วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสำคัญของการประเมินมูลค่า “ความยั่งยืน”

ความสำคัญของการประเมินมูลค่า “ความยั่งยืน”

สฤณี อาชวานันทกุล
http://www.treehugger.com
ตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 21 จะเปิดฉากไม่นาน วิกฤตสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดได้พิสูจน์ให้เห็นจนสิ้นสงสัย แล้ว เว้นแต่ในสายตาคนที่ยังแกล้งมองไม่เห็น ว่าวิถีทุนนิยมแบบอุตสาหกรรมที่เป็นกระแสหลักในโลกตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่สองนั้น อันตรายเกินกว่าจะปล่อยให้ดำเนินต่อไปในแบบเดิมได้อีก เพราะเป็นวิถีที่โหมกระพือมหกรรมบริโภคนิยมและถลุงทรัพยากรธรรมชาติไปใช้โดย ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
คำถามที่สำคัญที่สุดในยุคนี้จึงไม่ใช่ “เราจะหาวิธีเยียวยาอย่างไรโดยใช้วิถีทางเดิม” เพราะผลกระทบนั้นรุนแรงจนเยียวยาอย่างเดียวไม่พอแล้ว คำถามที่สำคัญที่สุดคือ “รูปแบบ องค์ประกอบ และวิถี “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ที่เป็น “อุตสาหกรรมยุคหลังอุตสาหกรรม” (post-industrial industry) นั้นเป็นเช่นใด” ต่างหาก
คำตอบของคำถามข้อนี้เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมให้เราเห็นอย่างช้าๆ แต่ทว่าชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในงานของนักธุรกิจหัวก้าวหน้า นักธุรกิจเพื่อสังคม นักสิ่งแวดล้อมที่เข้าใจโลกธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนงที่เข้าใจว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นั้น หาใช่แฟชั่นฉาบฉวยที่จะเลือนหายไปทันทีที่มีคำใหม่กว่ามาแทนที่
ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่กำลัง ‘ถอดรหัส’ การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเข้มข้นและน่าติดตามอย่างยิ่งคือ คริส คอร์ปส์ (Chris Corps) จากแคนาดา อดีตประธานกรรมการสถาบันผู้สำรวจรังวัด (Royal Institution of Chartered Surveyors: RICS) สถาบันวิชาชีพที่มีสมาชิกนักประเมินมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในโลก – กว่า 120,000 คนจาก 146 ประเทศทั่วโลก
คริสนำทีมผู้บุกเบิกวิธีการประเมินมูลค่าของ “ความยั่งยืน” ในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคที่สร้างตามหลักการพัฒนาอย่าง ยั่งยืน (คือเป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม)  ออกมาเป็นตัวเงิน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญคนแรกๆ ที่สังเกตเห็นว่าอาคารและโครงการที่ก่อสร้างตามหลักความยั่งยืนนั้นไม่เพียง แต่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของ (เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานจากการใช้พลังงานทดแทนและแบบอาคารที่ใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ หรือประหยัดต้นทุนก่อสร้างและค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาจากการใช้วัสดุก่อ สร้างน้อยกว่าปกติ) แต่หลายกรณียังสามารถสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- ค่ารักษาพยาบาล (โรคภูมิแพ้ ฯลฯ) ที่ผู้อยู่อาศัยในอาคารประหยัดได้หลังจากที่เจ้าของโครงการลงทุนติดตั้งระบบ ฟอกอากาศและเครื่องทำความชื้น
- ยอดขายสินค้าของบริษัทผู้อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากประสิทธิภาพที่สูง ขึ้น ตัวอย่างที่โดดเด่นเช่น บริษัท Hyde Tools ผู้ผลิตใบมีดอุตสาหกรรมในอเมริกา ตัดสินใจใช้เงิน 98,000 เหรียญเพื่ออัพเกรดระบบไฟในอาคารสำนักงานใหญ่ เปลี่ยนจากหลอดนีออนเป็นหลอดไฟแสงจันทร์กับหลอดเมทัลฮาไลด์ นอกจากบริษัทจะประหยัดค่าไฟได้ 48,000 เหรียญต่อปีแล้ว ระบบไฟใหม่ยังช่วยให้คนงานมองเห็นอนุภาคที่เคยเป็นต้นเหตุของตำหนิในใบมีด ของบริษัท ทำให้สามารถลดอัตราการเกิดตำหนิลงอย่างฮวบฮาบ Hyde Tools ประเมินว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นนี้มีมูลค่าถึง 250,000 เหรียญต่อปี เท่ากับว่าระบบไฟใหม่ราคา 98,000 เหรียญนั้นคุ้มค่ามาก เพราะช่วยทั้งลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้
- ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภาพของพนักงานที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานไปรษณีย์ในเมืองรีโน มลรัฐเนวาดาของอเมริกากลายเป็นสาขาไปรษณีย์ที่มีผลิตภาพสูงที่สุดและมีอัตรา ความผิดพลาดต่ำที่สุดในซีกตะวันตกของประเทศ หลังจากที่ตัดสินใจลงทุน 300,000 เหรียญ อัพเกรดระบบพลังงานและระบบไฟฟ้าในตัวอาคารใหม่หมด ผู้จัดการไปรษณีย์สาขานั้นพบว่า การที่พนักงานได้ทำงานในพื้นที่ที่สว่างกว่าเดิมและเงียบกว่าเดิมมีส่วนช่วย ให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้นและเสร็จเร็วกว่าเดิม ไปรษณีย์ประเมินว่าประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการบำรุงรักษาได้ 50,000 เหรียญต่อปี แต่ผลิตภาพของพนักงานที่เพิ่มขึ้นนั้นมีมูลค่าถึง 400,000-500,000 เหรียญต่อปี เท่ากับว่าการลงทุนครั้งนี้คุ้มทุนภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี
รายงานชิ้นเอกของคริสเรื่อง Green Value (มูลค่าสีเขียว) ตีพิมพ์ปี 2005 ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาโครงการ 18 แห่งในอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ที่ก่อสร้างตามหลักความยั่งยืน เป็นรายงานวิจัยฉบับแรกที่ยืนยันว่า ความยั่งยืนนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมูลค่านั้นหลายกรณีก็เป็นสิ่งที่ประเมินเป็นตัวเงินได้ รายงาน Green Value หักล้างมายาคติที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรก ความเชื่อที่ว่า “อาคารสีเขียวแพงกว่าอาคารปกติ” นั้นไม่เป็นความจริง เพราะมัน “ถูกกว่า” ถ้ารวมมูลค่าของประโยชน์ต่างๆ จากคุณสมบัติที่เสริมสร้างความยั่งยืนเข้าไปในการประเมิน (อย่างเช่นผลิตภาพของพนักงานที่เพิ่มขึ้นหรือค่ารักษาพยาบาลที่ประหยัดได้ใน ตัวอย่างข้างต้น)
ข้อสอง ความเชื่อที่ว่ามูลค่าตลาดของโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่สัมพันธ์อะไรเลยกับ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เป็นความจริง ยิ่งโครงการ “เขียว” เท่าไร มูลค่าตลาดของโครงการก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่ผู้เช่า ผู้บริโภค นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้เชี่ยวชาญ “มองเห็น” มูลค่าของความยั่งยืนและตีค่ามันได้ชำนาญขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่คริสย้ำแล้วย้ำอีกในงานของเขาคือ มูลค่าของอาคารที่ยั่งยืนนั้นไม่ได้มีแต่ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ดังที่คน ส่วนใหญ่เชื่อ แต่ยังมีมูลค่าเชิงบวกมากมายที่มักจะมีมูลค่าสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ประหยัด ได้ (แปลว่าเป็นโครงการที่ “น่าลงทุน” กว่าที่เจ้าของโครงการคิด)
การประเมินและรวมมูลค่าเชิงบวกของความยั่งยืนเข้าไปในการประเมินโครงการ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะมันอาจหมายถึงความแตกต่างระหว่างการตัดสินใจว่าจะทำโครงการ หรือไม่ทำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้บริหารของ Hyde Tools มองไม่เห็นมูลค่าเพิ่มจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มองเห็นแต่ค่าใช้จ่ายพลังงานที่ประหยัดได้ และวางนโยบายไว้ว่าการลงทุนใดๆ ก็ตามจะทำก็ต่อเมื่อคุ้มทุนภายใน 1 ปี ก็อาจสรุปว่าการลงทุน 98,000 เหรียญเพื่อเปลี่ยนสำนักงานใหญ่ให้ยั่งยืนนั้น “ไม่คุ้ม” เพราะค่าใช้จ่ายพลังงาน 48,000 เหรียญต่อปีที่ประหยัดได้นั้นต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี (98,000 / 48,000) ถึงจะคุ้มทุน ซึ่งเกินกำหนด 1 ปีที่ระบุในนโยบาย แต่ถ้าผู้บริหารเล็งเห็นว่าการอัพเกรดน่าจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพ และประเมินมูลค่าเพิ่มจากเรื่องนี้ได้ที่ 250,000 เหรียญ ก็จะอนุมัติให้ทำโครงการทันที เพราะโครงการนี้จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 98,000 / (48,000 + 250,000) = 0.33 หรือประมาณ 4 เดือนเท่านั้นเอง
คริสบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนที่เชื่อมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน/โครงการสีเขียวจะ เลิกพูดถึง “ต้นทุน” หรือ “ค่าใช้จ่าย” ที่ลูกค้า “ประหยัดได้” – หันมาเน้น “มูลค่าเพิ่ม” ของความยั่งยืน เขาสรุปว่ามูลค่าของโครงการสีเขียวนั้นแบ่งได้เป็น 11 ประเภท ได้แก่
1. ต้นทุนการดูแลรักษา/บริหารจัดการที่ต่ำกว่าปกติ
2. ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและทรัพยากรอื่นที่ประหยัดได้
3. แรงจูงใจจากภาครัฐ เช่น เงินให้เปล่า สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ
4. ดึงดูดผู้อยู่อาศัยได้เร็วกว่าปกติ (เจ้าของอาคารมีรายได้ค่าเช่าเร็วขึ้น)
5. คิดค่าเช่าได้แพงกว่าปกติ/ขายได้ราคาดีกว่าปกติ
6. อัตราการย้ายออกหรือห้องว่างต่ำกว่าปกติ
7. ลดต้นทุนในการตกแต่งภายนอก
8. ลดต้นทุนในการสับเปลี่ยนผู้เช่าภายใน (เช่น ย้ายจากชั้น 2 ไปอยู่ชั้น 5)
9. ผลิตภาพของผู้อยู่อาศัยที่สูงขึ้น
10. กระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณะที่รวดเร็วและดีกว่าเดิม (เช่น คนในชุมชนใกล้เคียงไม่ประท้วง)
11. ความเสี่ยงที่น้อยกว่าปกติ และน่าดึงดูดเวลานำไปขาย
คริสเชื่อว่า การประเมินมูลค่าความยั่งยืน หรือที่เขาเรียกว่า “green valuation” นั้น เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมเศรษฐกิจโฉมใหม่ ตราบใดที่การก่อสร้างยังใช้เงิน และตราบใดที่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นยังอาศัยการประเมินผลตอบแทนทางการเงิน เป็นหลักในการตัดสินใจ แนวทางของเขาก็สมควรได้รับการลงมือต่อยอดและขยายผลในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะ เป็นไปได้.

มูลค่าโดยรวมทางเศรษฐศาสตร์ (Total Economic Value)


มูลค่าโดยรวมทางเศรษฐศาสตร์ (Total Economic Value) 
ของทรัพยากรหรือมูลค่าทางสิ่งแวดล้อม(Dominika Dziegielewska. 2007. Environmental economics” The Encyclopedia of Earth. Encyclopedia of Earth. Available Source:  http://www.eoearth.org/article/Total_economic_value
September 10, 2007.)  ประกอบด้วย

รูปมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวม
  • มูลค่าการใช้ประโยชน์ (Use Value) ได้แก่
    1. มูลค่าการใช้โดยตรง (Direct Use Value) หมายถึง มูลค่าที่คิดจากรายได้การใช้ทรัพยากรโดยตรง เช่น รายได้จากการจับสัตว์น้ำ รายได้จากการท่องเที่ยวในแหล่งปะการังรวมถึงค่าเดินทาง ค่าที่พักนักท่องเที่ยว รวมทั้งการลงทุนในการบูรณะทรัพยากร
    2. มูลค่าการใช้ทางอ้อม (Indirect Use Value) หมาย ถึง มูลค่าการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถนำมาขายได้โดยตรง คือไม่มีราคาผ่านตลาด แต่มีคุณค่ามหาศาลและยากต่อการประเมิน เช่น การรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์ในทะเล เป็นที่เลี้ยงตัว วางไข่ อนุบาล เป็นที่อยู่อาศัยและเจริญเติบโตของทรัพยากรสัตว์และพืชในห่วงโซ่อาหาร และจากการศึกษาในงานวิจัยหลายเรื่องพบว่า การใช้ทรัพยากรทางอ้อมนี้มีมูลค่ามากกว่ารายได้จากการใช้ประโยชน์โดยตรง อย่างมาก
  • มูลค่าที่เกิดจากการเลือกที่จะสงวนไว้ใช้ในอนาคต (Option Value) หมายถึง มูลค่าที่สังคมให้แก่ทรัพยากรเพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคตหากต้องการใช้
  • มูลค่าไม่ใช้ประโยชน์ (Non-Use Value)หมาย ถึงคุณค่าของทรัพยากรจากการไม่ได้ใช้ทรัพยากรโดยตรงแต่บุคคลหรือสังคมมีความ ต้องการให้ทรัพยากรนี้ดำรงอยู่เพื่อตนเองและบุคคลอื่นในอนาคตโดยที่ประชาชน ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรนั้นเลยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมมูลค่าไม่ใช้ ประโยชน์ได้แก่
    1. มูลค่าการคงอยู่ (Existence Value) หมายถึง มูลค่าที่สะท้อนความต้องการของบุคคล ที่ปรารถนาให้ทรัพยากรดำรงคงอยู่ต่อไปในอนาคต แม้ว่าผู้บริโภคนั้นจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ หรือไม่มีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรนั้นเลยก็ตาม แต่ผู้บริโภครู้สึกพอใจที่จะให้ทรัพยากรนั้นคงอยู่ต่อไป
    2. มูลค่าเพื่อลูกหลาน (Bequest Value) หมายถึง มูลค่าของสิ่งแวดล้อมที่บุคคลรุ่นปัจจุบันต้องอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้เห็นหรือได้ใช้ประโยชน์

การประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

การประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
          ในปี พ.ศ.2541 กรมป่าไม้โดยกลุ่มเศรษฐกิจป่าไม้ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจและพัฒนาการจัดการป่าไม้ สำนักวิชาการร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันดำเนินการประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรณีศึกษาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ทั้งนี้เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าขนาดใหญ่ทางด้านตะวันตกของประเทศ มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางวิชาการและความงดงามทางธรรมชาติที่หายากและในปี พ.ศ.2535 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นผืนป่าเดียวกันได้รับการประกาศให้เป็น “ มรดกทางธรรมชาติของโลก ”
          การศึกษาครั้งนี้โดยการวิเคราะห์หามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์รวม (Total Economic Value) ของพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าจากการใช้โดยตรงมูลค่าจากการใช้โดยอ้อม (Direct and Indirect Use Values) และมูลค่าจากการมิได้ใช้ทรัพยากรนั้น (Non – Use Value) โดยมีข้อสมมติว่าคุณค่าที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถือเป็นหน่วยเดียว นอกจากนี้สังคมในฐานะผู้ได้รับคุณประโยชน์จากทรัพยากรในรูปต่างๆ จะเป็นผู้ประเมินหรือให้มูลค่า ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ใช้ประโยชน์และผู้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร โดยผู้ใช้ประโยชน์ได้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชน (Buffer Zone) และประชาชนภายนอกที่เข้าไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรในกิจกรรมแบบต่างๆ เช่น การศึกษาวิจัย กิจกรรมสั่งงานศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมนันทนาการ ฯลฯ สำหรับผู้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะครอบคลุมถึงประชาชนคนไทยทั่วประเทศ
          การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากผู้ใช้ประโยชน์ที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชน จะใช้แบบสอบถามจากตัวอย่าง จำนวน 179 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่ตามแนวกันชนชั้นในและชั้นนอกของหมู่บ้าน จำนวน 6 หมู่บ้าน วิธีการประเมินมูลค่าโดยอาศัยมูลค่าตลาดของทรัพยากร การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากผู้ใช้ประโยชน์ที่เป็นบุคคลภายนอก ใช้แบบสอบถาม โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ จำนวน 298 ราย ตามจำนวนรายชื่อพร้อมที่อยู่ที่รวบรวมได้ และมีตอบกลับจำนวน 154 ราย คิดเป็นร้อยละ 52 วิธีการประเมินมูลค่าสำหรับกลุ่มนี้ใช้เทคนิคการสำรวจความยินดีจ่าย การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ใช้แบบสอบถามจากตัวอย่างที่สุ่มใน จำนวน 12 จังหวัดทั่วประเทศคิดเป็น 864 ตัวอย่าง วิธีการประเมินใช้เทคนิคการสำรวจความยินดีจ่าย
          ตามนโยบายการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติต่างๆ ของรัฐดังนี้
    1. พระราชบัญญัติป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2484
    2. พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
    3. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
          คุณประโยชน์โดยตรงในด้านเป็นแหล่งเนื้อไม้หรือของป่า แม้จะไม่ปรากฎให้เห็นตามข้อห้ามของพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง แต่คุณค่าโดยตรงอย่างอื่นที่ได้รับจากผืนป่าแห่งนี้ก็มีอยู่มากมาย เช่น เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมของพันธุ์พืชที่หายาก รวมทั้งเป็นแหล่งรวมของพืชสมุนไพรที่หายาก ซึ่งบางชนิดอาจใช้เป็นยารักษาโรคที่ยังรักษาไม่หายในอนาคตได้ และพื้นที่ป่าบริเวณนี้ไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ จึงทำให้เป็นแหล่งทางวิชาการและห้องปฏิบัติการของด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาที่สำคัญยิ่ง
          คุณประโยชน์ทางอ้อมเป็นแหล่งอนุรักษ์น้ำให้แก่ลุ่มน้ำหลายสายตลอดจนเป็นแหล่งเอื้ออำนวยให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำ เนื่องจากความเย็นจากเรือนยอดต้นไม้ในป่า ลดการชะล้างพังทะลายของดิน นอกจากนี้ยังชะลอความรุนแรงของลมพายุที่พัดมาจากทะเลอันดามัน ทำให้บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เรือกสวนไร่นาบริเวณดังกล่าว
          การศึกษาโครงการประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กรณีศึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้น ในที่นี้คุณค่าของทรัพยากรมีความหมายเดียวกับมูลค่าสุทธิหรือประโยชน์สุทธิที่สังคมได้รับจากทรัพยากร ดังนั้นวิธีการศึกษาหลักจะใช้วิธีการใช้ราคาการตลาด ในการวิเคราะห์กรณีที่ทรัพยากรมีระบบตลาดรองรับ และใช้วิธีการใช้เทคนิคการสำรวจที่เรียกว่า Contingent Valuation Approach ในกรณีที่ทรัพยากรไม่มีระบบตลาดรองรับ โดยเป็นการสำรวจความยินดีที่จะจ่าย (Willingness to pay) ของบุคคลในสังคมซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ผลประโยชน์สุทธิที่สังคมจะได้รับจากทรัพยากร การประเมินคุณค่าของทรัพยากรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประกอบด้วยการประเมินคุณค่าต่างๆ ดังนี้
          1. คุณค่าที่เกิดจากการใช้โดยตรง (Direct use value) ประเมินได้จากคุณประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ป่า ได้แก่ ที่ดิน ทรัพยากรที่ดิน พืชและสัตว์ ที่เอื้อต่อการผลิตตลอดจนการใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation)
          2. คุณค่าที่เกิดจากการใช้โดยอ้อม (inderect use value) ประเมินคุณประโยชน์ของป่าอนุรักษ์ที่สังคมได้รับจากการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร (watershed) แหล่งกำบังลมพายุ และแหล่งบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง
          3. คุณค่าเผื่อจะใช้ประโยชน์ (option value) ประเมินได้จากการที่สังคมให้มูลค่าแก่ป่าอนุรักษ์เผื่อว่าจะใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและ/หรือทางอ้อมในอนาคต
          4. คุณค่าที่เกิดจากการดำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่ของป่า (existence value) ประเมินได้จากการที่สังคมให้มูลค่าป่าจากการเก็บรักษาไว้เป็นป่าอนุรักษ์ ซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในด้านการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ การดำรงอยู่ของสัตว์ป่าและพืชพรรณที่หายาก อิทธิพลของทรัพยากรป่าไม้ที่มีต่อภูมิอากาศโลก (climate) ตลอดจนการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
          5. คุณค่าที่เกิดจากการไม่ใช้แต่เก็บไว้ให้ลูกหลาน (bequest value) เป็นคุณค่าที่สังคมให้กับการเก็บรักษาไว้เป็นป่าอนุรักษ์ เพื่อเป็นโอกาสให้สำหรับลูกหลาน (future gerneration) จะใช้ประโยชน์ในอนาคต
คุณค่าของเขตป่าอนุรักษ์แบ่งตามประเภทของมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประเภทของมูลค่า (คุณค่า)
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขตป่าอนุรักษ์
  1.  มูลค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value)
1.1 การใช้ผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น ไม้ฟื้น เห็ดป่าต่างๆ และ
      สมุนไพร ฯลฯ
1.2 การนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ
1.3 การศึกษาวิจัย
  1. มูลค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยอ้อม (indirect use value)
2.1 แหล่งต้นน้ำลำธาร
2.2 แหล่งบรรเทาน้ำท่วม
2.3 ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
2.4 Microceimate regulation
2.5
แหล่งกำบังลมพายุ
  1. มูลค่าเพื่อจะใช้ประโยชน์ในอนาคต (option value)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้ในอนาคต คือ 1.1 – 1.3 และ/หรือ 2.1 – 2.5
  1. มูลค่าจากการใช้ (use value)
= 1+2+3
  1. คุณค่าที่เกิดจากการคงอยู่ (existence value)
ความพอใจที่ “ ป่า “ นั้นคงอยู่ตลอดไป
  1. คุณค่าเกิดจากการไม่ได้ใช้แต่เก็บไว้ให้ลูกหลาน (bequest value)
ความพอใจที่ “ ป่า “ นั้นคงอยู่เพื่อให้รุ่นลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต
  1. คุณค่าที่เกิดจากการไม่ได้ใช้ (non – use value)
= 5+6
  1. มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของป่าอนุรักษ์ (economic value)
= (1+2+3) +(5+6)
= 4+7
          คุณค่าทั้งหมดของทรัพยากรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะได้จากการรวม มูลค่าที่ได้จากการประเมินค่าของกลุ่มผู้ใช้และผู้มิได้ใช้ โดยกลุ่มผู้ใช้ประกอบด้วย ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชนและประชาชนทั่วไปที่เคยเข้าใช้พื้นที่ ส่วนกลุ่มผู้มิได้ใช้ หมายถึง ประชาชนชาวไทยทั่วไปที่ไม่เคยเข้าไปในพื้นที่ ฯลฯ การศึกษาวิจัยในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า คุณค่าของทรัพยากรเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สามารถคิดเป็นมูลค่ารวม = 28,430,330,000 บาท/ปี
ผู้ให้คุณค่า
ประเภทของคุณค่าทรัพยากร
คุณค่าที่ให้
(ล้านบาท/ปี)
คุณค่าจากการใช้ประโยชน์
คุณค่าจากการมิได้ใช้ประโยชน์
ทางตรง
ทางอ้อม
ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชนชนจำนวน 2,524 ครัวเรือน
a
-
a *
9.08
ประชาชนทั่วไปที่เคยเข้าใช้พื้นที่จำนวน 23,000 คน
a
a
a
38.25
ประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยเข้าไปใช้พื้นที่จำนวน 60 ล้านคน
-
-
a
28,383.00
รวม
28,430.33
ที่มา : จากการคำนวณ
หมายเหตุ *คุณค่าที่ได้ในส่วนนี้ถือว่าได้มาจากการรวมประชาชนที่อาศัยอยู่จำนวณแนวกันชนไว้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนจำนวน 60 ล้านคน
เอกสารอ้างอิง
สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ และศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2541) . โครงการประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรณีศึกษาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

มูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล

มูลค่าทรัพยากรทางทะเล 
 
 เป็นการคิดมูลค่าโดยดัดแปลงจากเทคนิคการคิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทรัพยากรทั่วไป(ที่มา : ประวีณ ลิมปสายชล. 2546.  การประเมินมูลค่าทรัพยากรทางทะเล วิธีการและกรณีศึกษา. เอกสารเผยแพร่ ลำดับที่ 3. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรุงเทพฯ.)  โดยมี 2 ลักษณะ คือ
 
  • การคิดมูลค่าทรัพยากรทางทะเลโดยตรง หมายถึง ทรัพยากรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตซึ่งเป็นผลผลิตหรือบริการที่มีราคาใน ตลาดโดยตรง สามารถนำรายได้ไปประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น การประเมินมูลค่าแหล่งหญ้าทะเลจากผลผลิตสัตว์น้ำ กล่าวคือ จากข้อมูลการศึกษาวิจัยแหล่งหญ้าทะเลพบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีระบบนิเวศอันเป็น ที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสัตว์น้ำหลากหลายชนิดอย่างอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น จึงสามารถใช้ปริมาณและรายได้จากการจับสัตว์น้ำนั้นมาประเมินเป็นมูลค่าของ แหล่งหญ้าทะเลนั้นๆ ได้ นอกจากนี้การประเมินมูลค่าทรัพยากรทางทะเลโดยตรง ยังสามารถนำรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมนันทนาการหรือการท่องเที่ยวมาคิดเป็น มูลค่าของทรัพยากร เช่น หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยพื้นที่ปะการังประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวที่คิดจากค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าทำกิจกรรมอื่นๆ ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมปะการังที่หาดป่าตอง จึงเป็นมูลค่าของปะการังและชายหาดของหาดป่าตอง

  • การคิดมูลค่าทรัพยากรทางทะเลโดยอ้อม เป็นการมุ่งประเมินแบบบูรณาการของมูลค่าทางระบบนิเวศโดยเน้นทางด้านสิ่งแวด ล้อมและชีววิทยา ซึ่งไม่มีราคาโดยตรงทางการตลาด แต่มีวิธีการประเมินเพื่อสะท้อนมูลค่าออกมา ที่นิยมใช้มีอยู่ด้วยกัน 6 วิธี คือ
    1. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลโดยการเทียบเคียงราคาผ่านตลาด (Market based technique) เป็นการประเมินมูลค่าสินค้าใดๆ ที่ไม่ได้ซื้อขายในตลาดโดยตรง เพียงแต่ใช้ราคาในตลาดเป็นตัวกลางในการเทียบเคียง เช่น แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด จึงสามารถเทียบเคียงมูลค่าสัตว์น้ำในแนวปะการังที่ไม่ได้ทำการประมงโดยตรง แต่ใช้ข้อมูลชนิดและปริมาณเทียบเคียงกับราคาในตลาด เพื่อสะท้อนให้เห็นมูลค่าแนวปะการังด้านความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในการ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ  กรณีตัวอย่างเช่น การคำนวณหามูลค่าทั่วไปของแนวปะการังโดยรวมของจังหวัดภูเก็ต โดยอาศัยผลการวิจัยทรัพยากรปลาเศรษฐกิจในแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามัน และผลงานวิจัยโครงสร้างประชากรปลาในแนวปะการังจังหวัดภูเก็ต ได้มูลค่าปลาเศรษฐกิจและมูลค่าปลาสวยงามในแนวปะการังต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร มีค่าเท่ากับ 19,679.9 บาท จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่แนวปะการังรวม 11 ตารางกิโลเมตร จึงมีมูลค่าตัวทรัพยากรแนวปะการังด้านความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำประเมิน ได้อย่างน้อยเท่ากับ 196.8 ล้านบาท เป็นต้น
    2. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลโดยการเทียบเคียงส่วนเพิ่มผลผลิต (Marginal effect on production) มี 2 แบบ คือ การเทียบเคียงผลผลิตโดยตรงลดลง ตามหลักการที่ว่า หากระบบนิเวศถูกกระทบกระเทือนผลผลิตจะลดลง และทำให้มูลค่าผ่านตลาดลดลงด้วย อีกแบบคือการเทียบเคียงทางผลผลิตชีวภาพ ทรัพยากรบางชนิดอาจไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในด้านการใช้บริโภค แต่มีคุณค่ามหาศาลด้านอุตสาหกรรมทางชีวภาพ เช่น ใช้สกัดสารเคมีที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์บางอย่าง และใช้ทดแทนสารเคมีบางชนิดได้ ดังนั้น จึงสามารถใช้ราคาของสารเคมีที่ถูกทดแทนนั้นเป็นตัวบอกมูลค่าของทรัพยากรได้
    3. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลโดยการเทียบเคียงกับการลงทุน (Cost-based technique) เป็นวิธีการประเมินมูลค่าทรัพยากรจากการใช้หลักการสละผลประโยชน์ที่ควรจะได้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ มี 3 ลักษณะ คือ การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากการเสียโอกาส การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากการลงทุนในเชิงป้องกัน (Preventive cost) และการลงทุนทดแทน (Replacement cost)
    4. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลด้วยวิธีการสำรวจด้านการใช้ประโยชน์ (Contingent Valuation Method: CVM) เป็นวิธีการประเมินมูลค่าโดยทางอ้อม ใช้พื้นฐานการวิจัยโดยการสอบถามผู้ใช้ทรัพยากรว่าเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to pay: WTP) หรือเต็มใจที่จะรับการชดเชย (Willingness to accept: WTA) ในการใช้ทรัพยากรและให้คงอยู่ตลอดไป วิธีนี้ใช้หลักการประเมินสถานการณ์ซึ่งสมมุติให้ทรัพยากรมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสถานการณ์สมมุติที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในงานวิจัยที่มีการศึกษาเรื่องการประเมินมูลค่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    5. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลด้านนันทนาการหรือการท่องเที่ยว (Travel Cost Method: TCM) แนวคิดของวิธีการนี้คือ ทรัพยากรให้คุณประโยชน์ในทางนันทนาการแก่ผู้เดินทางซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเกิด ขึ้นระหว่างการเดินทาง ฉะนั้น จึงนำค่าใช้จ่ายและค่าเวลาที่สูญเสียไปในการเดินทางเป็นตัวแทนของราคา
    6. การประเมินมูลค่าทรัพยากร โดยวิธีประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Hedonic Price Method: HPM) เป็นการประเมินมูลค่าทรัพยากรผ่านตลาดขึ้นกับองค์ประกอบของทรัพยากรโดยเน้น การบริการด้านคุณภาพสภาพแวดล้อม เช่น ความสวยงามของภูมิทัศน์ อากาศบริสุทธิ์ และอื่นๆ ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะมีผลต่อความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ใช้ ทรัพยากร

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วันประชากรโลก (World Population Day)

        จากจำนวนสถิติของประชากรทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวด เร็วก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ภายในศตวรรษหน้าประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกราว ๑ พันล้าน (ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรประมาณ ๕.๕ พันล้าน) และกว่าร้อยละ ๕๐ ของจำนวนที่เพิ่มขึ้น จะแออัดอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศแถบเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา   
          องค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดให้วันที่ ๑๑ กรกฎาคม เป็น วันประชากรโลก โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชากรของโลกเป็นผู้รับผิดชอบ ได้แก่ กองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Fund for Population Activities)  หรือชื่อย่อว่า UNFPA ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก กองทุนนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.ศ.๒๕๑๒ โดยได้รับงบประมาณจากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก อังกฤษ แคนาดาสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และออสเตรเลีย    

 กองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาชาติ
          วัตถุประสงค์ของการตั้งกองทุนฯ ก็เพื่อให้ความช่วยเหลือทุกประเทศในโลก ตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาเกี่ยวกับการวางแผนประชากรและการวางแผนครอบครัว สร้างความตื่นตัวในเรื่องปัญหาประชากรและการหาวิธีแก้ไขโดยมีแนวคิดว่า 
          ๑. การดูแลควบคุมอัตราการเพิ่มประชากร จะมีผลในการเฉลี่ยแบ่งปันอาหาร น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน การศึกษา การจ้างงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้ด้อยโอกาสได้ดีกว่าการปล่อยให้ประชากรเพิ่มสูง ขึ้น 
          ๒.การจำกัดหรือควบคุมอัตราการเพิ่มของประชากรให้สมดุลกับการพัฒนาของประเทศ จะช่วยลดความรุนแรงเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
          ๓. การชะลอความแออัดในเมือง เพื่อไม่ให้ประชากรล้นเมืองเร็วเกินไป จะมีผลดีกว่าในแง่ของการพัฒนาทั้งในเขตเมืองและชนบท
          ๔. การให้การศึกษาแก่เด็กหญิงและสตรีอย่างทั่วถึง จะช่วยให้เด็กหญิงและสตรีรู้วิธีดูแลสุขภาพของตนเอง และสมาชิกครอบครัวดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้การวางแผนครอบครัวดีขึ้น
          ๕. การมีครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง จะช่วยให้การจัดการศึกษา การดูแลให้บริการด้านสุขอนามัย การพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
          ๖. การวางแผนครอบครัว ควรมีความหมายครอบคลุมถึงถึงการมีสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัว นอกเหนือจากความหมายด้านคุมกำเนิดเพียงด้านเดียว

          เป้าหมายของกองทุนฯ ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นวิธีการใดๆ ก็ตามที่สอดคล้องกับแนวคิดต่างๆ ข้างต้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ทุกประเทศรณรงค์ส่งเสริมสถานภาพของสตรีในทุกๆด้าน เพราะสตรีเป็นกุญแจสำคัญในการลดอัตราการเพิ่มของประชากรได้อย่างมี ประสิทธิภาพที่สุด ในประเทศที่กำลังพัฒนา จะพบว่าอัตราการไม่รู้หนังสือของสตรีมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมากกับการมีลูก มาก เพราะทำให้ผู้หญิงขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันตนเองจากการตั้งครรภ์ไม่ พึงประสงค์ ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่มีทางเป็นไปได้หากประชากรครึ่งหนึ่งของโลก ที่เป็น ผู้หญิงไม่ได้รับการดูแลให้การศึกษาเท่ากับผู้ชายในทุกๆ ด้าน เพราะการศึกษาจะช่วยให้ผู้หญิงได้ดูแลตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพของสังคม
          ในวันประชากรโลก หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดกลุ่มศึกษา จัดประชุมสัมนา ประกวดบทความ เรียงความ หรือจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องประชากร เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการควบคุมดูแลอัตราการเพิ่มประชากรโลกให้น้อยลง


ข้อมูลจาก  www.lib.ru.ac.th