วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คิดใหม่ เรื่องการแก้ปัญหาความอับจน (ความยากจน)


คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ  โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร  มติชรายวัน วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10049
ผู้วางนโยบายของรัฐบาล นักเศรษฐศาสตร์ และแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศที่ชูประเด็นแก้ปัญหาความยากจน มักเน้นไปที่ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มรายได้ที่เป็นตัวเงินให้กับคนจน แต่การมีรายได้ที่เป็นเงินสดเพิ่มขึ้นสถานเดียว อาจไม่ได้หมายความถึงคุณภาพชีวิตที่ดี หรือการมีเสรีภาพที่จะเลือกชีวิตที่ต้องการ
การมองความยากจน เป็นประเด็นเรื่องความอับจน คือภาวะที่ขาดความสามารถ ความไร้สิทธิ และการขาดเสรีภาพของความเป็นพลเมือง เป็นแนวคิดที่ครอบคลุมกว่า แต่เป็นสิ่งที่มักถูกละเลยอยู่เสมอ
อมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล และนักวิชาการในกลุ่มของเขา ได้เสนอวิธีการมองปัญหา และแก้ปัญหาความอับจนที่ครอบคลุม โดยเสนอว่าการมีรายได้เพิ่มเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ของการแก้ปัญหาความยากจน ที่สำคัญกว่าคือ ทำอย่างไรจึงจะช่วยสร้างความสามารถให้แก่ผู้คนโดยตรง เพื่อให้เขามีเสรีภาพที่จะเลือกชีวิตที่เขาต้องการ
อีกนัยหนึ่ง อมาตยา เซน เสนอให้แก้ปัญหาความยากจนโดยให้ตั้งเป้าไปที่ว่า โครงการต่างๆ เพิ่ม "ความสามารถ" อะไรของกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มอย่างไร? เพิ่มเพียงใด?
เพราะความสามารถต่างๆ ต่างหากที่จะเพิ่มเสรีภาพให้ผู้คนในระบบตลาด และความสามารถต่างๆ ถือเป็น "สิทธิ" ที่พลเมืองของประเทศจะต้องได้รับเท่าเทียมกัน
เพื่อความชัดเจน กลุ่มของอมาตยา เซน ได้เสนอรายการของความสามารถหรือเสรีภาพหรือสิทธิ ซึ่งพลเมืองของประเทศจะต้องได้รับประกอบด้วย
1. มีชีวิตยืนยาว ไม่ตายก่อนวัยอันควร
2. มีสุขภาพดี มีโภชนาการถูกหลักอนามัย มีที่อยู่อาศัยที่พอเพียง
3. มีความสามารถที่จะป้องกันตัวเองได้
4. รู้สึก มีจินตนาการ และมีความคิด
5. สามารถที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้คนและผูกพันกับสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเอง
6. สามารถที่จะรู้ผิดรู้ชั่ว สามารถวางแผนและวิเคราะห์แผนชีวิตของตัวเองได้
7. สามารถที่จะอยู่กับคนอื่นๆ ยอมรับคนรอบข้าง และมีความเอื้ออาทรผู้อื่น มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ อีกนัยหนึ่งสามารถยอมรับคนรอบข้างที่มีความแตกต่างด้านความคิด ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมได้
8. สามารถที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมรอบตัว สัตว์ ต้นไม้ และมีความเอื้ออาทรให้กับสิ่งเหล่านี้
9. สามารถที่จะหัวเราะ เล่น และรื่นรมย์กับสิ่งบันเทิงใจต่างๆ
10. สามารถควบคุมสภาวะรอบตัว โดยเฉพาะสามารถมีส่วนร่วมในทางการเมือง เป็นเจ้าของทรัพย์สินได้
เราอาจเพิ่มรายการอื่นๆ ที่พลเมืองของประเทศหนึ่งๆ ต้องได้รับเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความอับจน เช่น
11. สามารถได้รับความเป็นธรรมในสังคม ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม
การใช้รายการข้างบนนี้เป็นหลักการในการประเมินโครงการแก้ปัญหาความจนของประเทศต่างๆ รวมทั้งของรัฐบาลไทยด้วย เราจะพบว่า โครงการส่วนใหญ่มีจุดอ่อน ยกเว้นในกรณี โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งถือได้ว่าตรงเป้าที่สุดในเรื่องของสุขภาพ
แต่โครงการแก้ปัญหาความยากจนอื่นๆ มักเน้นไปที่การเพิ่มรายได้เงินสดเป็นเกณฑ์
โครงการแบบหลังนี้ในท้ายที่สุด ก็จะมีผลเพียงแต่เพิ่มรายได้ของคน หรือกลุ่มคนที่มีความสามารถอยู่แล้ว ผู้ดำเนินนโยบายมักจะเน้นส่งเสริมกลุ่มเหล่านี้ เพราะทำให้เขามีผลงานเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ดังเช่น โครงการโอท็อป(OTOP) ที่มีการศึกษาชี้ว่าให้ประโยชน์กับกลุ่มที่เลี้ยงตัวได้อยู่แล้วเป็นเกณฑ์ แต่ไม่อาจเพิ่ม "ความสามารถ" ของกลุ่มอื่นๆ ซึ่งไร้ความสามารถหรือมีจุดอ่อนด้านความสามารถต่างๆ เป็นรากฐานอยู่ก่อนแล้ว
อนึ่ง การเน้นประเมินผลของโครงการในรูปของรายได้ ยังทำให้ละเลย "ความสามารถ" ด้านอื่นๆ ดังที่แจกแจงไว้ในรายการข้างบนนี้ หรือละเลยที่จะคิดโครงการที่ครอบคลุมไปถึงการเพิ่มความสามารถต่างๆ แก่พลเมือง เช่น การมีส่วนร่วมในทางการเมือง การมีสิทธิได้รับความยุติธรรมทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
ถ้าหากเราจะแก้ปัญหาความจนตามแนวทางของอมาตยา เซน เราจะต้องนึกถึงโครงการอื่นๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถของผู้คนดังในรายการข้างบนที่เป็นรูปธรรม เช่น
เราต้องมีโครงการสอนผู้หญิงให้ป้องกันตัวเองได้ในยามคับขัน
เราต้องปรับปรุงระบบการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียน เพื่อให้ผู้คนสามารถพัฒนาความสามารถในการเขียน การคิด การมีจินตนาการที่สร้างสรรค์ได้
เราต้องมีกระบวนการอบรมบ่มนิสัยให้ผู้คนสามารถยอมรับผู้ที่มีความคิดเห็น ความเชื่อ หรือมีวัฒนธรรมแตกต่างได้ อย่าให้มีอคติต่อผู้อื่นด้านเชื้อชาติ ด้านวัฒนธรรม ด้านสีผิว ด้านศาสนา
เราต้องมีการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพธรรมชาติ การอยู่กับธรรมชาติแบบเอื้ออาทร การใช้ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
เราต้องมีโครงการรณรงค์แก้ปัญหาคอร์รัปชัน การใช้อำนาจแบบผิดๆ ในวงราชการอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ เรายังจะต้องเคารพสิทธิของประชาชนในการมีบทบาทร่วมกำหนดโครงการสำคัญๆ ของประเทศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกความเห็น การทำประชาพิจารณ์ และการการันตีสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน
วิธีคิดแก้ปัญหาความอับจนของสังคมในกรอบใหม่ ขยายมิติการมองปัญหา และขยายขอบข่ายของโครงการ ให้กว้างขวางออกไปเกินกว่าเพียงเรื่องการส่งเสริมสินเชื่อ หรือการเพิ่มเม็ดเงินสู่หมู่บ้าน ซึ่งในท้ายที่สุดไม่ได้แก้ความอับจนแต่อย่างใด แถมยังสร้างวัฒนธรรมการใช้จ่ายแบบเท้าไม่ติดดินและสร้างปัญหาหนี้ครัวเรือน
หลักการอันเดียวกันนี้ที่เสนอโดยอมาตยา เซน ยังอาจนำมาใช้ได้กับนโยบายต่อชนกลุ่มน้อยในทุกภาคของประเทศด้วย
หากหลักการดังกล่าวได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนของไทย ปัญหาภาคใต้คงไม่บานปลายออกไปเช่นในขณะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น