วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดอยตุง-แม่ฟ้าหลวง ต้นแบบ เศรษฐกิจพอเพียง ของโลก

        โครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ถือได้ว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ไทยต้นแบบ "เศรษฐกิจพอเพียงของโลก" หรือศูนย์รวมพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ที่มียุทธศาสตร์การจัดการเศรษฐกิจยั่งยืนอย่างสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ มนุษย์ (แรงงานชาวเขา) เกษตรแปรรูป ชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรม และ การท่องเที่ยว ครบวงจร
         ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงยุทธศาสตร์การจัดการโครงการที่มีมากว่า 30 ปี โดยจะสร้าง แบรนด์ "ดอยตุง" เทียบชั้นตีตลาดแบรนด์สากลโลก ตอกย้ำให้เห็นถึงความพอเพียงคือความยั่งยืนในการดำรงประเทศให้อยู่รอดปลอดภัย
- วางยุทธศาสตร์พัฒนาดอยตุงฯอย่างไร
         สมเด็จย่าท่านเคยมีพระดำรัสว่า เราเกิดมา เป็นประเทศเกษตรกร เป็นสันหลังของชาติ ท่านเป็นปราชญ์ที่พูดน้อย หากได้สร้างเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยิ่งใหญ่เข้าถึงรากหญ้าอย่างสมบูรณ์ หาก "ความพอเพียง" แต่ละคนจะต่างระดับกัน เช่น เศรษฐีพอใจเมื่อได้ขี่เฟอร์รารี่ ส่วนชาวบ้านกินมื้อละ 20 บาท ก็เพียงพอ
         ในโครงการดอยตุงได้รับการพัฒนาด้วยยุทธศาสตร์เป้าหมาย "แก้ไขความยากจน" เพื่อสร้างความยั่งยืน เพราะการปรับทัศนคติกับคนจน ที่อยากทำกินอย่างสุจริตแก้ไขได้เสมอ ดูตามสมเด็จย่าทรงทำต้นแบบการพัฒนาด้วย 3 ศาสตร์ คือ 1) แก้ไขปากท้องความอยู่รอดหรือความจน 2) ขจัดการเจ็บไข้ 3) ให้ความรู้การศึกษาแก่ชุมชน ลำดับแรก สังคมต้องมีการศึกษาก่อนจึงเปลี่ยนแปลงได้ ท่านทรงสอนว่า ต้องทำให้คน 99% อยู่รอดได้ เมื่อน้อมรับพระดำรัสแล้ว ผมก็ดำเนินการทันที 2 ข้อ คือแก้ไขความยากจน กับสร้างโอกาสให้ชุมชน
         แนวทางคือ คนที่มีโอกาสน้อยต้องร่วมมือกัน ส่วนผู้มีเงินต้องปลุกผีคนเหล่านี้ให้ลงมาช่วยดูแลรากหญ้า แล้ววัดผลดูว่าเงินในกระเป๋าชาวบ้านมาจากการทำงานจริง ไม่ใช่ใช้เงินแจกลงไปจะช่วยได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น
         ยุทธศาสตร์ดอยตุงวางไว้ครั้งละ 12 ปี ก่อนทำต้องคุยกับชาวเขาแถบนี้ที่จะรับเข้าทำงานก่อน ถึงเดิมมีชีวิต รายได้ ความเป็นอยู่ อย่างไร อนาคตเมื่อเข้ามาทำงานด้วยกันแล้วจะต้องร่วมมือกันเป็นเสมือนหุ้นส่วนของโครงการ นั่นคือดอยตุงเปิดโอกาสให้ชาวบ้านถือหุ้นและรับปันผลโดยเป็นเจ้าของต้นกาแฟที่รับผิดชอบดูแล ยิ่งสร้างผลผลิตต่อต้นใส่ปุ๋ยพรวนดินด้วยต้นทุนที่ถูก มีเมล็ดกาแฟออกมาหนักเท่าไร ทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งตามจริง
         ระยะแรกที่ชาวเขายังไม่มี "ส่วนร่วมเป็นเจ้าของประโยชน์" ในผลิตภัณฑ์กาแฟ แรงงานเหล่านี้ก็ไม่ใส่ใจการใส่ปุ๋ยหรือผลผลิต เมื่อใช้หลักให้เขามีส่วนร่วมรับส่วนแบ่งรายได้ กลยุทธ์ การดูแลต้นกาแฟก็ดีวันดีคืน ส่วนดอยตุงมีหน้าที่สร้างโรงงานคั่วเมล็ดกาแฟ และสร้างสรรค์ แพ็กเกจบรรจุภัณฑ์ ผมตั้งเป้าจะสร้าง "ดอยตุง" เป็นบิ๊กแบรนด์แข่งขันในตลาดโลกให้ได้เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น
- ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวจะทำควบคู่กันอย่างไร
         เนื่องจากดอยตุงเป็นโครงการขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีทรัพยากรหลากหลายอยู่ในพื้นที่สุดลูกหูลูกตา ดังนั้นการจัดการด้วยระบบมืออาชีพเป็นหัวใจสำคัญที่สุด "การท่องเที่ยว" เป็นแม่เหล็กอีกโครงการสามารถดึงคนจากทุกอาชีพ และทุกชาติเข้ามาทัศนศึกษาและพักผ่อนหย่อนใจได้ปีละหลายล้านคน สร้างรายได้ปีละหลายพันล้านบาท
ภายในโครงการมีรูปแบบการเที่ยวอย่างมีความรู้เชื่อมโยงแบบครบวงจร เดินเรื่องท่องเที่ยวผูกโยงกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ไล่เรียงถึงวิถีชีวิตของคนไทยในอาชีพหลักเกษตรกรรม ที่มีกรรมวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มการค้าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น กาแฟดอยตุง มีขั้นตอนการผลิต แพ็กเกจจิ้ง แบรนด์ และตลาดกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนเป็นระบบ
         ส่วนพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวมีรองรับถึง 9 จุด ได้แก่ พระตำหนักดอยตุง หอพระราชประวัติ สวนแม่ฟ้าหลวง สวนรุกขชาติดอยช้างมูบ หมู่บ้านชาวเขา พระธาตุดอยตุง ไร่กาแฟและแม็กคาเดีย ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ และดอยตุงลอร์ด
         ขณะนี้ผมกำลังวางแผนรวบรวมตำนาน "ขุนส่า" เพราะวันนี้ในดอยตุงคนของขุนส่าหรือชาวบ้านที่เคยร่วมประวัติศาสตร์ รู้จักวิถีชีวิต ซึ่งสามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้คนรุ่นหลังฟัง ต่างอาศัยอยู่ในโครงการและพร้อมที่จะเปิดเผยทุกเหตุการณ์ ระหว่างนี้ผมกำลังรวบรวมเครื่องมือ เครื่องใช้ และ สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำนาน ขุนส่า เพื่อนำมาจำลองไว้ ณ ดอยตุง ให้นัก ท่องเที่ยวหรือคนอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการฟังคำบอกเล่าเรื่องจริงได้เข้ามาสัมผัสโดยตรง
ถือเป็นไฮไลต์การท่องเที่ยวซึ่งสะท้อนความผูกพันในอดีตเกี่ยวกับพ่อค้าและเส้นทางยาเสพย์ติด ที่ดอยตุงต้องให้ความรู้ สร้างงานและปลดแอกความจนโดยสร้างโอกาสแก่ชาวไทยภูเขาเพื่อสร้างชุมชนอันยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม จากเดิมชาวเขาต้องค้ายาเสพย์ติดมาเป็นคนปลูกกาแฟ ยุคบุกเบิกทุกวันแต่ละคนต้องเดินป่าขึ้นเขาระยะทาง 10 ก.ม. ได้ค่าจ้างวันละ 40-50 บาท แต่เดี๋ยวนี้แรงงานมีมากกว่า 1,000 คน ขับรถ มอเตอร์ไซค์มาทำงานทำให้ดอยตุงมีรายได้วันละหลายร้อยบาท ดำรงชีพอย่างพอเพียงมีความสุข
- มีข้อเสนอแนะอะไร หลังเหตุการณ์ประวัติศาสตร์กษัตริย์ 25 ประเทศเสด็จเยือนไทย
         ผมว่าเป็นประวัติศาสตร์โลก King of The King หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยวควรหยิบยกขึ้นมาทำโครงการทันที โดยเฉพาะ "สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ" หรือ สสปน. (TCEB : Thailand Convention & Exhibition Bureau) ควรลุกขึ้นมาทำหน้าที่รวบรวมทำโครงการตลอดไป
         จากพระราชดำรัสของกษัตริย์แต่ละพระองค์ เห็นได้ชัดเจนว่าทรงซาบซึ้งอย่างมากต่อรูปแบบการจัดการเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงเรา เราเป็นข้าราชบริพาร ทำไมจะนำมาคิดแล้วทำต่อไม่ได้ เพราะทุกโครงการพระราชดำริทั้งหมดเห็นได้ชัดว่า มีคุณค่าอย่างมากต่อสังคมโลกและเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ที่เกิดจาก 2 เรื่อง คือประชาชนมีวิถีการดำรงชีวิต อยู่ตามอัตภาพอย่างพอเพียง และในความพอเพียงยังสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานซื่อสัตย์จริงใจ
ถึงเวลาแล้วหรือยัง สำหรับคนไทยและ 19 คลัสเตอร์ 75 จังหวัด ควรเดินทางเข้าไปศึกษาเรียนรู้เพื่อนำต้นแบบ "ดอยตุง" มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มาพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างจริงจัง แทนการ ของบประมาณ หรือใช้ภาษีของประชาชน เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีวิถีชีวิต และสังคมคนละแบบกับไทย ต่อให้ทุ่มงบฯจนหมดตัว ก็ไม่อาจพลิกฟ้าสร้างแผ่นดินเกษตรกรรม เป็นทุนนิยมเช่นต่างชาติได้


เครดิต(CR) : บทสัมภาษณ์ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3805 (3005)
จากเว็บไซต์ :  http://www.nidambe11.net/ekonomiz/index2006p1.htm