการเพิ่มราคาขึ้นมา ณ ระดับราคา  P  เขาเต็มใจยอมรับการชดเชย (WTA) ด้วยจำนวนเงินเท่าไร จึงจะไม่ทำให้เขารู้สึกเลวลงกว่าเดิม นั่นคือมีระดับรายได้เช่นเดิม ดังนั้นสรุปได้ว่ามีสองวิธีที่ใช้วัดผลประโยชน์จากการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสองวิธีใช้วัดผลเสียอันเกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก่
                                1)           WTP  เพื่อรักษาผลประโยชน์
                                2)             WTA  เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์
                                3)            WTP  เพื่อป้องกันการสูญเสีย
                                4)            WTA  เพื่อให้ทนต่อการสูญเสีย
                                วิธีวัดด้านผลประโยชน์และด้านความสูญเสียมีความแตกต่างกัน เหตุผลก็คือสำหรับผู้บริโภคหรือบุคคลแล้ว กรณีของผลประโยชน์จะอิงอยู่กับ แบบแผนของการจ่ายซื้อ ขณะที่กรณีสูญเสียจะอิงกับ แบบแผนของการชดเชย นักเศรษฐศาสตร์บางท่านได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสองวิธีนี้โดยใช้หลักจิตวิทยาที่ว่า บุคคลเรามักจะกลัวการสูญเสียมากกว่าการได้รับอะไรใหม่ๆเข้ามาในชีวิต ดังนั้นโครงการลงทุนต่างๆ ต้องจ่ายเงินค่าชดเชย ให้แก่ผู้รับผลกระทบด้วยมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าที่บุคคลหรือผู้รับผลกระทบเต็มใจจ่ายเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปให้กลับมาเหมือนเดิมนั่นคือ WTA > WTP

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น