วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์ช่วยโลกคลายร้อน

        าเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดโลกร้อน คือ การลดลงของก๊าซออกซิเจน และการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ชั้นบรรยากาศเสียไป แสงจากพระอาทิตย์สามารถส่องตรงมายังโลกได้มากขึ้น

        ในปัจจุบันก็ได้มีความตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมให้ใช้ถุงพลาสติกสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นการเสนอแนวความคิด ทางเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยโลกคลายร้อนได้ (อาจจะไม่ถูกใจประเทศที่พัฒนาแล้วเสียหน่อยนะ)

        ในทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ การผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง นอกจากต้นทุนที่ใช้ในการผลิต และสินค้าที่ผลิตได้แล้ว ยังมีต้นทุนที่นอกเหนือการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ตัวสินค้าอยู่อีก สำหรับต้นทุนที่ไม่ได้รวมอยู่ในกระบวนการผลิตนี้เรียกว่า ต้นทุนภายนอก (Externality Cost)

        ต้นทุนชนิดนี้จะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ เช่น การที่โรงงานอุตสาหกรรมมีผลกระทบการทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ การทำให้น้ำเสีย หรือแม้แต่มลพิษทางเสียง ซึงถ้าปล่อยไปตามกลไกของตลาดผู้ผลิตไม่คิดต้นทุนเหล่านี้เข้าไปก็จะทำให้ สินค้าอุตสาหกรรมถูกกว่าที่ควร และจึงทำให้มีการบริโภคที่มากเกินไป

        ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเข้ามาเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อให้ต้นทุนภายนอกนี้ได้กลายมาเป็นต้นทุนของผู้ผลิตในขณะนี้มีการตื่นตัว เรื่องนี้กันมาก โดยจะเห็นได้จากการที่มีการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และการบังคับและตรวจสอบให้โรงงานมีการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

        สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้พูดถึงกันมากนักคือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากกระบวนการผลิตที่ไม่ใช่ตัวสินค้า เพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้นผมขอแบ่งเป็น 2 ประเภทแล้วกัน ประเภทที่หนึ่ง คือ เป็นประเภทที่จับต้องได้ เรียกว่า By Product เช่น โรงสีข้าว นอกจากข้าวที่เป็นตัวสินค้า ยังมีแกลบ และรำ เป็น By Product ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทนี้สามารถมีตลาดได้จึงมีมูลค่า จึงไม่มีปัญหาใด ๆ

        แต่สำหรับประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่จับต้องไม่ได้ เช่น การปลูกพืชทำการเกษตร จะผลิตก๊าซออกซิเจนออกมาด้วยผมขอเรียกสินค้าประเภทนี้ว่าเป็น Positive Externality เนื่องจากว่าสินค้าประเภทนี้ไม่สามารถจับต้องได้ (ผู้ผลิตไม่สามารถนำมาขายได้) จึงไม่มีตลาดเลยไม่มีมูลค่าด้วย

        ดังนั้น การปล่อยให้สินค้าเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาดราคาของสินค้าเกษตรก็จะไม่สะท้อน สินค้าประเภทนี้ด้วยทำให้ผลตอบแทนต่อเกษตรกรต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงนำไปสู่การผลิตที่น้อยเกินควร ดังนั้นการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดนั้นจะส่งผลให้มีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่มากเกินไป การผลิตภาคเกษตรที่น้อยเกินไป นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

        จากหลักการที่กล่าวมาข้างต้น ผมจึงขอนำเสนอความคิดในการเก็บภาษีภาคอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนของ Externality Cost แล้วนำมาสนับสนุนภาคเกษตรในส่วนที่เป็น Positive Externality ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการศึกษา และคำนวณ Externality เหล่านี้ให้ถูกต้อง และไม่ควรทำกันเองในแต่ละประเทศ เพราะเนื่องจากบางประเทศที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก็ไม่จำเป็นต้องสนับสนุน เกษตรมากส่วนประเทศที่เป็นเกษตรกรรม ก็ไม่รู้จะนำเงินสนับสนุนมาจากไหน และเรื่องของโลกร้อนก็กระทบต่อคนทั้งโลก ดังนั้นหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ จึงต้องเข้ามาดูแล และรับผิดชอบ
 
ทันเศรษฐกิจ
•...วิศิษฏ์ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
www.econ.nida.ac.th

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2551

เศรษฐศาสตร์จุลภาคต่างจากมหภาคอย่างไร

             คำว่า "เศรษฐศาสตร์จุลภาค" (MICROECONOMICS) และ "เศรษฐศาสตร์มหภาค" (MACROECONOMICS) ถูกใช้บ่อยในปัจจุบัน จนเสมือนกับเป็นคำที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน สำหรับหลายท่านที่ไม่คุ้นเคย กับเรื่องเศรษฐศาสตร์ คงงงอยู่เหมือนกัน วันนี้จะเขียนถึงคำสองคำนี้ เพื่อพยายามให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

            ขอเริ่มที่ว่า หลายวิชานั้นศึกษาในหลายระดับ ตัวอย่างเช่น ชีววิทยา พวกที่ศึกษาส่วนประกอบ ของสารเคมี ซึ่งประกอบกันเป็นสิ่งมีชีวิต เราเรียกว่า MOLECULAR BIOLOGISTS   ส่วนพวกที่เรียกว่า CELLULAR BIOLOGISTS เป็นพวก ที่ศึกษาในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสารเคมีเหมือนกัน โดยตัวมันเองก็ประกอบกันเข้าเป็นสิ่งมีชีวิต ส่วนพวกที่เรียกว่า EVOLUTIONARY BIOLOGISTS นั้น ศึกษาสัตว์ และพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศึกษาการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของพืชพันธุ์ เหล่านี้ข้ามเวลา

            วิชาเศรษฐศาสตร์ ก็เช่นกัน มีกาศึกษาในหลายระดับ หากศึกษาในระดับย่อย เช่น ศึกษากระบวนการตัดสินใจของแต่ละคน และมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ศึกษาการจัดสรรทรัพยากร ( คำนี้ฟังดูใหญ่โต จริง ๆ แล้ว ก็คล้ายกับตัวอย่างหนึ่งที่ หากแบ่งที่ดิน ส่วนใหญ่ไว้ปลูกมะม่วง ก็จะเหลือที่ดินเพียงเล็กน้อยไว้ปลูกบ้าน คำถามก็คือ จะจัดสรรอย่างไร และศึกษาว่าราคาผลผลิต ถูกกำหนดราคามาได้อย่างไร ฯลฯ ก็คือการศึกษาในส่วนที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาค

              หากศึกษาในระดับรวม หรือระดับใหญ่ เช่นศึกษาการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ศึกษาการเกิดขึ้นของการว่างงาน ของระบบเศรษฐกิจ ศึกษาการเพิ่มสูงขึ้นของระดับราคาสินค้าโดยทั่วไป ( เงินเฟ้อ ) หรือศึกษาระบบเศรษฐกิจโลก ฯลฯ ก็คือ การศึกษาในส่วนที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์มหภาค

              การศึกษาจุลภาค และมหภาค ก็เปรียบเสมือนกับการศึกษาต้นไม้ (จุลภาค) กับการศึกษาป่า (มหภาค) หรืออุปมาว่า เครื่องมือของเศรษฐศาสตร์มหภาค ก็คือกล้องส่องทางไกล ในขณะที่เครื่องมือของเศรษฐศาสตร์จุลภาค ก็คือกล้องจุลทรรศน์

              ถ้าศึกษาเรื่องผลผลิตของหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง ก็คือเรื่องของเศรษฐศาสตร์จุลภาค อย่างไรก็ดี ถ้าเอาผลผลิตทั้งหมด ของทุกหน่วยผเศรษฐกิจในประเทศมารวมกัน ก็คือเรื่องของเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือถ้าศึกษาเรื่องราคาของผลผลิตในตลาดหนึ่ง ก็คือเศรษฐศาสตร์จุลภาค

             แต่ถ้าศึกษาราคาของสินค้าทั่วไป ( ซึ่งก็คือ การเอาราคาของสินค้าในตลาดต่าง ๆ ทั้งหมด มาพิจารณาร่วมกัน ก็คือ เศรษฐศาสตร์มหภาค

             เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ในระดับย่อย คือจุลภาคนั้น มีสามเป้าหมายหลัก ซึ่งได้แก่

(1)  ประสิทธิภาพ (EFFICIENCY)  

(2)ความเท่าเทียมกัน (EQUITY) 

(3) เสรีภาพ (FREEDOM)

               ในเรื่องที่ ( 1) เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ จะมีการสูญเปล่าของทรัพยากรน้อยที่สุด  และจะทำให้เกิดมาตรฐาน การครองชีพ ที่สูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แก่ผู้บริโภค

                เรื่อง (2) ก็คือ ช่องว่างที่ใหญ่ระหว่าง คนรวย และคนจน อาจทำให้คนส่วนใหญ่ ยิ่งยากจนลง และคนส่วนน้อยยิ่งรวยขึ้น

                และเรื่อง (3) ก็คือการที่ประชาชน มีทางเลือกอย่างกว้างขวางมากที่สุด

             ในสามเป้าหมายหลักนี้  EFFICIENCY เป็นเป้าหมายหลัก ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ในขณะที่ EQUITY  และ FREEDOM นั้นมีปัญหา โดยมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากเกี่ยวพันกับการใช้ความรู้สึกส่วนตัว มาตัดสินว่า อย่างไรจึงเรียกว่า เกิดความไม่เท่าเทียมกัน และอย่างไรจึงเรียกว่า ประชาชนมีทางเลือกอย่างกว้างขวาง

             ทั้งสามเป้าหมายหลักนี้เกี่ยวพันกับการ "ได้อย่าง เสียอย่าง (TRADE-OFF)" ทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น นโยบายที่เน้นประสิทธิภาพ อาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เช่นการให้สิทธิบัตรแก่คนคิดค้น วัคซีนโรคเอดส์ ก็คือนโยบายเน้นประสิทธิภาพ ( จะมีคนลงทุน แข่งขันกันคิดค้นวัคซีน) แต่ก็ไม่เท่าเทียมกัน เพราะเฉพาะคนมีเงิน จึงจะได้ วัคซีน แต่ถ้านับความเท่าเทียมกัน โดยไม่ให้สิทธิบัตร คือทุกคนจะได้วัคซีนฟรี อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องซื้อวัคซีน ก็จะยากที่จะเกิดขึ้นได้

               สำหรับเสรีถาพ กับประสิทธิภาพนั้น ก็ขัดแย้งกัน เช่น ถ้าให้เสรีภาพในการล้มละลายของบริษัท สถาบันการเงิน ก็จะลำบากขึ้น จนอาจเป็นอุปสรรค ต่อการกู้ยืมของคนอื่น ๆ และเกิดการผลิตของสังคมน้อยลงในที่สุด

               " การได้อย่าง เสียอย่าง " นี่แหละ ที่ทำให้ แต่ละสังคม ต้องออกกฎหมาย เพื่อควบคุม ดูแลให้เกิดความสมดุล ของสามเป้าหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้อง กับความต้องการของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ

                สำหรับระดับมหภาคนั้น มีสามเป้าหมายหลักซึ่งได้แก่ 

(1) การจ้างงานสูง (การว่างงานต่ำ)  

( 2)  ระดับราคาสินค้า มีเสถียรภาพ 

(3) การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ

               เป้าหมายในเรื่องการจ้างงานสูง เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้คนมีงานทำ มีการผลิต ไม่ปล่อยให้ เครื่องมือเครื่องจักร ถูกทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์  ส่วนเป้าหมายระดับราคาสินค้ามีเสถียรภาพนั้น ทำให้ผู้บริโภค มีความมั่นใจในอำนาจซื้อของตน สามารถวางแผนได้ว่าจจะบริโภคในปัจจุบัน หรือออมเพื่ออนาคต และเป้าหมายสุดท้าย คือเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตนั้น จะทำให้ประชาชนโดยรวมมีรายได้สูงขึ้น และลูกหลานมีความมั่นคงในฐานะมากกว่าตัวเขา

                หากบรรลุเป้าหมายข้างต้น ก็หมายถึงการมี "ความมั่นคง ในด้านเศรษฐกิจ (ECONOMIC SECURITY) ของบุคคลในระดับมหภาค เศรษฐศาสตร์จุลภาค และมหภาค ผูกโยงงกันอย่างใกล้ชิด การจะบรรลุซึ่งเป้าหมายหลัก ในระดับมหภาคได้นั้น ขึ้นอยู่กับการบรรลุเป้าหมายหลักในระดับจุลภาค และเช่นกัน ในทางกลับกัน ตัวอย่างเช่นการว่างงานอย่างหนัก ก็คืออาการของการขาดประสิทธิภาพ ในระดับจุลภาค

               กล่าวคือ เมื่อทรัพยากรในระดับจุลภาคถูกใช้งานอย่างขาดประสิทธิภาพ (มีแรงงานประเภท "เหมอมองนอกหน้าต่าง" จำนวนมาก ) ต้นทุนจึงสูง ขายสินค้าไม่ออก ไม่มีรายได้ ฯลฯ ถ้าเกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในชีวิต ก็ทำให้ขาดอำนาจซื้อโดยรวม ไม่มีใครผลิตสินค้ามาสนองาตอบ ซึ่งก็หมายถึง ทำให้เกิดการว่างงานในระดับมหภาคขึ้นนั่นเอง

                การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในระดับมหภาค จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการแก้ไขในระดับจุลภาคด้วย เช่นถ้าในระดับมหภาค ประเทศไม่มีเงินออมในประเทศอย่างทัดเทียมกับเงินที่สังคม ต้องการลงทุน ก็จำต้องกู้ยืมจากต่างประะทศอย่างไม่จบสิ้น  จนหนี้ต่างประเทศพอกพูน หากต้องการแก้ไข ความไม่สมดุลของเงินออม กับเงินลงทุน  ก็จำต้องแก้ไขที่ระดับจุลภาค โดยพยายามสร้างค่านิยมให้ประชาชนแต่ละคนมีความมัธยัสถ์  รู้จักใช้เงินจนมีเงินออมเพิ่มขึ้น   และเมื่อรวมเงินออมทั้งหมดเหล่านี้ เข้าด้วยกันแล้ว การออมในระดับมหภาคก็เป็นสองส่วน การออมในระดับ  มหภาคก็เกิดขึ้นได้อย่างทัดเทียนกับการลงทุนที่ต้องการ               

               ถึงแม้เศรษฐศาสตร์จุลภาค และมหภาค จะเชื่อมโยงถึงกันดังกล่าว แต่ทั้งสองก็เป็นสองส่วนวิชาเศรษฐกิจที่แยกขาดจากกัน เพราะต่างก็ตั้งถามทีแตกต่างกัน และบางครั้ง ก็มีแนวทางการศึกษา ที่แตกต่างกันอีกด้วย

 

โดยวีรกร  ตรีเศศ

มติชนสุดสัปดาห์  ฉบับ 18-24 มีนาคม 2545 ปีที่ 22 ฉบับที่ 1126 หน้า 20

 

บัญญัติ 10 ประการ ของวิชาเศรษฐศาสตร์


           คำว่า "เศรษฐกิจ" หรือ "Economy" มาจากคำศัพท์ภาษากรีก ที่แปลว่า "ผู้ดูแลจัดการครัวเรือน" หากพิจารณาเพียงผิวเผิน ต้นกำเนิดของศัพท์คำนี้อาจทำให้เราแปลกใจ แต่แท้จริงแล้ว ทั้งครัวเรือนและเศรษฐกิจต่างมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีจุดร่วมเหมือนกัน
         ครอบครัวต้องเผชิญการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าสมาชิกคนไหนจะต้องทำงานอะไร และสมาชิกแต่ละคนจะได้ผลตอบแทนอย่างไร ตัวอย่างเช่น ใครจะเป็นคนทำอาหารเย็น ใครเป็นคนซักผ้า ใครจะได้รับขนมหลังอาหารมื้อเย็นเป็นพิเศษ ใครเป็นคนเลือกว่าจะดูรายการโทรทัศน์อะไร สรุปสั้น ๆ ก็คือ ครอบครัวต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้แก่เหล่าสมาชิกในครอบครัว โดยคำนึงถึงความสามารถ ความตั้งใจ และความต้องการของสมาชิกแต่ละคน
สังคมก็เผชิญการตัดสินใจมากมายเช่นเดียวกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจะผลิตอะไรดีหรือใครจะเป็นผู้ผลิต สังคมต้องการคนปลูกพืชผักเป็นอาหาร บางคนต้องทำกิจการเสื้อผ้า บางคนต้องออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อสังคมจัดสรรสมาชิกในสังคมไปสู่กิจกรรมการผลิตต่าง ๆ แล้ว (เช่นเดียวกับที่สังคมต้องจัดสรรที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร) สังคมยังต้องจัดสรรสินค้าและบริการที่ผลิตได้นั้นด้วย โดยต้องตัดสินว่าใครจะเป็นคนได้กินปลาคาเวียร์ ใครจะเป็นคนได้กินมันฝรั่ง ใครจะได้เป็นคนขับรถ Porsche และใครจะได้นั่งรถเมล์
             การจัดสรรทรัพยากรของสังคมเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ความมีอยู่อย่างจำกัด(Scarcity) หมายถึง สังคมมีทรัพยากรน้อยกว่าที่คนในสังคมต้องการ เมื่อเป็นเช่นนั้น สังคมจึงไม่สามารถทำให้สมาชิกทุกคนได้รับมาตรฐานการครองชีพที่สูงที่สุดอย่างที่ทุกคนต้องการ เหมือนอย่างที่ครอบครัวไม่สามารถจัดหาทุกสิ่งที่สมาชิกทุกคนต้องการได้
             "เศรษฐศาสตร์" (Economics) เป็นวิชาที่ศึกษาเพื่อตอบคำถามว่า สังคมมีแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไร โดยทั่วไป สังคมส่วนใหญ่จัดสรรทรัพยากรผ่าน "ตลาด" ที่ประกอบด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากครอบครัวและบริษัทหลายล้านหน่วย ไม่ใช่การจัดสรรโดยการวางแผนจากส่วนกลาง นักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้ศึกษาว่าคนในสังคมมีแบบแผนการตัดสินใจอย่างไร เช่น ศึกษาว่าแต่ละคนจะทำงานแค่ไหน จะซื้ออะไร จะออมเงินเท่าไร และจะเลือกลงทุนอย่างไร เป็นต้น นอกจากนั้น นักเศรษฐศาสตร์ยังศึกษาด้วยว่าคนในสังคมมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ว่าราคาและปริมาณดุลยภาพที่ซื้อขายกันในตลาดถูกกำหนดขึ้นจากฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายอย่างไร ท้ายที่สุด นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์พลังและแนวโน้มต่าง ๆ ที่กระทบเศรษฐกิจในองค์รวม เช่น อัตราการเติบโตของรายได้ อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
แม้ว่าการศึกษาเศรษฐศาสตร์มีหลายด้านหลายแง่มุม แต่วิชาการเศรษฐศาสตร์ด้านต่าง ๆ ยังมีจุดร่วมกันทางความคิดหลายประการ ในส่วนต่อไป เราจะมาดูกันว่า "บัญญัติ 10 ประการของวิชาเศรษฐศาสตร์" มีอะไรบ้าง กฎต่าง ๆ เหล่านี้บอกให้เราทราบถึงภาพรวมของวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอะไร
แต่ละคนเลือกตัดสินใจกันอย่างไร
           ไม่มีอะไรลึกลับเกี่ยวกับความหมายของเศรษฐกิจไม่ว่าเราจะพูดถึงเศรษฐกิจของ Los Angeles ของสหรัฐอเมริกา หรือเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจคือ กลุ่มของคนที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในการดำเนินชีวิต เนื่องจากพฤติกรรมของเศรษฐกิจหนึ่งสะท้อนพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคนซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นเศรษฐกิจนั้น เราจึงควรเริ่มการศึกษาเศรษฐศาสตร์ด้วยการเรียนรู้บทบัญญัติ 4 ประการว่าด้วยกระบวนการตัดสินใจของสมาชิกแต่ละคน
บทบัญญัติที่ 1 : แต่ละคนเผชิญภาวะได้อย่าง-เสียอย่าง” (Tradeoffs) เสมอ
             บทเรียนแรกเกี่ยวกับการตัดสินใจของคนแต่ละคนในเศรษฐกิจคือโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีหรือ “There is no such thing as a free lunch.” การได้มาซึ่งของสิ่งหนึ่งที่เราชอบ เราต้องยอมสละของอีกสิ่งหนึ่งที่เราก็ชอบด้วยเหมือนกัน การตัดสินใจจึงเป็นการแลกกันระหว่างเป้าหมายหนึ่งกับอีกเป้าหมายหนึ่ง ตัวอย่างเช่น นักเรียนต้องเลือกจัดสรรเวลาซึ่งถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด นักเรียนคนหนึ่งอาจใช้เวลาทั้งหมดศึกษาเศรษฐศาสตร์ หรือใช้เวลาทั้งหมดศึกษาจิตวิทยา หรืออาจแบ่งเวลาศึกษาทั้งสองสาขาควบคู่กัน ทุก ๆ หนึ่งชั่วโมงที่นักศึกษาคนนั้นเลือกศึกษาวิชาหนึ่ง เขาก็เสียหนึ่งชั่วโมงนั้นสำหรับการศึกษาวิชาอื่น นอกจากนั้น หนึ่งชั่วโมงที่เขาเลือกใช้อ่านหนังสือ เขาก็เสียโอกาสที่จะใช้เวลาชั่วโมงนั้นนอนหลับ ขี่จักรยาน ดูโทรทัศน์ หรือทำงานอิสระเพื่อหารายได้พิเศษหรือกรณีผู้ปกครองตัดสินใจว่าจะใช้จ่ายรายได้ของครอบครัวอย่างไร เขาอาจเลือกซื้ออาหาร เสื้อผ้า หรือพาครอบครัวไปพักผ่อน หรืออาจเก็บรายได้บางส่วนไว้เผื่อใช้จ่ายหลังเกษียณหรือเป็นค่าเล่าเรียนลูก เมื่อใช้เงินเพิ่มขึ้นหนึ่งดอลลาร์ไปในกิจกรรมเหล่านี้ เขาก็เหลือเงินไปใช้ในกิจกรรมอื่นน้อยลงหนึ่งดอลลาร์เมื่อคนรวมตัวกันเป็นสังคม เขาต้องเผชิญภาวะได้อย่าง-เสียอย่างหลากหลายรูปแบบ กรณีคลาสสิกสำหรับเรื่องนี้คือการแลกกันระหว่างปืนกับเนย” (Guns and Butter) ถ้าเราใช้เงินจำนวนมากซื้ออาวุธเพื่อปกป้องตัวเองจากการรุกราน(ปืน) เราก็เหลือเงินน้อยลงสำหรับซื้อสินค้าใช้บริโภคส่วนตัวเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพ(เนย) ในสังคมยุคใหม่ก็มีภาวะได้อย่าง-เสียอย่างระหว่างสิ่งแวดล้อมที่สะอาดกับรายได้สูง ๆ ของประเทศ กฎหมายบัญญัติให้บริษัทต้องลดระดับการปล่อยมลพิษ แต่นั่นนำมาซึ่งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เมื่อต้นทุนสูงขึ้น บริษัทก็อาจได้กำไรน้อยลง ทำให้ต้องลดค่าจ้างแรงงาน ขายสินค้าราคาแพงขึ้น หรือเลือกทุกหนทางข้างต้น ดังนั้นแม้การควบคุมมลพิษทำให้สังคมได้ประโยชน์จากการมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น พัฒนาสุขภาพของสังคม แต่ก็ต้องแลกด้วยต้นทุน ซึ่งก็คือ รายได้ที่ลดลงของเจ้าของบริษัท ค่าจ้างที่ลดลงของคนงาน และราคาสินค้าที่สูงขึ้นซึ่งผู้บริโภคต้องรับภาระอีกตัวอย่างหนึ่งของภาวะได้อย่าง-เสียอย่างที่สังคมเผชิญคือ การแลกกันระหว่างประสิทธิภาพ” (Efficiency) และความยุติธรรม” (Equity) “ประสิทธิภาพหมายถึง การที่สังคมได้รับประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ส่วนความยุติธรรมหมายถึง การที่ประโยชน์ที่ได้จากทรัพยากรที่มีจำกัดเหล่านั้นถูกจัดสรรอย่างเท่าเทียมระหว่างเหล่าสมาชิกในสังคม หากพูดง่าย ๆ ประสิทธิภาพ หมายถึง ขนาดของขนมเค้ก ส่วนความยุติธรรม หมายถึง ขนมเค้กถูกแบ่งเป็นส่วน ๆ ให้แต่ละคนอย่างไร บ่อยครั้ง การออกแบบนโยบายของรัฐบาลทำให้เป้าหมายทั้งสองมีความขัดแย้งซึ่งกันและกันตัวอย่างเช่น นโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อการกระจายความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม เช่น ระบบสวัสดิการสังคม การช่วยเหลือผู้ว่างงาน เป็นความพยายามที่จะช่วยสมาชิกในสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด หรือนโยบายอื่น ๆ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีส่วนในการส่งเสริมนโยบายด้านความเป็นธรรมของรัฐบาลโดยเรียกร้องให้ผู้ที่ร่ำรวยเสียสละให้รัฐบาลมากกว่าคนอื่น ๆ แม้ว่านโยบายเหล่านี้จะสร้างประโยชน์ด้านความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม แต่สังคมก็ต้องจ่ายต้นทุนในรูปของประสิทธิภาพของสังคมที่ลดลง เมื่อรัฐบาลจัดสรรการกระจายรายได้ใหม่จากคนรวยสู่คนจน เป็นการลดแรงจูงใจในการทำงานหนัก ทำให้ประชาชนเลือกที่จะทำงานน้อยลง ผลิตสินค้าและบริการน้อยลง พูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า เมื่อรัฐบาลพยายามจะตัดแบ่งเค้กให้มีขนาดเท่า ๆ กัน เค้กทั้งชิ้นจะมีขนาดเล็กลง
การที่คนเผชิญภาวะได้อย่าง-เสียอย่างไม่ได้บอกเราว่าควรจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำกิจกรรมอะไร นักเรียนไม่ควรเลิกอ่านหนังสือวิชาจิตวิทยาเพียงเพราะการทำเช่นนั้นจะช่วยเพิ่มเวลาในการศึกษาเศรษฐศาสตร์ สังคมไม่ควรหยุดมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเพราะการควบคุมมลพิษเป็นการลดมาตรฐานการดำรงชีวิตด้านวัตถุ รัฐบาลไม่ควรหยุดใส่ใจคนยากจนเพียงเพราะการช่วยเหลือคนจนเป็นการบิดเบือนโครงสร้างสิ่งจูงใจในการทำงาน กระนั้น การตระหนักรู้ในภาวะได้อย่าง-เสียอย่างก็มีความสำคัญเพราะคนสามารถมีการตัดสินใจที่ดีก็ต่อเมื่อทราบถึงทางเลือกต่าง ๆ ที่เขามีอยู่
บทบัญญัติที่ 2 : ต้นทุนของสิ่งหนึ่งคือสิ่งที่คุณยอมเสียไปเพื่อให้ได้ของสิ่งนั้นมา
            เพราะคนเผชิญภาวะได้อย่าง-เสียอย่างการตัดสินใจจะทำกิจกรรมใดจึงต้องเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนและผลประโยชน์ของกิจกรรมนั้นกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือก ในหลายกรณี ต้นทุนของบางกิจกรรมอาจไม่ชัดเจนอย่างที่เราคิดไว้แต่แรกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือไม่ การเรียนต่อมีประโยชน์คือได้ความรู้เพิ่มขึ้นและมีโอกาสได้งานที่ดีขึ้นในอนาคต แล้วด้านต้นทุนละ? คุณอาจตอบว่าต้องคำนวณค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่าห้องพักและอาหาร แต่ต้นทุนเหล่านี้ก็ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดที่คุณยอมสละเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีกหนึ่งปี
ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นจากคำตอบข้างต้นคือเราได้รวมต้นทุนบางอย่างที่ไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริงในการเรียนมหาวิทยาลัยเข้าไว้ด้วย แม้คุณจะเลิกเรียน คุณก็ยังต้องจ่ายค่าที่พักและค่าอาหารอยู่ดี ค่าห้องพักและอาหารเป็นต้นทุนในการเรียนต่อก็แต่ในกรณีที่คุณเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีราคาค่าห้องพักและอาหารแพงกว่าที่อื่น ๆ ทั่วไป มิหนำซ้ำค่าห้องและค่าอาหารเมื่อเรียนต่ออาจถูกกว่าค่าห้องและค่าอาหารหากคุณใช้ชีวิตตามปกติโดยไม่ได้เรียนต่อก็เป็นได้ สำหรับกรณีเช่นนี้ การประหยัดค่าห้องและค่าอาหารถือเป็นประโยชน์ที่ได้จากการเรียนต่อมหาวิทยาลัย
ปัญหาที่สองของการคำนวณต้นทุนข้างต้นก็คือ การละเลยต้นทุนที่ใหญ่ที่สุดในการเรียนต่อมหาวิทยาลัย นั่นคือเวลาเมื่อคุณใช้เวลาอีกหนึ่งปีในการเข้าฟังบรรยาย อ่านตำราเรียน เขียนรายงาน คุณก็ไม่สามารถใช้เวลานั้นทำงานได้ สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ เงินเดือนทั้งหมดที่พวกเขาไม่ได้รับระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยก็คือต้นทุนหลักที่สำคัญในการศึกษาต่อนั่นเองต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ของสิ่งหนึ่งคือ สิ่งที่คุณยอมสละไปเพื่อให้ได้มาซึ่งของสิ่งนั้น การตัดสินใจทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรียนต่อหรือไม่ ผู้ตัดสินใจควรคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น นักกีฬาที่อาจทำเงินได้เป็นล้าน ๆ หากออกจากโรงเรียนไปเป็นนักกีฬาอาชีพจะตระหนักดีว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสในการเรียนต่อของเขาสูงมาก และไม่น่าแปลกใจที่เขาเหล่านั้นเลือกออกจากโรงเรียน เนื่องจาก ประโยชน์ที่ได้จากการเรียนน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น
บทบัญญัติที่ 3 : คนที่มีเหตุมีผลคิดแบบเพิ่มทีละหน่วย” (Margin)
          การตัดสินใจหลาย ๆ ครั้งในชีวิตเป็นการตัดสินใจบนสิ่งที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่มีอยู่เดิม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบเพิ่มทีละหน่วย หรือ “Marginal Changes” ในหลายเหตุการณ์ คนตัดสินใจได้ดีที่สุด โดยคิดแบบเพิ่มทีละหน่วย สมมติว่า มีเพื่อนขอคำแนะนำจากคุณว่าเขาจะเรียนต่ออีกกี่ปีดี ถ้าคุณยกตัวอย่างเปรียบเทียบการตัดสินใจระหว่างคนที่จบปริญญาเอก กับคนที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน การเปรียบเทียบดังกล่าวอาจไม่ช่วยการตัดสินใจของเพื่อนคุณ ถ้าเพื่อนคุณมีการศึกษาสูงพอสมควรแล้วและกำลังตัดสินใจว่าจะเรียนเพิ่มอีกสัก 1-2 ปีดีไหม การตัดสินใจดังกล่าวต้องคำนึงถึงประโยชน์และต้นทุน "ที่เพิ่มขึ้น" จากการเรียนในปีสองปีนั้น ทั้งนี้โดยเปรียบเทียบประโยชน์ส่วนเพิ่มและต้นทุนส่วนเพิ่มดังกล่าว เพื่อจะบอกได้ว่าคุ้มหรือไม่กับการเรียนต่ออีก 1-2 ปี ตัวอย่างอื่นที่แสดงว่าการคิดแบบส่วนเพิ่มช่วยในการตัดสินใจอย่างไร เช่น การคิดค่าโดยสารสำหรับผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วที่นั่งสำรอง สมมติ ต้นทุนในการบินของเครื่องบินขนาด 200 ที่นั่ง มีราคา 100,000 ดอลลาร์ นั่นหมายถึง ต้นทุนเฉลี่ยต่อหนึ่งที่นั่งคือ 100,000/200 ซึ่งเท่ากับ 500 ดอลลาร์ บางคนอาจจะคิดว่าบริษัทไม่ควรขายตั๋วในราคาต่ำกว่า 500 ดอลลาร์ สายการบินอาจทำกำไรเพิ่มขึ้นได้ด้วยการคิดแบบเพิ่มทีละหน่วย สมมติ เครื่องบินกำลังจะขึ้นแต่ยังเหลือที่นั่งว่างอีก 10 ที่ หากผู้โดยสารที่ยังไม่มีตั๋วแต่รอเผื่อที่นั่งว่างยินดีจ่ายค่าตั๋วแค่ 300 ดอลลาร์ต่อที่นั่ง สายการบินควรจะขายให้เขาหรือไม่ ? แน่นอนว่าควรขายให้ ถ้าเครื่องบินมีที่นั่งว่าง ต้นทุนของการมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนมีเพียงน้อยนิด แม้ว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อผู้โดยสารหนึ่งคนคือ 500 ดอลลาร์ แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการมีผู้โดยสารหนึ่งคนคือถั่วแค่หนึ่งถุงและโซดาอีกหนึ่งกระป๋องที่ผู้โดยสารคนนั้นจะบริโภคเท่านั้น ตราบเท่าที่ผู้โดยสารยินดีจ่ายมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แม้จะไม่มากเท่าต้นทุนเฉลี่ย แต่การขายตั๋วก็ยังคงคุ้มค่า อย่างที่ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าคนแต่ละคนและบริษัทสามารถตัดสินใจได้ดีกว่า หากคิดแบบเพิ่มทีละหน่วยผู้ตัดสินใจที่มีเหตุมีผลจะเลือกทำสิ่งใดก็ขึ้นกับว่าประโยชน์ส่วนเพิ่มจากกิจกรรมนั้นมากกว่าต้นทุนส่วนเพิ่มหรือไม่
บทบัญญัติที่ 4 : คนตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ
           เนื่องจากคนตัดสินใจโดยเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์ ดังนั้น พฤติกรรมของคนจึงเปลี่ยนเมื่อโครงสร้างต้นทุนและผลประโยชน์เปลี่ยนไป นั่นคือ คนตอบสนองต่อสิ่งจูงใจ นั่นเอง เมื่อราคาแอปเปิลสูงขึ้น คนก็ตัดสินใจซื้อลูกแพร์มากขึ้น ซื้อแอปเปิลน้อยลง เพราะต้นทุนในการได้มาซึ่งแอปเปิลสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ชาวสวนแอปเปิลตัดสินใจจ้างคนงานมากขึ้น และปลูกแอปเปิลมากขึ้น เนื่องจาก ผลประโยชน์จากการขายแอปเปิลสูงขึ้น
บทบาทหลักของสิ่งจูงใจในการกำหนดพฤติกรรมมีความสำคัญสำหรับการออกแบบนโยบายของรัฐ(Public Policy) นโยบายของรัฐมักเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้นทุนและผลประโยชน์ของกิจกรรมภาคเอกชน เมื่อผู้กำหนดนโยบายล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แสดงว่านโยบายรัฐอาจก่อให้เกิดผลที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น
ตัวอย่างของผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายว่าด้วยเข็มขัดนิรภัยและระบบป้องกันความปลอดภัยรถยนต์ ในทศวรรษ 1950 รถที่มีเข็มขัดนิรภัยมีจำนวนน้อย ต่างจากในปัจจุบันที่รถทุกคันล้วนมีเข็มขัดนิรภัย เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงก็เพราะ "นโยบายของรัฐ" นั่นเอง ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 หนังสือของ Ralph Nader ที่ชื่อ “Unsafe at Any Speed” ก่อให้เกิดกระแสเกี่ยวกับความปลอดภัยของรถยนต์ รัฐสภาสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องสร้างอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย ซึ่งหมายถึงรถทุกคันต้องมีอุปกรณ์มาตรฐานอย่างเข็มขัดนิรภัยด้วย
กฎหมายเข็มขัดนิรภัยกระทบความปลอดภัยของรถยนต์อย่างไร ? ผลทางตรงในเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ถ้ามีเข็มขัดนิรภัยในรถทุกคัน คนก็คาดเข็มขัดนิรภัยกันมากขึ้น และโอกาสที่จะรอดจากอุบัติเหตุรถยนต์ก็มีมากขึ้น ในแง่นี้ เข็มขัดนิรภัยช่วยรักษาชีวิต ผลดีทางตรงด้านความปลอดภัยนี้จูงใจให้รัฐสภาออกกฎหมายดังกล่าวแต่การทำความเข้าใจผลทั้งหมดของกฎหมายต้องตระหนักว่า คนเปลี่ยนพฤติกรรมโดยตอบสนองสิ่งจูงใจที่เขาเผชิญอยู่ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้คือการขับรถเร็วและความระมัดระวังในการขับรถ การขับรถช้าและระมัดระวังมีต้นทุนเพราะสิ้นเปลืองเวลาและพลังงาน เมื่อผู้ขับขี่ที่มีเหตุมีผลตัดสินใจว่าจะขับรถอย่างปลอดภัยเพียงใด ก็จะเปรียบเทียบผลประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการขับรถอย่างปลอดภัยกับต้นทุนส่วนเพิ่ม เขาจะขับรถช้าและระมัดระวังเมื่อผลประโยชน์จากการเพิ่มความปลอดภัยสูงกว่า นี่เป็นการอธิบายว่าทำไมคนถึงขับรถช้าและระมัดระวังขณะถนนลื่นมากกว่าสภาพถนนปกติ
             หากเราพิจารณาว่าการออกกฎหมายให้คาดเข็มขัดนิรภัยเปลี่ยนแปลงการคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ของผู้ขับขี่ที่มีเหตุมีผลอย่างไร ? พบว่าเข็มขัดนิรภัยทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่าอุบัติเหตุมีต้นทุนต่ำลงเพราะการคาดเข็มขัดนิรภัยช่วยลดความน่าจะเป็นในการบาดเจ็บและล้มตาย ดังนั้น เข็มขัดนิรภัยลดผลประโยชน์จากการขับรถช้าและระมัดระวังลง ผู้ขับขี่ก็ตอบสนองต่อการใช้เข็มขัดนิรภัยโดยขับรถเร็วขึ้นและลดความระมัดระวังในการขับขี่ลง ผลสุดท้าย กฎหมายเข็มขัดนิรภัยทำให้จำนวนอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น แล้วกฎหมายกระทบจำนวนคนตายจากการขับขี่อย่างไร ? ผู้ขับขี่ที่คาดเข็มขัดนิรภัยอาจมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นจากอุบัติเหตุแต่ละครั้ง แต่โอกาสเกิดอุบัติเหตุอาจเพิ่มจำนวนมากครั้งขึ้น จำนวนคนตายสุทธิในประเด็นนี้ยังไม่ชัดเจน ยิ่งกว่านั้น การที่ผู้ขับขี่เลือกลดความระมัดระวังในการขับขี่ลงส่งผลกระทบทางลบต่อคนเดินถนน(และผู้ขับขี่ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย) เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุของคนเหล่านี้สูงขึ้นและไม่ได้รับการป้องกันจากเข็มขัดนิรภัย ดังนั้น กฎหมายว่าด้วยเข็มขัดนิรภัยมีแนวโน้มทำให้จำนวนการตายของคนเดินถนนเพิ่มสูงขึ้น
ในช่วงแรก การถกเถียงเกี่ยวกับสิ่งจูงใจและเข็มขัดนิรภัยเหมือนเป็นเพียงการคาดการณ์ไปเอง กระทั่ง Sam Peltzman เขียนบทความวิชาการตีพิมพ์ในปี 1975 ชี้ว่า กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการขับขี่ส่งผลหลายด้าน จากหลักฐานพบว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้จำนวนคนตายต่ออุบัติเหตุหนึ่งครั้งลดลง ขณะที่จำนวนครั้งของอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น เมื่อคิดสุทธิแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตจากการขับขี่เปลี่ยนแปลงเพียงนิดเดียว ส่วนจำนวนคนเดินถนนที่เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
การวิเคราะห์ของ Peltzman เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นการตอบสนองต่อสิ่งจูงใจของมนุษย์ สิ่งจูงใจหลายสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ศึกษามีความชัดเจนและง่ายที่จะเข้าใจมากกว่ากรณีเข็มขัดนิรภัย ตัวอย่างเช่น ไม่มีใครแปลกใจว่า การเก็บภาษีแอปเปิลทำให้คนซื้อแอปเปิลน้อยลง เหมือนกับที่เข็มขัดนิรภัยแสดงให้เห็นว่า บางครั้งนโยบายก็ไม่ได้ส่งผลอย่างชัดเจน การวิเคราะห์นโยบายแต่ละนโยบายต้องพิจารณาทั้งผลทางตรงและผลทางอ้อมที่เกิดขึ้นผ่านสิ่งจูงใจ นโยบายเปลี่ยนแปลงสิ่งจูงใจและสิ่งจูงใจที่เปลี่ยนแปลงเป็นสาเหตุให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม
แต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร ? 

บทบัญญัติ 4 ประการแรกทำให้เราเข้าใจว่าคนแต่ละคนมีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร 
    แต่ในการดำเนินชีวิต การตัดสินใจของเราไม่ได้กระทบตัวเราเองเท่านั้น หากยังส่งผลต่อคนอื่น ๆ อีกด้วย บทบัญญัติอีก 3 ประการต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับตัวละครในตลาดว่ามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร
บทบัญญัติที่ 5 : การค้าทำให้ทุกฝ่ายดีขึ้น
     คุณคงเคยได้ยินข่าวว่าญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐอเมริกาในโลกเศรษฐกิจ มองด้านหนึ่งคำกล่าวนั้นก็เป็นจริงเพราะญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาผลิตสินค้าชนิดเดียวกันหลายชนิด ฟอร์ดกับโตโยต้าแข่งกันในตลาดรถยนต์ คอมแพ็คและโตชิบาแข่งกันในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลข้อมูลเหล่านั้นทำให้เราเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ เกี่ยวกับการแข่งขันกันระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาไม่เหมือนการแข่งขันกีฬาที่มีฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ จริง ๆ แล้ว ผลของการค้ากลับเป็นตรงกันข้าม เพราะการค้าทำให้ประเทศทั้งสองมีสวัสดิการที่ดีขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ลองพิจารณาว่าการค้าขายกระทบครอบครัวของคุณอย่างไร เมื่อสมาชิกในครอบครัวของคุณกำลังหางาน เขาอาจแข่งขันกับกับสมาชิกในครอบครัวอื่นที่กำลังหางานเช่นกัน ครอบครัวแต่ละครอบครัวต่างแข่งขันกันเวลาซื้อข้าวของ แต่ละครอบครัวต่างต้องการซื้อสินค้าที่ดีที่สุดในราคาต่ำที่สุด ในแง่นี้สะท้อนว่าแต่ละครอบครัวในเศรษฐกิจต่างแข่งขันซึ่งกันและกัน หากครอบครัวของคุณแยกตัวไปอยู่โดดเดี่ยวจากครอบครัวอื่น ๆ ไม่ได้หมายความว่าสวัสดิการของครอบครัวของคุณจะดีขึ้น เพราะครอบครัวของคุณต้องปลูกพืชผักเอง ทำเสื้อผ้าเอง และสร้างบ้านเอง พูดให้ชัดเจนขึ้น ครอบครัวของคุณจะมีสวัสดิการที่ดีขึ้นหากใช้ความสามารถที่ตนมีในการแลกเปลี่ยนกับครอบครัวอื่น การค้าทำให้แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในกิจกรรมที่เขาทำได้ดีที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นการทำนา เย็บปักถักร้อย หรือการสร้างบ้าน เราสามารถซื้อสินค้าได้หลากหลายชนิดขึ้น ในราคาที่ต่ำลง จากการค้าขายระหว่างกัน
ประเทศก็เหมือนเช่นครอบครัว ที่ได้รับประโยชน์จากความสามารถในการค้ากับประเทศอื่น ๆ การค้าระหว่างประเทศทำให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าเฉพาะที่ตนทำได้ดีที่สุดและสามารถบริโภคสินค้าที่หลากหลายชนิดขึ้น ประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับฝรั่งเศส อียิปต์ หรือบราซิล ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าในโลกเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามากกว่าจะถือเป็นคู่แข่ง
บทบัญญัติที่ 6 : "ตลาด" เป็นเครื่องมือที่ดีในการจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
          การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของโลกในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศคอมมิวนิสต์ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยถือว่าผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลกลางเป็นผู้อยู่ในฐานะที่ดีที่สุดในการชี้ทิศทางของกิจกรรมเศรษฐกิจ ผู้กำหนดนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ผลิตเท่าไร และใครจะเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมา ทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังการวางแผนจากส่วนกลางคือความคิดที่ว่า รัฐบาลเท่านั้นที่มีความสามารถบริหารจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของประเทศได้ ปัจจุบัน ประเทศที่เคยใช้ระบบการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางได้ละตัวเองจากระบบดังกล่าวและพยายามพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ใน "เศรษฐกิจแบบตลาด" (Market Economy) การตัดสินใจจากผู้กำหนดนโยบายส่วนกลางถูกแทนที่ด้วยการตัดสินใจโดยหน่วยเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและบริษัทนับล้าน ๆ หน่วย บริษัทเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการจ้างงานและการผลิต ครัวเรือนตัดสินใจในการเลือกทำงานและเลือกซื้อสินค้าภายใต้รายได้ที่จำกัด ครัวเรือนและบริษัทเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์กันในตลาดซึ่งมีราคาและผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ หากเรามองอย่างผิวเผิน ความสำเร็จของระบบตลาดเป็นเรื่องน่าพิศวงงงงวย ดูเหมือนว่าการกระจายการตัดสินใจของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจนับล้าน ๆ หน่วยที่ยึดถือผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งน่าจะนำมาซึ่งภาวะไร้ระเบียบแต่สำหรับกรณีระบบตลาดไม่เป็นเช่นนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจ ในหนังสือ “The Wealth of Nations” ของ Adam Smith ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1776 ได้อธิบายประโยคทองทางเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า ครัวเรือนและบริษัทต่างมีปฏิสัมพันธ์กันในตลาดโดยได้รับการผลักดันจากมือที่มองไม่เห็น” (Invisible Hand) ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แต่ละฝ่ายต่างพึงพอใจ วิชาเศรษฐศาสตร์พยายามทำความเข้าใจว่ามือที่มองไม่เห็นทำงานได้อย่างน่ามหัศจรรย์เช่นนี้ได้อย่างไร เมื่อเรียนเศรษฐศาสตร์ คุณจะได้เรียนรู้เสมอว่าราคาเป็นเครื่องมือที่มือที่มองไม่เห็นใช้กำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ราคาเป็นเครื่องสะท้อนมูลค่าของสินค้านั้นต่อสังคมและยังสะท้อนต้นทุนของสังคมในการสร้างสินค้านั้นขึ้น ครัวเรือนและบริษัทต่างพิจารณาราคาในการตัดสินใจซื้อและขายสินค้า โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมและต้นทุนของสังคมส่วนรวมจากกิจกรรมที่ตนกระทำ ดังนั้น ราคาเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจของแต่ละคน แต่ท้ายที่สุดก็ยังนำไปสู่สวัสดิการที่ดีที่สุดของสังคมส่วนรวม
มีข้อพิสูจน์ที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถของมือที่มองไม่เห็นในการเป็นผู้กำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคาไม่ให้ปรับตัวตามปริมาณความต้องการและปริมาณผลผลิตโดยธรรมชาติถือเป็นการลดความสามารถในการประสานหน่วยเศรษฐกิจนับล้านหน่วยเข้าด้วยกันเป็นเศรษฐกิจ ผลที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าวอธิบายว่าทำไมภาษีจึงมีผลกระทบด้านกลับต่อการจัดสรรทรัพยากร เพราะภาษีบิดเบือนกลไกราคาและการตัดสินใจของหน่วยเศรษฐกิจ นอกจากนั้น นโยบายรัฐบาลเช่นการควบคุมราคาโดยตรง เช่น นโยบายควบคุมค่าเช่าอาจนำมาซึ่งผลเสียที่ยิ่งใหญ่กว่า และนี่เป็นการอธิบายความล้มเหลวของระบบคอมมิวนิสต์ด้วย ในประเทศคอมมิวนิสต์ ราคาไม่ได้ถูกกำหนดจากตลาดแต่ได้รับการชี้นำจากผู้กำหนดนโยบายส่วนกลาง ผู้กำหนดนโยบายเหล่านี้ขาดข้อมูลซึ่งโดยปกติจะสะท้อนอยู่ในราคาหากปล่อยให้มันตอบสนองพลังของตลาดอย่างเต็มที่ ผู้วางแผนจากส่วนกลางล้มเหลวเพราะพยายามจัดการระบบเศรษฐกิจด้วยการมัดมือข้างหนึ่งไว้ด้านหลัง - มือที่มองไม่เห็น
บทบัญญัติที่ 7 : รัฐบาลสามารถปรับปรุงความล้มเหลวของตลาดได้
              แม้ตลาดเป็นทางที่ดีในการบริหารจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่กฎข้อนี้ยังมีข้อยกเว้น มีเหตุผลกว้าง ๆ 2 ประการที่รัฐบาลควรเข้าแทรกแซงระบบตลาด นั่นคือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรม เป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจส่วนมาก หากไม่เป็นไปเพื่อทำให้เค้กเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นก็เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการแบ่งเค้ก
มือที่มองไม่เห็นนำระบบตลาดสู่การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ กระนั้น ด้วยเหตุผลหลายประการ มือที่มองไม่เห็นบางครั้งก็ไม่สามารถทำงานได้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์เช่นนั้นว่าความล้มเหลวของตลาด” (Market Failure) ซึ่งหมายถึง สถานการณ์ที่ตลาดล้มเหลวโดยตัวของมันเองในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความล้มเหลวของระบบตลาดคือผลกระทบภายนอก” (Externality) ผลกระทบภายนอก หมายถึง ผลกระทบจากการกระทำของคนหนึ่งที่ส่งผลต่อสวัสดิการของอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างคลาสสิกในเรื่องนี้คือ กรณีมลพิษ ถ้าโรงงานเคมีไม่ได้แบกรับต้นทุนทั้งหมดในการปล่อยควันพิษสู่อากาศ โรงงานนั้นก็จะปล่อยควันพิษออกมามากจนเกินไป ในกรณีนี้ รัฐบาลสามารถเพิ่มสวัสดิการให้แก่ระบบเศรษฐกิจด้วยมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม สาเหตุของความล้มเหลวของตลาดอีกประการหนึ่งคืออำนาจกำหนดตลาด” (Market Power) อำนาจกำหนดตลาด หมายถึง ความสามารถของคน ๆ หนึ่ง (หรือกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง) ในการมีอิทธิพลกำหนดราคาตลาดอย่างมาก ตัวอย่างเช่น สมมติ ทุกคนในเมืองต้องการน้ำแต่มีบ่อน้ำในเมืองเพียงบ่อเดียว ถือว่าเจ้าของบ่อน้ำมีอำนาจเหนือตลาด ในกรณีนี้ถือว่าเจ้าของบ่อน้ำมีอำนาจผูกขาด (Monopoly Power) ในการขายน้ำ เจ้าของบ่อน้ำไม่ต้องเผชิญการแข่งขันซึ่งโดยปกติมือที่มองไม่เห็นจะคอยถ่วงดุลผลประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคนไว้ ในกรณีนี้ การควบคุมราคาที่ถูกกำหนดมาจากผู้ผูกขาดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น มือที่มองไม่เห็นไม่ได้รับประกันว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ระบบตลาดให้รางวัลกับสมาชิกตามความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่คนอื่น ๆ ต้องการ นักบาสเก็ตบอลที่ดีที่สุดในโลกได้ค่าจ้างมากกว่านักเล่นหมากรุกที่ดีที่สุดในโลกเพราะว่า สมาชิกในสังคมยินดีจ่ายค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันบาสเก็ตบอลมากกว่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันหมากรุก มือที่มองไม่เห็นไม่ได้รับประกันว่าทุกคนจะได้รับอาหาร เสื้อผ้า และบริการสุขภาพอย่างเพียงพอ เป้าหมายของนโยบายสาธารณะหลายนโยบาย เช่น ภาษีเงินได้และระบบสวัสดิการ เป็นไปเพื่อกระจายความกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจให้เท่าเทียมกันมากขึ้น
การกล่าวว่ารัฐบาลสามารถปรับปรุงผลพวงของระบบตลาดได้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป นโยบายของรัฐไม่ได้ถูกกำหนดจากเทวดา แต่ถูกกำหนดจากกระบวนการทางการเมืองที่ห่างไกลจากภาวะสมบูรณ์แบบ บางครั้ง นโยบายถูกออกแบบอย่างง่าย ๆ เพื่อตอบแทนอำนาจทางการเมือง บางครั้ง นโยบายถูกกำหนดจากผู้นำที่ตั้งใจดีแต่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เป้าหมายหนึ่งของการศึกษาเศรษฐศาสตร์คือช่วยให้คุณแยกแยะได้ว่านโยบายใดถูกกำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือความเป็นธรรม และนโยบายใดไม่ได้ยึดหลักเช่นนั้น
เศรษฐกิจมีกลไกการทำงานอย่างไร
เราเริ่มต้นด้วยการศึกษาว่าแต่ละคนมีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร จากนั้น เราศึกษาว่าแต่ละหน่วยเศรษฐกิจในเศรษฐกิจมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร การตัดสินใจของแต่ละคนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันร่วมกันสร้างเศรษฐกิจขึ้น บทบัญญัติอีก 3 ประการที่เหลือล้วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของเศรษฐกิจในองค์รวม
บทบัญญัติที่ 8 : มาตรฐานการครองชีพของประเทศขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ
             ความแตกต่างของมาตรฐานการครองชีพทั่วโลกเป็นไปอย่างน่าเป็นห่วง ในปี 1993 ชาวอเมริกันโดยทั่วไปมีรายได้ประมาณ 25,000 ดอลลาร์ ขณะที่ชาวเม็กซิโกมีรายได้ประมาณ 7,000 ดอลลาร์ ส่วนไนจีเรียประมาณ 1,500 ดอลลาร์ ความแตกต่างของรายได้เฉลี่ยอย่างสูงนี้สะท้อนผ่านดัชนีวัดคุณภาพชีวิตหลายดัชนี ประชากรของประเทศที่มีรายได้สูงมีโทรทัศน์หลายเครื่องกว่า มีรถยนต์มากคันกว่า มีอาหารการกินดีกว่า มีบริการสุขภาพที่ดีกว่า และมีอายุขัยสูงกว่าคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า
การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการครองชีพเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในสหรัฐอเมริกา การเติบโตของรายได้หลังปรับด้วยต้นทุนการครองชีพแล้ว สูงขึ้นร้อยละ 2% ต่อปี ด้วยอัตราดังกล่าว สหรัฐอเมริกามีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก ๆ 35 ปี ในบางประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่า ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศเกาหลีใต้ รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ปี
อะไรคือสิ่งที่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการครองชีพของประเทศต่าง ๆ อย่างขนานใหญ่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ? คำตอบนี้ง่ายจนน่าแปลกใจ ความแตกต่างของมาตรฐานการครองชีพของประเทศต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับผลิตภาพ” (productivity) ของแต่ละประเทศนั่นเองผลิตภาพหมายถึง จำนวนสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นจากเวลาแต่ละชั่วโมงทำงานของคนงาน ประเทศที่คนงานสามารถผลิตสินค้าและบริการได้เป็นจำนวนมากต่อหนึ่งหน่วยเวลา ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะมีมาตรฐานการครองชีพสูง ในประเทศที่มีผลิตภาพต่ำกว่า คนในประเทศนั้นก็ต้องอดทนกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ขาดแคลน อัตราการเติบโตของผลิตภาพในประเทศเป็นตัวกำหนดอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ย
ความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างผลิตภาพและมาตรฐานการครองชีพเป็นความสัมพันธ์ง่าย ๆ แต่หากจะเข้าใจนัยของมันต้องมองให้ลึก ถ้าผลิตภาพเป็นปัจจัยกำหนดตัวแรกของมาตรฐานการครองชีพ ปัจจัยกำหนดอื่น ๆ ก็จะมีความสำคัญรองลงไป ตัวอย่างเช่น หลายคนคิดว่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มาตรฐานการครองชีพของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะผลการดำเนินงานของสหภาพแรงงานและกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ แต่แท้จริงแล้ว ฮีโร่ที่แท้จริงของคนงานอเมริกันคือผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นของพวกเขาต่างหาก หรือกรณีการเติบโตของรายได้สหรัฐอเมริกาที่เชื่องช้าในช่วง 1-2 ปีมานี้ถูกนักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เพราะการแข่งขันจากต่างชาติ หากเป็นเพราะการเติบโตของผลิตภาพที่ลดลงของสหรัฐอเมริกาเองต่างหาก
ความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพและมาตรฐานการครองชีพมีผลเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งต่อนโยบายสาธารณะด้วย เมื่อพิจารณาว่านโยบายสาธารณะจะกระทบมาตรฐานการครองชีพอย่างไร คำถามสำคัญคือ นโยบายนั้นกระทบความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการอย่างไร หากต้องการเพิ่มมาตรฐานการครองชีพ ผู้กำหนดนโยบายต้องเพิ่มผลิตภาพโดยเพิ่มการศึกษาให้แก่คนงาน ลงทุนด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสินค้าและบริการ และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีที่สุดได้ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อโต้แย้งส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเด็นการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล นั่นคือการที่รัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่ได้มา หากเราพิจารณาให้ดี การขาดดุลงบประมาณจะส่งผลด้านกลับต่อผลิตภาพ เมื่อรัฐบาลต้องหาเงินมาชดเชยส่วนขาดดุล รัฐบาลอาจกู้เงินในตลาดการเงิน เหมือนอย่างที่นักศึกษากู้เงินมาใช้จ่ายค่าเล่าเรียน หรือเหมือนบริษัทกู้เงินมาสร้างโรงงานใหม่ แต่เมื่อรัฐบาลกู้เงินในตลาด ปริมาณเงินทุนที่เหลือสำหรับให้เอกชนกู้ยืมก็จะน้อยลง นั่นคืองบประมาณขาดดุลทำให้การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์(เช่นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษา) และการลงทุนด้านทุนกายภาพ(เช่น โรงงานใหม่) ลดน้อยลง งบประมาณขาดดุลจึงถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของที่ทำให้การเติบโตของมาตรฐานการครองชีพลดลง ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนที่ลดลงในปัจจุบันหมายถึงผลิตภาพที่ลดลงในอนาคต
บทบัญญัติที่ 9 : ราคาสินค้าจะสูงขึ้นเมื่อรัฐบาลพิมพ์เงินมากเกินไป
                เมื่อเดือนมกราคม 1921 ที่ประเทศเยอรมัน หนังสือพิมพ์รายวันมีราคา 0.30 มาร์ก อีกไม่ถึง 2 ปีต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 1922 หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันมีราคา 70,000,000 มาร์ก ราคาสินค้าอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจก็สูงขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวอย่างของเงินเฟ้อ” (inflation) ได้ดีที่สุดเงินเฟ้อคือภาวะที่ระดับราคาโดยทั่วไปของเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าสหรัฐอเมริกาไม่เคยเผชิญประสบการณ์เงินเฟ้อรุนแรงเช่นในเยอรมันช่วงทศวรรษ 1920 แต่เงินเฟ้อก็เป็นปัญหาเศรษฐกิจหนึ่งที่สำคัญ ในช่วงทศวรรษ 1970 ระดับราคาโดยทั่วไปของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ประธานาธิบดี Gerald Ford เรียกเงินเฟ้อว่าศัตรูหมายเลขหนึ่งของสังคมในทางกลับกัน ช่วงทศวรรษ 1990 อัตราเงินเฟ้อแต่ละปีมีค่าประมาณ 3% อัตราดังกล่าวจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอีกเท่าตัวใน 20 ปี เนื่องจากเงินเฟ้อสร้างต้นทุนให้แก่สังคมมากมาย การรักษาระดับเงินเฟ้อให้ต่ำจึงเป็นเป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลก อะไรเป็นสาเหตุของเงินเฟ้อ? กรณีส่วนมาก ตัวร้ายที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ "การเติบโตของปริมาณเงิน" เมื่อรัฐบาลสร้างปริมาณเงินของประเทศให้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก มูลค่าของเงินก็ลดลง ในเยอรมันช่วงต้นทศวรรษ 1920 เมื่อราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่าทุกเดือน ปริมาณเงินก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าทุกเดือนด้วย ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็นำไปสู่ข้อสรุปเดียวกัน เงินเฟ้อสูงในช่วงทศวรรษ 1970 มีส่วนสัมพันธ์กับการเติบโตอย่างรวดเร็วของปริมาณเงินและในช่วงเงินเฟ้อต่ำในช่วงทศวรรษ 1990 มีส่วนสัมพันธ์กับการเติบโต ของปริมาณเงินที่เป็นไปอย่างช้า ๆ
บทบัญญัติที่ 10 : ในระยะสั้น สังคมเผชิญภาวะได้อย่าง-เสียอย่างระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน
              ถ้าเราทำความเข้าใจเงินเฟ้อได้ไม่ยาก ทำไมผู้กำหนดนโยบายถึงมีปัญหาในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ ?เหตุผลหนึ่งก็คือ การลดเงินเฟ้อเป็นสาเหตุให้มีการว่างงานมากขึ้นในระยะสั้น ภาวะได้อย่าง-เสียอย่างระหว่างเงินเฟ้อกับอัตราว่างงานดังกล่าวเรียกว่า “Phillips curve” ซึ่งตั้งตามชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ที่ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้
Phillips curve ยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงสำหรับนักเศรษฐศาสตร์อยู่ในปัจจุบัน แต่ ณ วันนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากยอมรับความคิดเกี่ยวกับภาวะได้อย่าง-เสียอย่างระหว่างเงินเฟ้อและการว่างงานในระยะสั้น หากอธิบายง่าย ๆ ภาวะเช่นว่าเกิดขึ้นเพราะราคาสินค้าบางอย่างปรับตัวได้ช้า สมมติว่ารัฐบาลลดปริมาณเงินในเศรษฐกิจในระยะยาว ผลของนโยบายดังกล่าวทำให้ระดับราคาโดยทั่วไปลดลง แต่ในระยะสั้น ราคาสินค้าทุกชนิดไม่สามารถปรับตัวได้ทันที การปรับตัวต้องกินเวลาหลายปีกว่าที่บริษัทจะออกสินค้าใหม่ กว่าที่สหภาพจะตกลงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ กว่าที่ภัตตาคารจะคิดเมนูอาหารใหม่ นั่นคือราคาค่อนข้างคงที่ในระยะสั้น เพราะราคาที่ค่อนข้างคงที่ในระยะสั้น นโยบายของรัฐบาลหลายนโยบายจึงส่งผลระยะสั้นที่แตกต่างจากผลระยะยาว เมื่อรัฐบาลลดปริมาณเงิน ปริมาณการใช้จ่ายของประชาชนก็ลดลง ขณะที่ราคาสินค้ายังคงสูงคงที่ สินค้าและบริการที่บริษัทขายได้ก็ลดลง ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องปลดคนงานออก ดังนั้น การลดปริมาณเงินเพื่อลดเงินเฟ้อทำให้การว่างงานสูงขึ้นชั่วคราวกระทั่งราคาปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มที่ ภาวะได้อย่างเสียอย่างระหว่างเงินเฟ้อและการว่างงานเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาหลายปี Phillip curve มีความสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ผู้กำหนดนโยบายควบคุมการแลกกันระหว่างเงินเฟ้อและการว่างงานผ่านเครื่องมือทางนโยบายที่แตกต่างกัน เช่น เปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายของรัฐบาล ปรับภาษี เปลี่ยนปริมาณเงินในระยะสั้น ผู้กำหนดนโยบายสามารถหาส่วนผสมระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่เหมาะสมได้ เพราะเครื่องมือทางการเงินและการคลังเหล่านี้มีศักยภาพในการควบคุมเศรษฐกิจ แต่ผู้กำหนดนโยบายจะเลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการจัดการเศรษฐกิจอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป.
หมายเหตุ : บทความนี้แปลจาก “Ten Principles of Economics” ในหนังสือ Principles of Economics : The Dryden Press , 1997 ของ N. Gregory Mankiw เนื้อหาที่ปรากฎทั้งหมดเป็นการแปลจากต้นฉบับแบบคำต่อคำ โดยมิได้สอดแทรกความคิดส่วนตัวและคำอธิบายเพิ่มเติมของผู้แปลแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการจัดย่อหน้าที่เป็นไปตามต้นฉบับโดยมิได้เสริมแต่ง ผู้แปลขอขอบคุณอาจารย์ปัทมาวดี ซูซูกิ และอาจารย์กรุณา วิวัฒนากันตัง ที่ได้ช่วยตรวจทานต้นฉบับและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ยิ่ง.



เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

              การนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ก็เพื่อที่จะนำค่าหรือราคาของสิ่งแวดล้อม เข้าไปบวกไว้ในราคาของสินค้าในระบบของตลาด หรือการให้มูลค่า/ราคาต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และโดยหลักทางทฤษฎีแล้วมาตรการทางเศรษฐศาสตร์จะสามารถแสดงบทบาทได้สมบูรณ์ เมื่อระบบตลาดเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์

เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ที่มา:  http://www.rmutphysics.com/charud/oldnews/192/science/TI2econD.htm
            จากอดีต จนถึงปัจจุบันพบว่าปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและการเสื่อมโทรของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทวีความรุนแรงและเกิดการแพร่กระจายครอบคลุมไปทั่วโลก ซึ่งเกิดจากการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบสู่ภายนอกซึ่งผลกระทบสู่ภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ของสิ่งแวดล้อมนั้น เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือกลุ่มที่ก่อให้เกิดผลกระทบนั้นไม่สนใจถึงต้นทุนและผล ตอบแทนที่จะมีขึ้นกับสังคม เช่น การที่โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำต่อท่อระบายของเสียจากการผลิต ลงสู่แม่น้ำโดยปราศจากการติดตั้งเครื่องกำจัดของเสียโดย หลักทางทฤษฎีแล้วการนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ก็เพื่อที่จะนำค่าหรือราคา ของสิ่งแวดล้อม เข้าไปบวกไว้ในราคาของสินค้าในระบบของตลาด หรือการให้มูลค่า/ราคาต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และโดยหลักทางทฤษฎีแล้วมาตรการทางเศรษฐศาสตร์จะสามารถแสดงบทบาทได้สมบูรณ์ เมื่อระบบตลาดเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์
มาตรการทางเศรษฐศาสตร์(Economic Instruments)
           มาตรการหรือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์(Economic Instruments) เป็น มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งได้มีการพัฒนาและนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่ง แวดล้อมซึ่งเกิดจากการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
(1) มาตรการที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์(Economic Incentives) ได้แก่ มาตรการยกเว้นด้านภาษี (Tax Exemptions) มาตราการการลดหย่อนทางภาษี (Tax Reduction) การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน/การลงทุน (Financial Subsidies) ด้าน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุนซึ่งใช้เครื่องจักร/โรงงานที่ไม่ก่อไห้เกิด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การวางเงินค้ำประกันซึ่งสามารถเรียกคืนได้ (Deposit-refund Schemes) และ
(2) มาตรการที่ลดแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Disincentives) ส่วนมากเป็นระบบซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย (Polluter Pays Principle) เช่น ระบบการกำหนดภาษีสิ่งแวดล้อม (Environmental Tax) การเก็บค่าธรรมเนียมมลพิษ (Environmental/Pollution Tax) การใช้นโยบายการกำหนดราคา (Pricing Policy) ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยมลพิษ (Transferable Policy Rights หรือ Marketable or Tradable Permits/Quotas) การเก็บค่าทิ้งกากของเสียและปล่อยน้ำทิ้ง (Effluent/ Discharge Fees) เป็นต้น
มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีการนำมาใช้ในการจักการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
           ประเทศไทยเรานั้นได้นำเอาทิ้ง 2 วิธี มาใช้ คือ (1) มาตรการ จูงใจทางเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่างเช่น การใช้เงินช่วยเหลือด้านการลงทุนเพื่อการสร้างระบบบำบัดของเสียที่เป็นพิษ และของเสียที่เป็นสารพิษ โดยมีการใช้วิธีการเก็บค่าบริการ (Service Charges) ในการใช้บ่อบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และรวมไปถึงการสร้างความแตกต่างของราคา (Price Differentiation) ในกรณีของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผสมสารตะกั่ว และ (2) มาตรการ ที่ลดแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่างเช่น มาตรการด้านด้านภาษีมลพิษมาบังคับใช้ ในกรณีของรถจักรยานยนต์สองจังหวะ เครื่องปรับอากาศแบตเตอรี่ และหินอ่อนและหินแกรนิต (ซึ่งกรณีของหินอ่อนและหินแกรนิต ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2540) ณ ปัจจุบันการจักการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนในประเทศ ไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2540 ซึ่ง ส่งผลให้ องค์กรส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. และชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการอนุรักษ์การจัดการ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้องค์การเอกชนต่าง ๆ ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการกระตุ้นให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้ยั่งยืน โดยที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

บทความ: ประกันแรงงานนอกระบบ การจัดการยังน่าห่วง


 

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--ทีดีอาร์ไอ
            ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีการพูดกันมากถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ หรือบางคนเรียกว่า “ประชานิยม”ที่รัฐบาลประกาศออกมา พร้อมมาตรการ 9 ข้อ ที่เน้นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมไปถึงการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
           หลายมาตรการฝ่อตั้งแต่เริ่ม ต้น เช่นกรณีไข่ชั่งกิโลที่มีกระแสตอบรับน้อย แต่มาตรการขยายสวัสดิการประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ หากทำได้จริงน่าจะเกิดคุณูปการแก่ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่เป็นกำลังแรงงานของ ประเทศมากกว่า 23 ล้านคน และนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อีกทั้งยังช่วยสร้างสมดุลของสวัสดิการแรงงาน เพราะประเทศไทยมีแรงงานภาคทางการน้อยกว่าแรงงานภาคไม่เป็นทางการมาก(ราว 3 เท่า)และไม่สามารถลดขนาดเล็กลงได้ก็ต้องทำให้แรงงานเหล่านี้เกิดความมั่นคง ในชีวิตมากขึ้น แต่การบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนระยะยาวยังน่าห่วง หากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ ทั้งตัวระบบรองรับและการเข้าถึงตัวแรงงาน ทำความเข้าใจและมาขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบ
            ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องการขยายสวัสดิการให้กับแรงงานนอกระบบ และการให้สินเชื่อพิเศษแก่ แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เรื่องเหล่านี้หากรัฐบาลทำได้จริงจะเป็นผลงานที่สร้างชื่อและเรียกคะแนนนิยม ได้มาก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ได้เข้ามาอยู่ใน ระบบและได้รับการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น และคาดว่าจะมีจำนวนผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์หลายล้านคนจากแรงงานนอกระบบ มากกว่า 24 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 62 ของกำลังแรงงานของประเทศ ครอบคลุมแรงงานนอกระบบซึ่งแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป อาทิ แท็กซี่ สามล้อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่ แผงลอย ช่างเสริมสวย แรงงานภาคเกษตรรวมไปถึงอาชีพที่มีรายได้สูงอย่างเช่น ทนายความ แพทย์ ที่มีกิจการเป็นของตนเอง และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มอาชีพรับจ้างต่างๆ อาทิ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน รับจ้างทำของ รับจ้างตามฤดูกาล รับจ้างในกิจการประมงรวมไปถึงรับจ้างทำงานบ้าน และคนขับรถส่วนตัว

            สำหรับสวัสดิการประกัน สังคมสำหรับแรงงานนอกระบบนั้น ทำในรูปแบบรัฐร่วมจ่ายสมทบกับผู้ประกันตน โดยในขั้นต้นนี้รัฐทำเป็น 2 แพคเกจให้เลือกตามความสมัครใจ คือ แพ็คเกจแรก 100 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 30 บาท จะได้สิทธิประโยชน์เงินทดแทนเมื่อขาดรายได้ จำนวนหนึ่งเมื่อเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลอย่างน้อย 2 วัน เงินค่าชดเชยเมื่อทุพพลภาพหรือเสียชีวิต ส่วน แพ็คเกจที่สอง 150 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนแพ็คเกจแรก และบวกเพิ่มเงินบำเหน็จชราภาพซึ่งตรงบำเหน็จชราภาพนี้แรงงานนอกระบบยัง สามารถเลือกสมทบเพิ่มเติมมากกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้
               แม้ในระยะแรกคาดว่าจะมีคนเริ่มเข้ามาสู่ระบบไม่มากราว 2.5 ล้านคน แต่ในทางปฏิบัติการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ต้องใช้กำลังคนจำนวนมากและการจัดระบบ บริหารจัดการทั้งจำนวนแรงงานที่จะเข้าสู่ระบบและระบบการส่งเงินสมทบ เพราะคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่าแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมเดิมถึงเกือบ 3 เท่า (ในระบบประกันสังคมมีแรงงานราว 9 ล้านคนเศษ)
             “แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ อยู่กระจัดกระจาย ในทางปฏิบัติต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพื่อให้ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ เพราะหากเขาไม่มาขึ้นทะเบียนก็ยากที่จะรู้ได้ ในทางปฏิบัติจึงต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานหลายฝ่าย ทั้งกลไกของกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อลงไปให้ถึงคนเหล่านี้ และควรต้องเร่งประชาสัมพันธ์ เพราะทุกวันนี้บางคนยังไม่เข้าใจ ”
                ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วง คือ แม้ในที่สุดจะมีการแก้กฎหมายให้เปิดช่องดำเนินการได้ แต่ในทางปฏิบัติสำนักงานประกันสังคมจะต้องปรับปรุงตัวองค์การ ในการจัดระบบรองรับเป็นการเฉพาะเนื่องจากเป็นการดูแลแรงงานกลุ่มใหญ่กว่าที่ ประกันสังคมดูแลอยู่เดิมเพียง 9 ล้านคนเศษเท่านั้น ขณะที่นโยบายนี้ถ้าประสบผลสำเร็จจะทำให้มีแรงงานนอกระบบเข้ามาสู่ประกัน สังคมสูงถึง 24 ล้านคน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งจำนวนบุคลากรและระบบบริหารจัดการต่าง ๆ ซึ่งมีต้นทุนดำเนินการค่อนข้างสูง อีกทั้งการส่งเงินสมทบผ่านช่องทางต่าง ๆ ล้วนมีค่าใช้จ่าย สำนักงานประกันสังคมต้องแบกรับต้นทุนทั้งเรื่องคนและการพัฒนาระบบรองรับ ต้องมีการประเมินว่าระบบไอซีทีที่มีอยู่เดิมรองรับได้หรือไม่ เช่น หากคนที่จะเข้าสู่ระบบมากเกินที่คาดไว้เช่น จาก 2.5 ล้านคนเป็น 6-7 ล้านคน นอกจากนี้ควรแยกการบริหารจัดการกองทุนของแรงงานกลุ่มใหม่นี้เป็นคนละส่วนกับ กองทุนประกันสังคมเดิมและมีเจ้าหน้าที่ดูแลเฉพาะ กล่าวคือ เหมือนมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่งเพื่อดูแลกองทุนของคน กลุ่มนี้ เช่นเดียวกับเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่มีหน่วยงานดูแลเป็นการเฉพาะเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เรื่องสวัสดิการแรงงานนอกระบบนับเป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะต่อไปกองทุนนี้จะเป็นภาระด้านงบประมาณ เนื่องจากเป็นลักษณะเงินสมทบ ซึ่งเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมจะดูแลอยู่เพราะมีความเชี่ยวชาญ แต่ก็ต้องแยกคนกลุ่มนี้ไม่ให้ไปปนกับคนในระบบประกันสังคมเดิม สิ่งที่ต้องระวังคือ เมื่อมีฐานมาจากการอุดหนุนของรัฐบาล และการบริหารจัดการก็อาจเกิดปัญหาจากความเสี่ยงของตัวแรงงานที่อาจมีการเข้า ออกสูง การส่งเงินสมทบขาดความต่อเนื่อง กระแสเงินที่เข้ามาไม่ต่อเนื่อง อาจมีแรงกดดัน ทำให้ยากในการบริหารจัดการ ต้นทุนและค่าตอบแทนต่าง ๆ ก็อาจจะมีการเรียกร้องสิทธิทดแทนต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
             หากจะให้กองทุนนี้ดำเนินการต่อไปได้และมั่นคง จะต้องมีการติดตามและประเมินผลต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนได้เมื่อพบว่าจะเป็น ปัญหาในระยะยาว เพราะระบบนี้จะอยู่ได้ต้องมีคนเข้าระบบจำนวนมาก ถ้ามีคนเข้าระบบน้อยก็จะไม่คุ้มกับค่าบริหารจัดการ ซึ่งต้องมีการจ้างบุคลากรเพิ่มเติมและทำระบบรองรับ
             ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลจะใช้นโยบายอย่างนี้ได้ก็หมายความว่ารัฐบาลต้องหาเงินเก่งด้วย แม้จะบอกว่าเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าเยอะ แต่นโยบายยังขาดดุล 3-4 แสนล้านบาท ก็เป็นแนวโน้มที่ไม่ดี เพื่อไม่ให้เกิดภาระงบประมาณในอนาคตรัฐบาลต้องมีวิธีหาเงินด้วย ต้องทำให้จีดีพีโตอย่างน้อย 4-5% จึงจะมีเงินรายได้เข้าคลังเพียงพอมาทำให้รัฐสวัสดิการเหล่านี้ดำเนินต่อไป ได้โดยไม่ติดขัด
อย่างไรก็ตาม หากมองว่ามาตรการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสมดุลแรงงานได้นั้น ต้องมีการบูรณาการกันหลายอย่าง เพราะโดยหลักการสมดุลแรงงานจะเกิดได้ ต้องลดขนาดของแรงงานภาคไม่เป็นทางการให้เล็กลง ทำให้มาอยู่ในระบบมากขึ้น หรือทำให้เขามีรายได้มีความมั่นคง ได้รับการดูแลมากขึ้น ซึ่งในแง่นี้ประกันรายได้แรงงานนอกระบบก็น่าจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง
ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรคือแรงงานนอกระบบที่จนที่สุดมีรายได้เฉลี่ยเพียง เดือนละไม่ถึง 4,000 บาท และคนเหล่านี้ก็จะเข้ามาเป็นแรงงานแฝงในกรุงเทพฯ มีจำนวนราว 2 ล้านกว่าคนซึ่งมากพอ ๆ กับจำนวนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้เป็นนโยบายใหญ่ที่ต้องทำต่อไปเพื่อลด ความเลื่อมล้ำในสังคม.