มูลค่าต้นไม้: แนวคิด และการประเมินค่า
ผู้ช่วยศาสตรจารย์กัลยาณี พรพิเนตพงศ์
บทนำ
คุณค่าที่แต่ละบุคคลให้กับต้นไม้จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก บางคนให้ค่าต่ำ ในขณะที่บางคนให้ค่าสูงกว่า
ถึงสูงกว่ามาก
เนื่องจากต้นไม้ให้คุณประโยชน์ทั้งทางตรงเช่น เนื้อไม้ ดอก และผล
และทางอ้อม เช่น การช่วยลดอุณหภูมิ การช่วยให้นิเวศสมดุลย์ ผู้ที่ให้ค่าต้นไม้ต่ำเกิดจากการพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นการใช้ประโยชน์โดยตรง ผู้ที่ให้ค่าสูงจะเกิดจากการพิจารณาถึงประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมร่วมด้วย การพิจารณาคุณค่าของต้นไม้ด้วยความลึกซึ้งในการใช้ประโยชน์ครบถ้วนมากเท่าใดก็จะให้คุณค่าสูง
บางคนให้คุณค่าต้นไม้สูงถึงแม้ตนเองจะไม่ได้ใช้ประโยชน์โดดยตรงแต่เห็นคุณค่าที่สังคมโดยรวมจะได้รับ ความแตกต่างของการให้ค่านี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลและประสบการณ์ตรงส่วนบุคคลในอดีตด้วย
มูลค่าต้นไม้ส่วนที่นักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจมากคือส่วนที่เป็นคุณประโยชน์ทางอ้อม(Indirect
use value) และส่วนที่เป็นคุณค่าแม้จะไม่ได้เกิดจากการใช้
(Passive use value) ว่ามีมากน้อยเพียงใด
และจะวัดได้ด้วยวิธีใดเพื่อให้ได้ค่าที่แท้จริง ตัวอย่างรูปธรรมของประโยชน์ทางอ้อมจากต้นไม้เช่น
ต้นไม้ช่วยให้อุณหภูมิเย็นลง
ส่งผลต่อการประหยัดพลังงาน
จากการตรวจวัดพื้นที่ 200 ตารางวามีต้นไม้คลุมพื้นที่ร้อยละ
30 การดูดความร้อนเพื่อใช้ในการคายน้ำทำให้อุณหภูมิลดลงคิดเป็นค่าความร้อน
1.2 ล้านกิโลกรัม-แคลอรีต่อวัน ซึ่งเทียบได้กับเครื่องปรับอากาศสำหรับบ้านขนาดกลางที่เปิดใช้ตลอด
24 ชั่วโมง
และจากการสำรวจพบว่าอุณหภูมิใจกลางกรุงเทพฯ
จะสูงกว่าบริเวณชานเมืองที่มีต้นไม้ปกคลุมมากกว่าเฉลี่ย 4-6 0C
(เดชา, 2543)
ประโยชน์ทางอ้อมที่ต้นไม้ให้คุณอนันต์อีกด้านหนึ่งคือการให้
O2 และการดูด CO2 จากกระบวนการสังเคราะห์แสง ร้อยละ
30 ของปริมาณ O2 ของโลกได้มาจากต้นไม้บนบก และอีกร้อยละ 70 ได้มาจากสาหร่ายในทะเล การเผาไหม้ในกระบวนการต่างๆทำให้ O2
ถูกใช้ไป กลายเป็น CO2 เกิดขึ้นในบรรยากาศ ในปี 2504 ปริมาณ CO2
ในอากาศมีเท่ากับ 239 สลส.(ส่วนต่อล้านส่วน) ปริมาณ CO2 เพิ่มขึ้นเป็น 319 สลส.ปี 2543
ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการเพิ่มขึ้นของ CO2
เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก
และวิธีแก้ไขภาวะเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการเพิ่มปริมาณต้นไม้ (เดชา, 2543) จากการศึกษาความสามารถในการดูดคาร์บอนของต้นประดู่ที่บริเวณรีมถนนที่สวนจตุจักร
สวนลุมพีนี สีลม และลาดพร้าว
พบว่าต้นประดู่สามารถดูดซับ CO2 ได้ระหว่าง
1.19 – 1.76 กรัม/ตารางเมตร/ชั่งโมง (ลดาวัลย์, 2540 อ้างถึงใน
เดชา, 2543) และจากการศึกษาปริมาณผลผลิต
O2 จากไม้ยืนต้นอายุ 5 ปี
จะให้ O2 แก่บรรยากาศคิดเป็นมูลค่ารวมถึง $31,250
(Das, n.d.) ประโยชน์ทางอ้อมของต้นไม้ดังกล่าวนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ส่วนที่มีความซับซ้อนและมีความสำคัญมากคือคุณค่าต่อดุลยภาพทางนิเวศของสิ่งมีชิวิตต่างๆ คุณค่าต่อมนุษย์ด้านสุนทรียภาพ
และในบางพื้นที่ต้นไม้ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์รวมอยู่ด้วย
ประโยชน์ทางอ้อมของต้นไม้ที่มีมูลค่ามากมายนี้นำมาสู่ความคิดเห็นที่ต่างกันไปตามระดับข้อมูลที่ได้รับและการให้ความสำคัญของแต่ละบุคคล
บ่อยครั้งเป็นเหตุให้เกิดความเห็นที่แตกต่างและความขัดแย้งเมื่อการขยายตัวของเมืองและการขยายตัวของสิ่งก่อสร้างจนส่งผลต่อดุลยภาพการคงอยู่ของพื้นที่สีเขียว
ปรากฏการความขัดแย้งนี้มักเกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา
เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วจะอยู่ในช่วงของการโหยหาฟิ้นฟูพื้นที่สีเขียวเนื่องจากได้สูญเสียไปแล้วดังจะเห็นได้จากการลงทุนมหาศาลในการปลูกป่าของประเทศญี่ปุ่น
การพยายามช่วยกันปลูกป่าของชาวประมงที่..
ประเทศญี่ปุ่นเพื่อคืนความสมบูรณ์ให้แม่น้ำซึ่งสืบเนื่องถึงความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในทะเล(…
) และการลงทุนในพื้นที่สีเขียวรวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อรักษาดุลยภาพของป่าธรรมชาติไว้ให้ชุมชนเช่น
Fisher view ผืนป่าอนุรักษ์ของท้องถิ่น และTrustom Pond ผืนป่าชายหาดของท้องถิ่น ทั้งสองแห่งนี้อยู่ในรัฐ Rhode Island ประเทศสหรัฐอเมริกา
การรณรงค์ให้เยาวชนตระหนักในความสำคัญของต้นไม้อย่างต่อเนื่องโดยการให้ข้อมูลในสวนสัตว์ การรักษาผืนป่าธรรมชาติไว้กลางเมืองเพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติและการนันทนาการในประเทศสิงคโปร์
แนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าทรัพยากร กรณีมูลค่าต้นไม้ที่นำเสนอในที่นี้ เป็นการเสนอวิธีการวิเคราะห์คุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ของทรัพยากร และวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินค่าทรัพยากรโดยใช้ต้นไม้เป็นกรณีศึกษา โดยมีความมุ่งหวังว่าจะเป็นความรู้เบื้องต้นในด้านมูลค่าทรัพยากรในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ต่อผู้สนใจทั่วไป
มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value)
ทรัพยากรที่มีในธรรมชาติจะดำรงอยู่ร่วมกันในฐานะของการเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับที่เกื้อกูลกันภายใต้ดุลยภาพระดับต่างๆ
เช่น การที่ต้นไม้ให้ผลผลิตแก่มนุษย์และสัตว์ได้ใช้ประโยชน์โดยตรงในรูปของอาหาร ยา
ที่อยู่อาศัย
และให้คุณประโยชน์ทางอ้อมเช่น การคายออกซิเจน ดูดคาร์บอนไดออกไซด์
และดูดความร้อนในกระบวนการสังเคราะห์แสง
ซึ่งสร้างความสดชื่นในบรรยากาศ ฯลฯ
ในด้านการเป็นผู้รับของต้นไม้เช่น การที่แมลง
และนกที่อาศัยต้นไม้ช่วยในการขยายพันธุ์
สัตว์ที่ใช้ต้นไม้เป็นที่อยู่อาศัยให้มูลที่เป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้ ฯลฯ
และมนุษย์ยังใช้ประโยชน์จากสัตว์อีกทอดหนึ่งในรูปของการนันทนาการเช่น
การส่องสัตว์
รวมถึงการใช้เนื้อสัตว์เป็นอาหาร
การประเมินค่าทรัพยากรเช่นในกรณีของการประเมินค่าต้นไม้นั้น ถึงแม้ต้นไม้จะให้คุณค่ากับสิ่งมีชีวิตต่างๆมากมาย
แต่ในการวัดคุณค่านั้นจะวัดโดยอ้างอิงจากคุณค่าที่มนุษย์ได้รับทั้งส่วนที่เป็นคุณค่าทางตรง
คุณค่าทางอ้อม
รวมทั้งคุณค่าส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ (Non-use Value หรือ
Passive-use Value) ด้วยเทคนิคที่เหมาะสม คำถามที่มักจะเกิดขึ้นคือคุณค่าส่วนที่ยังไม่ได้ใช้มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด
เหตุใดจึงต้องนับรวมไว้ด้วย
ตัวอย่างคุณค่าส่วนที่ยังไม่ได้ใช้เช่น
คนกรุงเทพฯจะมีความพึงพอใจเมื่อทราบว่าต้นกร่างใหญ่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเกาะรัตนโกสินทร์
(เดชา, 25..)ได้รับการดูรักษาไว้ความพึงพอใจที่เกิดขึ้นนี้เป็นคุณค่าถึงแม้ตนเองไม่ได้ใช้ประโยชน์
Freeman, (1993) ได้กล่าวถึงความสำคัญของ
Passive-use Value ไว้ว่า “นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับใน
Passive-use Value และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้เชื่อว่ามูลค่ารวมส่วนที่เป็น
Passive-use Valueในทรัพยากรจะมีในสัดส่วนที่มาก ดังนั้นการตัดสินใจโดยละเลย Passive-use
Value จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมากและเกิดการจัดการทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม”
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินค่า
ในการวัดคุณค่าของทรัพยากรนั้นในทางเศรษฐศาสตร์จะใช้การเปลี่ยนแปลงความผาสุขของคน
(human well-being)เป็นเกณฑ์ในการวัด
ดังนั้นความพึงพอใจที่เกิดขึ้นจากการบริโภคทรัพยากรทั้งโดยตรงและโดยอ้อมรวมถึงความพอใจแม้จะไม่ได้เกิดจากการบริโภคทรัพยากร
(Passive-use Value) จึงได้รับการพิจารณา
การประมาณค่าทรัพยากรโดยวัดจากความผาสุขนี้เป็นความท้าทายต่อนักเศรษฐศาสตร์อย่างยิ่งในการให้คำจำกัดความและการวัดค่าความผาสุขออกมาในลักษณะที่เป็นหน่วยนับเพื่อประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เปลี่ยบเทียบ โดยพื้นฐานแล้วจะใช้หลักการของการวัดสวัสดีการทางเศรษฐกิจในการบริโภคสินค้าและบริการ
ในกรณีที่เป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรโดยตรง
และใช้เทคนิคการสะท้อนค่าในส่วนของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางอ้อม ในส่วนของ Passive-use Value สามารภทำได้โดยการสร้างสถานการณ์สมมติเพื่อค้นหาค่าความยินดีจ่ายเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในส่วนนี้ ซึ่งเป็นเทคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนสูง
หน่วยนับที่ใช้ในการวัดค่านั้นจะใช้เงินเป็นหน่วยนับ ดังนั้นคุณค่าของทรัพยากรที่แปลงเป็นเงินนี้จึงใช้ในนามของ”มูลค่า” อย่างไรก็ตามการใช้เงินเป็นหน่วยนับนี้เป็นเพียงเพื่อความสะดวกในการนำผลไปวิเคราะห์เปลียบเทียบกับสิ่งอื่นได้เท่านั้น
ประเภทของมูลค่าทรัพยากร
เนื่องจากทรัพยากรชนิดหนึ่งจะให้คุณค่าในหลายลักษณะพร้อมกัน ดังนั้นเพื่อสะดวกในการประเมินค่า
นักเศรษฐศาสตร์จึงนิยมจัดประเภทของคุณค่าออกเป็นกลุ่มตามลักษณะการใช้ประโยชน์ดังนี้ (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 มูลค่ารวมทางเศรษฐศาสตร์ (Total Economic Value: TEV)
ที่มา : ปรับปรุงจาก Bateman, Ian J, et al., 2002 หน้า 29.
Use Value หมายถึงคุณค่าการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นรูปธรรม
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
-
Direct Use Value เป็นคุณค่าการใช้ประโยชน์โดยตรงของมนุษย์ในฐานะผู้บริโภค เช่น
การพิจารณาคุณค่าของต้นไม้ส่วนที่เป็นการใช้ประโยชน์ทางตรงได้แก่
การใช้ประโยชน์เนื้อไม้ในกรณีต่างๆ การใช้ประโยชน์จากใบ ดอก และผลไม้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในด้านการผักผ่อนหย่อนใจ
(recreation value)
-
Indirect Use Value[1] เป็นคุณค่าส่วนที่มนุษย์ใช้ประโยชน์โดยอ้อมเนื่องจากทรัพยการนั้นเป็นปัจจัยการผลิตทำให้เกิดผลผลิตอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ เช่น การดูดซับความร้อนและการปล่อย O2
เนื่องจากการสังเคราะห์แสงของพืช
ความชุ่มชื่นในอากาศจากการคายน้ำของพืช
การเสริมสร้างระบบนิเวศที่สมดุลทางธรรมชาติ
-
Option Value เป็นคุณค่าส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน แต่คิดว่ามีโอกาสใช้ในอนาคต
ดังนั้นการอนุรักษ์ไว้เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถได้ใช้ประโยชน์ในอนาคตเมื่อต้องการ
Passive-use Value หรือ Non – use Value เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการที่ทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมนั้นได้ให้ความรู้สึกที่ดีต่อมนุษย์เมื่อได้ทราบว่าสิ่งนั้นยังอยู่ในสภาพที่ดีถึงแม้จะยังไม่เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม มูลค่าในส่วนนี้มีสองลักษณะคือ
-
Existence Value เป็นมูลค่าที่เกิดเมื่อได้ทราบว่าทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่ในสภาพที่ดี
เช่น
ความรู้สึกที่ดีของศิษย์เก่าที่ทราบว่าสวนป่าในมหาวิทยาลัยยังคงอยู่ถึงแม้ปัจจุบันตนเองไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว
ความรู้สึกที่ดีที่ทราบว่าพะยูนที่ชายฝั่งอันดามันของไทยยังมีอยู่ เป็นต้น
-
For Other Value เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นเพื่อผู้อื่น
เช่น Altruistic Value ซึ่งหมายถึงมูลค่าที่เกิดจากความรู้สึกที่ดีที่จะรักษาทรัพยากรนั้นไว้เพื่อชุมชนหรือเพื่อสังคมถึงแม้ตนเองจะไม่ได้ใช้ และ Bequest Value เป็นมูลค่าที่เกิดจากความต้องการเก็บรักษาไว้เป็นมรดกสำหรับลูกหลาน
เช่นการที่นักศึกษา มอ.ต้องการอนุรักษ์ต้นไม้ไว้เพื่อให้นักศึกษารุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์
การประเมินค่า
เนื่องการมูลค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆประกอบด้วยมูลค่าในลักษณะต่างๆดังกล่าวข้างต้น
ในการประเมินค่าจึงทำได้โดยการประเมินค่าส่วนต่างๆ ออกมา และเนื่องจากมูลค่าเหล่านี้จะวัดจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
ดังนั้นการประเมินค่าจึงนิยมใช้หน่วยนับเป็นจำนวนเงินต่อคน
และมูลค่ารวมทั้งหมดของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ศึกษาจะหาได้โดยการรวมมูลค่าการใช้ประโยชน์ประเภทต่างๆของทุกๆคนในสังคมที่อยู่ในขอบเขตของการประเมิน (การใช้หน่วยนับเป็นเงินในที่นี้เพื่อสะดวกต่อการนำผลไปใช้ประกอบการตัดสินใจในกรณีต่างๆ)
การประเมินที่สามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยากส่วนใหญ่คือมูลค่าในส่วนที่เป็นการใช้ประโยชน์โดยตรง
เพราะสามารถประเมินได้จากมูลค่าที่มีการซื้อขายในตลาด แต่จะพบว่ามูลค่าในหลายๆประเภทไม่ได้ผ่านระบบตลาดโดยตรง
เช่น มูลค่าในด้านนันทนาการ
หรือการเสริมสร้างความสมดุลของระบบนิเวศของต้นไม้
ดังนั้นในการประเมินค่ารวมของทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมนั้นจึงทำได้ด้วยเทคนิดต่างๆหลายวิธีโดยอาจจะใช้ร่วมกันหรือเลือกใช้ในบางวิธีเพื่อให้ได้ค่าที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดต่างๆในแต่ละสถานการณ์ สำหรับเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปนั้น Freeman,
(1993) ได้นำเสนอไว้ดังตารางที่ 1
ตารางที่
1
วิธีการประเมินค่าแบบต่าง
value
|
observed
behavior
|
hypothetical
|
others
|
Direct
Use Value
|
direct observed
-
competitive market price
-
simulated markets
|
direct hypothetical
-
willingness to pay question
|
-
benefit transfer
|
Indirect
Use Value
|
indirect observed
-
travel cost method (TCM)
-
hedonic property values
-
avoidance expenditures
|
indirect hypothetical
-
contingent valuation method (CVM)
|
-
benefit transfer
|
Option
Value
|
|
indirect hypothetical
-
contingent valuation method (CVM)
|
-
benefit transfer
|
Passive-use
Value
|
|
indirect hypothetical
-
contingent valuation method (CVM)
|
-
benefit transfer
|
ที่มา
:
ปรับปรุงจาก Freeman, 1993. หน้า 24
ตัวอย่างผลการศึกษาที่เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพยากรในประเทศไทยเช่น
การประเมินมูลค่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีเนื้อที่รวม 1,355,397
ไร่ โดย ใช้ TCM ประเมินมูลค่าด้านนันทนาการ และใช้ CVM ประเมินมูลค่าส่วนที่เป็น Passive-use Value ผลการศึกษาได้มูลค่ารวมกันเท่ากับ
3,080 ล้านบาท/ปี (TDRI &
HIID, 1996 อ้างถึงใน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย,
2543)
การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี
2542 ได้ประเมินมูลค่าป่าไม้ในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นซึ่งเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมจำนวน
4,000ไร่ โดยประเมินค่า Use Value สามส่วนคือ
1) มูลค่าจากผลผลิตจากป่าสำหรับชุมชน 2) การเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน 3) การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และประเมินค่า Passive-use Value โดยใช้ CVM ผลการศึกษามูลค่าปัจจุบันของอุทยานแห่งชาติแม่ยมมีค่าระหว่าง
3,800-6,400 ล้านบาท (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย,
2543)
อีกการศึกษาหนึ่งคือการประเมินมูลค่าทรัพยากรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข็งเนื้อที่
1.7 ล้านไร่ โดยกรมป่าไม้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี 2541
การศึกษาใช้ Market Valuation ประเมินค่า Use
Value ของพื้นที่ที่ศึกษาได้เท่ากับ 38 ล้านบาท/ปี และใช้ CVM ประเมินค่า Passive-use Value ในพื้นที่เดียวกันได้ 28,383
ล้านบาท/ปี (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย,
2543) สิ่งที่น่าสังเกตคือ Passive-use
Value มีค่าสูงกว่า Use Value ถึงกว่า 700
เท่า
เนื่องจากเทคนิคต่างๆที่ใช้ในการประเมินค่าทรัพยากรดังกล่าวข้างต้นนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาและดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบโดยเฉพาะการศึกษามูลค่าของต้นไม้เพราะต้นไม้มีมูลค่าส่วนที่เป็น Indirect Use Value และ Passive-use Value ในสัดส่วนที่สูงมาก การประเมินค่าต้นไม้บริเวณสวนป่าในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ตรงข้ามคณะศิลปศาสตร์) ภายในเวลาที่จำกัดนี้จึงเลือกใช้วิธี benefit transfer คือการนำผลการศึกษาจากแหล่งอื่นที่มีความใกล้เคียงกับแหล่งที่ทำการศึกษา และทำการปรับค่าภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผลตามหลักการ เพื่อประเมินมูลค่าที่ต้องการ
วิธีการประเมินที่น่าสนใจปรับใช้ในที่นี้คือการใช้สูตรประมูลค่าลำต้น
โดยสมัชชาผู้ประเมินต้นไม้และภูมิทัศน์ (The Council of Tree and Landscape
Appraisers) ของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งป็นวิธีที่เคยใชในการประเมินต้นกร่างใหญ่ของมหาวิทยาลัยศิลปกรที่วังท่าพระ
การประเมินค่าโดยใช้สูตรประมูลค่าลำต้นนี้ทำได้โดยใช้มูลค่าพื้นฐานต่อพื้นที่หน้าตัด
(ตารางเซนติเมตร)ที่ลำต้นส่วนล่างซึ่งศึกษาโดยสมัชชาผู้ประเมินต้นไม้และภูมิทัศน์
กำหนดไว้ที่ $27 ต่อตารางนิ้ว หรือ 150 บาท/ ต่อตารางเซนติเมตร และปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ
คูณด้วยร้อยละของชนิดต้นไม้ ตำแหน่งที่ขึ้น และสภาพของต้นไม้ (เดชา, 2543)
การประเมินค่าต้นไม้บริเวณสวนป่าในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นี้จะใช้แนวคิดเดียวกับสูตรประมูลค่าลำต้นโดยใช้มูลค่าพื้นฐานต่อพื้นที่หน้าตัด
(ตารางเซนติเมตร) จากสมัชชาผู้ประเมินต้นไม้และภูมิทัศน์และปรับค่าด้วยดัชนีทางเศรษฐกิจเพื่อให้ได้ค่าที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันของไทย
จากนั้นปรับค่าด้วยร้อยละของมูลค่าต้นไม้ตามองค์ประกอบที่แสดงไว้ในภาพที่ 1
ดังนี้
สูตรประมูลค่าลำต้น
:
V = B x
T x P x C x Ec x En x Ea x Ew x S x N
V
= มูลค่าประมาณของต้นไม้
B
= มูลค่าพื้นฐานต่อพื้นที่หน้าตัด
(ตารางเซนติเมตร)ที่ลำต้นส่วนล่าง
(205 บาท/ cm2 ซึ่งปรับจาก$27 ต่อตารางนิ้ว ในปี 2541 และปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยปีละ
3 %)
T
= ร้อยละของคุณค่าชนิดต้นไม้
(มีค่ามาก = 120%, ธรรมดา =100%,
ดาษดื่น = 80%)
P
= ร้อยละของมูลค่าตำแหน่งที่ขึ้น
C
= ร้อยละของสภาพความสมบูรณ์ของต้นไม้
(ดีมาก = 100%, ดี = 80%, ปานกลาง
= 50%, แย่ = 30%, ตาย = 10%)
Ec
= ร้อยละที่เป็นคุณค่าทางนิเวศ
(การเป็นที่อยู่อาศัย การเป็นเส้นทางอพยพของสัตว์)
En
= ร้อยละที่เป็นคุณค่าในด้านการลดอุณหภูมิ การประหยัดพลังงาน
Ea
= ร้อยละที่เป็นคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมทางอากาศ
(การปล่อย O2 และดูดCO2
การกรองฝุ่นและมลพิษในอากาศ
การดูดสารพิษโลหะหนัก)
Ew
= ร้อยละที่เป็นคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมทางน้ำ
(การดูดซับและชะลอการไหลของน้ำ
การชะล้างของดิน)
S
= ร้อยละที่เป็นคุณค่าด้านนันทนาการ
และสุนทรียภาพ
N
= ร้อยละที่เป็นคุณค่าของการคงอยู่
ผลการประเมิน
เนื่องจากกองอาคารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แจ้งว่าต้นไม้ใหญ่ที่จะถูกตัดโค่นในระหว่างการก่อสร้างอาคารศูนย์ทรัพยากรและการเรียนรู้จำนวน
29 ต้น
และจากการประเมินจากนักนิเวศวิทยาซึ่งระบุว่าจะสูญเสียไม้ใหญ่โดยรอบอาคารภายหลังก่อสร้างสมบูรณ์อีกรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า
58 ต้น
จากการประเมินเบื้องต้นโดยใช้ใช้สูตรประมูลค่าลำต้นดังกล่าวข้างต้นพบว่าการสูญเสียต้นไม้ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า
184,921,116.52
บาท ซึ่งค่าประเมินนี้เป็นมูลค่าต่ำสุดของการสูญเสีย
เอกสารอ้างอิง
เดชา
บุณค้ำ.
2543. ต้นไม้ใหญ่ในการก่อสร้างและพัฒนาเมือง. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. 2543. การศึกษาพัฒนาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้าน
เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เสนอต่อ
สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (รายงานฉบับสมบูรณ์).
Bateman,
Ian J, et al., 2002. Economic Valuation with Stated Preference Techniques: A
Manual. Cheltenham: Edward Elgar.
Das,
T.M., n.d. A tree is worth. (Poster) Singapore Zoological Gardens.
Freeman III, A.M. (1993). The measurement of
environmental and resource values: theory
and methods. Washington D.C.:
Resource for the Future.
[1]
มูลค่าของต้นไม้ส่วนที่เป็น Indirect Use Value ประกอบด้วย 1) การลดความร้อน/การอนุรักษ์พลังงาน
2) การกรองฝุ่นและมลพิษในอากาศ 3) การปล่อยออกซิเจน
และดูด CO2 4) การดูดโลหะหนัก 5) การลดความเร็วลม 6) การรดเสียงรบกวน 7) การควบคุมการชะล้างของดินและชะลอการไหลของน้ำ 8) การเสริมสร้างระบบนิเวศ
และ 9) การบรรเทาไอเค็มทางทะเล(ในบางพื้นที่)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น