วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

Amartya Sen ผู้บุกเบิกเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ


        ในขณะที่นักคิด อย่าง Fareed Zakaria ชี้ให้เราเห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นไร้ประโยชน์หากเป็นประชาธิปไตยที่ไร้เสรี (illiberal democracy) ก็มีนักคิดอีกจำนวนหนึ่งที่เปรียบเสมือนไม้ผลัดที่สาม ผู้ส่องกล้องมองสังคมมนุษย์ในระดับที่แคบลงมากว่าระบอบการเมือง ด้วยการเพ่งความคิดไปที่ประเด็นว่า "เสรีภาพของมนุษย์" นั้น ควรมีขอบเขตหรือไม่ อย่างไร และเราจะใช้หลักการนี้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร
หนึ่งในนักคิดผู้มีอิทธิพลในการศึกษาประเด็นนี้มากที่สุดคือ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 2541 จากงานวิจัยและงานเขียนอันโดดเด่นด้านเศรษฐศาสตร์สังคมสวัสดิการ (welfare economics) โดยเฉพาะบทวิจัยที่พิสูจน์ว่า ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนา ภาวะอดอยากอย่างรุนแรง (famine) ไม่ได้เกิดจากภาวะการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) แต่เกิดจากปัญหาที่ผู้อดอยากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน หรือไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการบริโภค
       Sen เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ของโลก ที่ใส่มิติของศีลธรรม (ethics) เข้าไปในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทำให้เศรษฐศาสตร์มีความอ่อนโยน และมีมนุษยธรรมเพิ่มขึ้น แนวคิดและงานวิจัยของ Sen ไม่จำกัดอยู่เพียงทฤษฎีในตำราเรียนเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลมหาศาลต่อเศรษฐศาสตร์สวัสดิการทั้งแขนง ตลอดจนนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงโดยหน่วยงานสากลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนา อาทิ ธนาคารโลก และโปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) ผู้นำแนวคิดของ Sen ไปใช้ในการวิเคราะห์ความคืบหน้าของการพัฒนาประเทศทั่วโลก เพื่อสังเคราะห์และประมวลออกมาเป็น "รายงานการพัฒนามนุษย์" (Human Development Report) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
Sen สรุปความคิดและผลงานวิจัยหลักๆ ของเขา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพและการพัฒนา ในหนังสือเรื่อง Development as Freedom (การพัฒนาในฐานะเสรีภาพ) แก่นของหนังสือเล่มนี้ คือข้อเสนอของ Sen ว่า เราไม่ควรวัดคุณภาพชีวิตมนุษย์ด้วยทรัพย์สินหรือรายได้ หรือแม้กระทั่งระดับความพึงพอใจ (ในหลักการ utilitarianism หรืออรรถประโยชน์นิยม) หากควรวัดด้วยระดับ เสรีภาพ เขามีจุดยืนแบบเสรีนิยม (liberalism) โดยกล่าวว่า "เป็นเรื่องยากที่การพัฒนาจะรุดหน้าไปได้ไกลโดยปราศจากกลไกตลาด" แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มองข้ามความสำคัญของกลไกรัฐ เพราะ "มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนสังคม ควบคุมตลาด และเล่นการเมืองในทางที่สามารถช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น การต่อต้านกลไกตลาดโดยทั่วไป เป็นเรื่องแปลกเหมือนกับต่อต้านการสนทนากันระหว่างคนสองคน เพราะกิจกรรมตลาดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน"
        "เสรีภาพ" ในแนวคิดของ Sen มีความหมายกว้างกว่า และครอบคลุมมากกว่าศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป (เช่น กว้างกว่าความหมายของ "เสรีภาพพื้นฐานทางการเมือง" เช่น เสรีภาพในการพูดและการชุมนุม ที่ Zakaria พูดถึง) โดย Sen เสนอว่า มนุษย์ทุกคนควรได้รับเสรีภาพที่สำคัญห้าประการด้วยกัน คือ:
1. เสรีภาพทางการเมือง 2. เสรีภาพทางเศรษฐกิจ 3. โอกาสทางสังคม 4. หลักประกันความโปร่งใส 5. การคุ้มครองความปลอดภัย
        Sen บอกว่า เสรีภาพเหล่านี้เป็นทั้ง "วิธีการ" และ "เป้าหมาย" ของการพัฒนา เสรีภาพควรเป็นวิธีการของการพัฒนาเพราะ "การใช้เสรีภาพถูกกำกับโดยคุณธรรม ซึ่งถูกกำกับอีกชั้นหนึ่งโดยการหารือสาธารณะ (public discussions) และการติดต่อกันทางสังคม ซึ่งถูกกำกับอีกทอดหนึ่งโดยเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้"
         นอกจากนี้ Sen เชื่อว่า ระดับการลิดรอนศักยภาพของคน (ในการใช้เสรีภาพข้างต้น) เป็นเครื่องวัด "ระดับความยากจน" ได้ดีกว่าตัวเลขรายได้ เพราะสามารถครอบคลุมแง่มุมของความยากจนที่มองไม่เห็นด้วยตัววัดทางรายได้ Sen ยกตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ด้านสาธารณสุขและอัตราการตายของประชาชน และความแตกต่างระหว่างทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราและอินเดีย ด้านอัตราการรู้หนังสือ อัตราการตายของทารกแรกเกิด และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ
Sen ไม่ได้เป็นนักคิด "ซ้ายจัด" ที่ปฏิเสธระบบตลาด (market economy) ใน Development as Freedom เขาย้ำให้เห็นความสำคัญ และประสิทธิภาพของระบบตลาด ในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้ Sen ยังเชื่อว่าตลาดสามารถมีบทบาทในการช่วยรัฐเผยแพร่สินค้าสาธารณะ (public goods เช่น ความรู้ หรืออากาศบริสุทธิ์) เขาเสนอว่า การกำหนดให้ "การเพิ่มศักยภาพส่วนบุคคล" เป็นเป้าหมายของโครงการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ (แทนที่จะใช้ "การเพิ่มรายได้" เป็นเป้าหมาย แบบที่รัฐส่วนใหญ่กำลังทำอยู่) จะช่วยลดการบิดเบือนของแรงจูงใจในตลาดได้ และช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสมีเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
        การเสนอให้เสรีภาพส่วนบุคคล เป็นเป้าหมายและวิธีการของการพัฒนา ทำให้ Sen มองว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นระบอบการเมืองที่เหมาะสมต่อการพัฒนาที่สุด เพราะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน (ซึ่งประเด็นนี้ถ้าเราเอาแนวคิดของ Zakaria มาปรับใช้ ก็ต้องเน้นว่า ประชาธิปไตยนั้นต้องใช้ เสรีนิยมใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional liberalism) ควบคู่ไปด้วย จึงจะคุ้มครองได้จริง) และมีบทบาทเชิงบวกในการสร้างคุณค่า และมาตรฐานต่างๆ ของสังคม ซึ่งรวมทั้งกรอบความต้องการทางเศรษฐกิจด้วย
บทที่เจ็ดใน Development as Freedom สรุปผลการวิจัยที่โด่งดังที่สุดของ Sen นั่นคือ การศึกษาวิเคราะห์สภาพความอดอยาก (famine) ของประชากร เขาสรุปผลว่า ภาวะอันน่าหดหู่นี้ ปกติไม่ได้เกิดจากการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) – บางครั้ง บางประเทศยังส่งออกอาหารได้ขณะที่ประชากรตัวเองต้องอดอยาก แต่เกิดจากภาวะความยากจนอย่างรุนแรง เขาบอกว่า รัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะความอดอยากได้ง่าย และใช้เงินไม่มาก โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ โครงการจ้างงานของรัฐ Sen ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความอดอยากอย่างรุนแรงนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย และไม่น่าจะเกิดขึ้นด้วย เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศที่ใช้ระบอบเผด็จการที่ไร้ความโปร่ง ใส และปราศจากการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ
จากการวิเคราะห์อัตราการเติบโตของประชากรโลก และอัตราการผลิตอาหาร Sen เสนอหลักฐานแย้งคำพยากรณ์ของนักคิด (ที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น Thomas Malthus) ที่คาดว่า ปริมาณอาหารที่มนุษย์ผลิตได้ในอนาคต จะไม่สามารถรองรับความต้องการของประชากรโลกได้
สองร้อยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตของประชากรโลกก็ลดลง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของทารกที่ลดลง Sen ชี้ว่า การช่วยเหลือให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นนั้น สำคัญพอๆ กับการช่วยเหลือให้พวกเธอมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การรู้หนังสือ และระดับงานที่ผู้หญิงได้ทำ เป็นดัชนีที่ทำนายอัตราการรอดตายของเด็ก และอัตราชะลอตัวของอัตราการเกิดที่ดีที่สุดในโลก
          Sen เสนอข้อโต้แย้งนักคิดหลายๆ คน โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่ชอบอ้างว่า "คุณค่าแบบเอเชีย" (Asian Values) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดย Sen ชี้ว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาในเอเชียนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "ประเพณีของโลกตะวันตกนั้น ไม่ใช่เป็นแนวทางเดียวที่เตรียมตัวให้เราสามารถใช้วิธีการที่ตั้งอยู่บนหลัก การแห่งเสรีภาพ ในการบรรลุความเข้าใจทางสังคม"
ทฤษฎีหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สังคมสงเคราะห์ คือ ทฤษฎีความเป็นไปไม่ได้ ของ Kenneth Arrow ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี พ.ศ. 2515 ทฤษฎีนี้กล่าวว่า ไม่มีทางที่เราจะ "รวบรวม" (aggregate) ความชอบต่างๆ ของมนุษย์ได้ โดยไม่ให้ผลที่ออกมานั้น ไร้เหตุผลหรือไม่ยุติธรรม ซึ่ง Sen ชี้ว่า ทฤษฎีนี้ไม่ได้แปลว่า เราไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่ชอบธรรมได้ หากแปลว่า ประชาธิปไตยที่ดีนั้นจะต้องมีฐานข้อมูลที่หลากหลาย และพอเพียงต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง
        Sen บอกว่า แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่า ความเห็นแก่ตัว (selfishness) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยม แท้ที่จริงแล้วปัจจัยอื่นๆ เช่น จรรยาบรรณทางธุรกิจ (business ethics) ระดับคอร์รัปชั่น และการใช้นิติกรรมสัญญา (contract) ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้า หรือความตกต่ำของระบบทุนนิยม
          Development as Freedom เป็นหนังสืออันยอดเยี่ยมที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรม เสรีภาพ และความรับผิดชอบในสังคม ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครอง และส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนได้เหมือนกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่าง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่เท่ากัน ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า ศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกโดยระดับเสรีภาพต่างๆ ห้าประการ เป็นตัววัดระดับการพัฒนาของประเทศที่ดีกว่า GDP ต่อหัว หรือแม้แต่หลักการเรื่อง "ทุนมนุษย์" (human capital) ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่ก็ยังแคบเกินไป เพราะจำกัดความหมายอยู่เพียงผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต (effects of production) เท่านั้น ไม่รวมผลกระทบทางตรงของศักยภาพของมนุษย์ ต่อระดับความเป็นอยู่และเสรีภาพ และผลกระทบทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันดีงาม
ท้ายนี้เป็นบางตอนจากบทสัมภาษณ์ Sen ในวารสาร AsiaSource ที่แจกแจงความเห็นของ Sen ว่า ปัจจุบันโลกเรามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใดในการพัฒนามนุษย์:

เหตุผลใหม่ของการเรียนเศรษฐศาสตร์



รศ.ดร. วราภรณ์ สามโกเศศ
สุทธิพิทักษ์ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
       ช่วงเวลานี้คงเหมาะที่สุดสำหรับการหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจ เลือกสาขาเข้าเรียนในมหาลัยของมวลหมู่นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั้ง ปลาย ที่ขณะนี้กำลังคร่ำเคร่งกับการเตรียมสอบไล่และอีกไม่นานต่อไปก็คือการสอบ เข้ามหาวิทยาลัย การเล่าให้ฟังว่าเขาเรียนเศรษฐศาสตร์กันไปทำไม คงจะเป็นประโยชน์ตามสมควรแก่ตัวนักเรียน และคุณพ่อคุณแม่ที่อาจมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนี้

        ปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์บางคนพยายามหาเหตุผลใหม่ๆ เกี่ยวกับการเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ จึงใคร่นำมาขยายความเพื่อความทันสมัย และเพื่อเป็นข้อมูลใหม่สำหรับการตัดสินใจ

ในความเห็นสมัยใหม่มีเหตุผลไม่ต่ำกว่าห้าประการที่ควรเรียนเศรษฐศาสตร์

ประการแรก ก็คือวิชาเศรษฐศาสตร์พยายามพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับ พฤติกรรมมนุษย์ที่อยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผล (RATIONALITY) และในการค้นหานี้ได้ผผลิตวิธีการคิดที่มีประโยชน์ในเรื่องว่าพฤติกรรมที่มี เหตุผลมีลักษณะอย่างไร และถ้าเข้าใจในบางเรื่อง เช่น ต้นทุนส่วนเพิ่ม (MARGINAL COST) ต้นทุนที่จมอยู่แล้ว (SUNK COST) ฯลฯ ด้วยแล้วก็จะมีเครื่องมือสำคัญ และมีประโยชน์ยิ่งในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการเกี่วกับชีวิตของตนเอง

ต้องไม่ลืมว่าการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจเป็น เรื่องใหม่ที่เพิ่งค้นคว้ากันไม่นานมานี้ ประเด็นก็คือพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งเชื่อว่ามีเหตุผล และถ้าเราเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ (รวมพฤติกรรมของตัวเราด้วย) ตลอดจนเรื่องต้นทุนส่วนเพิ่มและต้นทุนที่จมอยู่แล้วคุณภาพในการตัดสินใจของ เราก็ต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

ต้นทุนส่วนเพิ่ม (MARGINAL COST) หมายถึง ว่าในการผลิตเพิ่มขึ้น 1 หน่วยหรือดำเนินกิจการใดเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย หรือดำเนินกิจการใดเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วย จะมีต้นทุนเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ส่วนต้นทุนที่จมอยู่แล้ว (SUNK COST) หมายถึง ต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้วจะจ่ายไปแล้ว โดยไม่ผันแปรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องตัดสินใจว่าสมควรจะใช้เวลาอีกสองสามอาทิตย์ ในการมองหาเงื่อนไขที่ดีกว่าในการซื้อบ้านหรือรถยนต์หรือไม่ ผู้เรียนเศรษฐศาสตร์จะสามารถติดได้ชัดเจนว่าควรจะมองบ้านหรือรถคันอื่นหรือ ไม่ หลังจากได้พบสิ่งที่ถูกใจแล้ว ก็คือการเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการค้นหาเพิ่ม เติม กับต้นทุนส่วนตัวที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นถ้าพบว่าไม่คุ้มก็ควรเลือกสิ่งที่ถูก ใจแล้ว มิฉะนั้นก็ค้นหาต่อไป

สำหรับต้นทุนที่จมอยู่แล้ว การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนที่เกี่ยวพันโดยไม่นำต้นทุนที่จมอยู่ แล้วนำมาคำนึงถึง เช่น ในการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ การตัดสินใจว่าควรทำหรือไม่ จะต้องไม่เอาค่าใช้จ่ายในการประเมินโครงการมาคำนึงถึงด้วย เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะทำโครงการหรือไม่ การเสียดายค่าใช้จ่ายสูงในการประเมินโครงการจนทำให้ต้องตัดสินใจทำโครงการ อาจเสียหายมากมายในที่สุด เป็นวิธีการตัดสินใจที่ผิด

ประการที่สอง เราเรียนเศรษฐศาสตร์เพื่อเข้าใจและคาดคะเนพฤติกรรมของคนอื่นโดยเฉพาะอย่าง ยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคนจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นการข้อมูลประกอบการวางแผนชีวิตของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนที่พยายามทำเงินในตลาดหุ้นหรือนายพลทหารที่พยายาม ป้องกันไม่ไห้ผลทหารวิ่งหนี (เพราะสำหรับพลทหารชั่วคราวทั่วไปแล้ว การมีชีวิตรอดน่าจะสำคัญกว่าชนะสงคราม) หรือเจ้าของบ้านมีความต้องการขู่พวกขโมย ด้วยการติดป้ายหน้าบ้าน (แสดงให้เห็นว่าใกล้อำนาจรัฐ โดยชื่อมีไตเติ้ลเป็นยศเป็นตำแหน่ง) หรือนักเรียนพยายามคาดคะเนค่าจ้างในอนาคตของอาชีพต่างๆ

อย่างไรก็ดี ในทุกกรณีข้างต้นความรู้เศรษฐศาสตร์แต่อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการต้องการ คาดคะเน เราจำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงและวิจารณญาณประกอบด้วย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเศรษฐศาสตร์ให้แต่เพียงกรอบที่จำเป็นโดยความรู้และ วิจารณญาณต้องผสมผสานกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องกรืออย่างน้อยก็ได้ข้อ สรุปที่ดีกว่ากรณีที่ไม่มีเศรษฐศาสตร์เลย

ประการที่สาม เรียนเศรษฐศาสตร์เพื่อจะไปสอนเศรษฐศาสตร์แก่คนอื่นต่อไปหรือเพื่อค้นคว้า วิจัยสร้างองค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจ แก่สังคมต่างๆ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้คงทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นความสำคัญของการจัดการ เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ (บางคนอาจบอกว่าจงอยู่ให้ไกลอาชีพนี้เพราะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดวิกฤตก็เป็น ได้) และกระตุ้นความสนใจในเรื่องเศรษฐกิจแก่เยาวชน

ในเชิงเศรษฐศาสตร์หากมีผู้เชื่อและสนใจมาเรียนเศรษฐศาสตร์อีกมาก มายจากข้อเขียนชิ้นนี้ รายได้ของมวลหมู่นักเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่แล้วจะลงลด ดังนั้น ในฐานะเป็นผู้มีเหตุผลจึงต้องหวงก้างเป็นธรรมดา จึงได้แต่ภาวนาว่าคงจะจะไม่มีผู้คล้อยตามมาเรียนเศรษฐศาสตร์มากมายซึ่งจาก ความสามารถเพื่มขึ้นอีกมากมาย

ประการที่สี่ เรียนเศรษฐศาสตร์เพราะมันสนุก เมื่อเข้าใจตรรกวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่ได้ยากเย็นลึกซึ้ง และอยู่บนพื้นฐานความรู้ที่มากมาย แล้วสามารถเข้าใจสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมันจะสนุกและเป็นประโยชน์ อาจสามารถหาแบบแผนจากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างวุ่นวายได้

ตัวอย่างได้แก่ การที่เราเห็นการแลกบัตรเมื่อนำรถเข้าไปจอด บางครั้งรู้สึกรำคาญและดูไร้สาระใครๆ ก็เลยแบบกันอย่างไม่น่าจะเข้าใจเหตุผลที่แท้จริง แต่ถ้าเข้าใจตรรกวิทยาของเศรษฐศาสตร์ที่ว่ามนุษย์ ตอบรับต่อแรงจูงใจเสมอแล้วจะเลิกรำคาญ และเห็นพิธีกรรมแลกบัตรนี้ โจรนั้นเลือกที่จะประกอบอาชญากรรมด้วยต้นทุนต่ำ (ขโมยเด็กที่พ่อแม่ไม่มีเงิน ไม่มีอิทธิพล เป็นปัญหาน้อยกว่ามาก งัดแงะรถที่ดูจะอยู่ไกลอำนาจรัฐ ขึ้นขโมยบ้านที่มีเงินแต่ไม่มีอำนาจอาจอาศัยของรัฐ หรืออยู่ใกล้อำนาจของรัฐ) การแลกบัตรทำให้ต้องหาบัตรมาให้คนเก็บเวลานำรถออก ซึ่งต้นทุนต้องหาบัตรจะผลักดันให้โจรไปเลือกหาเหยื่อที่อื่นที่มีต้นทุนต่ำ กว่า

ทำไมเราไม่เคยเห็นหมอมาขายส้มตำ (แพทย์จริงๆ ไม่ใช่หมอลำ) ก็เพราะมนุษย์ทุกคนจะพยายามทำงานในอาชีพที่ทำให้ตนเองได้รับผลตอบแทนเท่ากับ กับศักยภาพในการหารายได้ของตนเองเสมอ ถ้าหมอมาขายส้มตำ (สมมติว่ารายได้เราน้อยกว่าอาชีพหมอ) ทุกวันที่ขายก็เท่ากับสูญเสียรายได้อันพึงประสงค์ไปจำนวนหนึ่ง แต่ที่เราเห็นหมอเล่นหุ้น ขายเครื่องสำอาง ก็เพราะ จำนวนหนึ่งที่ว่านี้ มันเล็กลงทุกทีและบางกรณีมันกลับกัน การเป็นหมอทุกวันนั้นอาจกลับเป็นการสูญเสียรายได้ เหตุผลที่หมอจำนวนมากไม่ออกมาขายเครื่องสำอางหรือวิตตามินก็เพราะเหตผลอื่นๆ เช่น ไม่ใช่หมอทุกคนจะทำอาชีพอื่นได้ ความรักวิชาของตนเอง ความหยิ่งรักในศักดิ์ศรี การได้รายได้ในการเป็นหมอสูงกว่าอาชีพอื่นโดยเฉลี่ย ถ้าออกแรงและเสียเวลาเท่า ๆ กัน ฯลฯ

เหตุผลข้างต้นนี้ใช้ได้กับปรากฎการณ์ที่มีสาว ๆ การศึกษาสูงครอบครัวที่มีฐานะ (หน้าตาดีโดยมีองศาจมูกใกล้เคียงกัน) มาประกวดนางสาวไทยมากทุกที ผลตอบแทนสูงในรูปของรายได้ที่เป็นตัวเงินและความมีหน้าตา และโอกาสได้เป็นซินเดอเรล่าสูงกว่าคนอื่นดึงดูดให้มาอยู่ในอาชีพนี้สักระยะ หนึ่ง (พ่อแม่หรือตนเองอาจคิดว่าสวยอย่างนี้ เก่งอย่างนี้ ถ้าต้องมาทำงานอย่างอื่นโดยไม่ได้เป็นนางสาวไทย แต่ละวันที่ผ่านไปก็เท่ากับสูญเสียสิ่งที่พึงได้เกิดค่าเสียโอกาส ดังนั้น จึงต้องเป็นนางสาวไทยให้ได้เพื่อทำให้ค่าเสียโอกาสนี้หายไป เขียนอย่างนี้ บางท่านอาจคิดว่าผู้เขียนเพ้อเจ้อ แต่เคยมีเพื่อนเล่าให้ฟังว่า พ่อแม่สาวที่มาสมัครบางคนมีความรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ )

ประการที่ห้า การเรียนเศรษฐศาสตร์จะทำให้ผลกระทบของนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการได้ค่อนข้าง ดี เป็นพลเมืองดีที่สามารถส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพและ สามารถสนับสนุนให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากมีความเข้าใจในเรื่องกลไกการใช้ทรัพยากรที่จำกัดของสังคม (ที่มักเอนเอียงไปเข้าข้างคนมีฐานะอยู่เสมอ)

เศรษฐศาสตร์เป็ยเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างใหม่ของสังคมไทยที่เติบโตนับ แต่สงครามโลกครั้งที่สองเลิก ดังนั้น ความไม่เข้าใจประโยชน์ของศาสตร์นี้จึงมีค่อนข้างสูง และไม่เป็นที่นิยมนักเหมือนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร ฯลฯ ซึ่งเป็นวิชาชีพหรือบริหารธุรกิจ ซึ่งเห็นภาพชัดเจนว่าจบแล้วไปทำอะไร แต่เศรษฐศาสตร์นั้นแฝงอยู่ในงานของนักวางแผน ผู้จัดงบประมาณ ความเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจนักผังเมือง นักสิ่งแวดล้อม นักการเมือง นายธนาคาร ฯลฯ จึงไม่ใช้อาชีพที่ออกมาโดดเด่นเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม

สำหรับการสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ต่างๆ นั้น โดยแท้จริงแล้วคะแนนสอบเข้ายังไม่สูงนัก แต่ก็ขยับสูงขึ้นเป็นลำดับ เพราะมีผู้เห็นความสำคัญมากขึ้น นับแต่วันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในระดับโลกการเรียนเศรษฐศาสตร์ของไทเกอร์ วู้ดส์ น่าจะมีส่วนทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นที่น่าสนใจของเยาวชนต่างๆ เพิ่มขึ้นบ้าง

อย่าดูถูกเศรษฐศาสตร์นะครับ ไม่ใช่วิชานี้หรือครับที่ทำให้ ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ไม่ได้เป็นแพทย์ผู้มีชื่อเสียงแต่กลับเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแทน และ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ได้เป็นผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO แทนที่จะเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลใหญ่หรืออธิการบดีของมหาลัยวิทยาลัย แพทย์ของไทย

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

รวยกระจุก จนกระจาย

       8.9 ล้านคน หรือร้อยละ 14.2 ของประชากร คือ คนจนที่มีรายได้รวมกัน เพียงร้อยละ 4 ของรายได้ทั้งประเทศ ส่วนกลุ่มคนรวยสุดร้อยละ 20 ของประชากร กลับครอบครองรายได้สูง ถึงเกือบร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งประเทศ 
      นี่คือภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาคู่แฝดที่สร้างความทุกข์ยากให้กับผู้ด้อยโอกาส ความขัดแย้ง   ระหว่างชนชั้น และยังคงกัดกร่อนสังคมไทยมาตลอด 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ ทางด้านการพัฒนาตามแนวคิด ความเชื่อในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ว่า การสะสมทุน เป็นทางออกของการพัฒนาประเทศให้มั่งคั่ง และมั่นคง ช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน
       แต่จากประวัติศาสตร์ความเป็นจริงของการพัฒนากลับล้มเหลว แนวนโยบายดังกล่าวเอื้อต่อกลุ่มทุนในการแสวงหาผลประโยชน์/รายได้ ในขณะที่กลุ่มคนยากจนได้รับผลพวงการพัฒนาในลักษณะที่เรียกได้ว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" ซึ่งเห็นได้ชัดจากแนวโน้มความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่กลับเพิ่มสูงขึ้น ดังผลของวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 5 ปีก่อน
     ที่ผ่านๆ มา การสะสมทุนที่ว่านี้ เป็นความพยายามที่จะเพิ่มพูนในลักษณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเรียกกันว่า ทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายการผลิต ยิ่งประเทศใดมีทุนทางเศรษฐกิจมาก ก็จะยิ่งมีกำลังหรือความสามารถในการผลิตทั้งสินค้า และบริการให้กับประเทศได้มากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งทุนทางเศรษฐกิจนี้ ประกอบด้วยทุน 2 ประเภท คือ
1) ทุนทางกายภาพ หรือทุนทางวัตถุ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ได้แก่ ที่ดิน อาคาร โรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ
2) ทุนมนุษย์ ได้แก่ กำลังแรงงาน แรงกายแรงใจ สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และทักษะการบริหารจัดการต่างๆ
      โดยที่ทุนทางเศรษฐกิจ เมื่อเติมลงไปในกระบวนการผลิตแล้ว จะเส้นสร้างหรือให้ความสำคัญกับการสร้างผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าและบริการ สร้างเงิน สร้างรายได้ สร้างฐานะหรือความมั่งคั่งเป็นหลัก
ที่มา  มองมุมใหม่ : สุทิพันธุ์ บงสุนันท์             กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545 
          http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2002q4/article2002dec26p1.htm
        ส่วน ทุนทางสังคม เป็นทุนที่เกี่ยวกับทุนวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ทั้งในชุมชนเมือง และชุมชนชนบท เมื่อได้นำทุนเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่แล้ว และที่สร้างขึ้นใหม่มาบูรณาการ เติมแต่งหรือปรับเข้าไปในตัวคนแล้ว จะสร้างความเป็นมนุษย์ ทำให้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข คนได้รับโอกาสในการพัฒนา มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เน้นความเท่าเทียมและความมั่นคงของสังคม
          แต่ฉากหนึ่งที่น่าสนใจของหน้าประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอัตราที่สูงมากในช่วงทศวรรษปี 2530 (ปี 2530-2539) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างการเติบโตที่มาจากการลงทุนที่เร่งสร้างผลผลิต สร้างรายได้ โดยการไปเบียดเบียนสังคม และมนุษย์ด้วยกันเอง พยายามเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นผลผลิต เป็นเงินเป็นรายได้
         นอกจากนี้ การสร้างรายได้ยังมีลักษณะฉาบฉวย หวังรวยทางลัด จับจ่ายใช้สอยกันอย่างฟุ่มเฟือย โดยเก็งกำไรในที่ดินอสังหาริมทรัพย์และหุ้น ซึ่งชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งเกษตรกรบางส่วน ก็เข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในการเก็งกำไรด้วย โดยมีภาคสถาบันการเงินไปเร่งสร้างเศรษฐกิจฟองสบู่ ด้วยการปล่อยกู้ที่ขาดจรรยาบรรณ
จะเห็นว่า ตอนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นการเร่งสร้างและเน้นการใช้ทุนทางเศรษฐกิจ ทั้งทุนทางกายภาพกับทุนมนุษย์ ไปเพื่อตอบสนองการผลิตหรือการแสวงหารายได้เป็นหลัก โดยให้ความสำคัญในเรื่องของเงินทอง รายได้ วัตถุสิ่งของ มูลค่าของสินทรัพย์ ความโลภเป็นตัวตั้ง
        วิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม ดิ้นรนเพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดด้วยการแปลงทุนทางเศรษฐกิจที่ใส่ลงไปในกระบวนการผลิตหรือการสร้างรายได้ให้มีผลกำไรสูงสุด ซึ่งยิ่งไปกว่าสร้างโอกาสและเอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ ให้กับกลุ่มทุน ซึ่งกุมทุนทางเศรษฐกิจไว้มาก
       ส่วนเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน คุณค่าทางจิตใจ ความพอเพียง ความซื่อสัตย์สุจริต ความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นจุดเน้นหรือเกี่ยวข้องกับทุนทางสังคม กลับมีความสำคัญเป็นประเด็นรอง มิหนำซ้ำในทางปฏิบัติทุนทางสังคมเหล่านี้ ยังถูกละเลย ถูกทำลาย อันส่งผลต่อการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เกิดวิกฤติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
กรณีรัฐบาลมีนโยบายสาธารณะ ในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนหรือการแปลงที่ดินให้เป็นทุนนั้น จุดมุ่งหมายต้องการให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ได้เป็นเจ้าของที่ดินมีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง สามารถที่จะแปลงเป็นทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นๆ ได้ ซึ่งถือว่านโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นการเติมมิติที่เคยขาดหายไปในส่วนของรายได้กลับเข้ามา เพื่อทำให้คนยากคนจน เกษตรกรจะได้มีอาชีพมีงานทำเป็นหลักเป็นฐานกันเสียที
         อย่างไรก็ตาม หากเราเน้นเติมเต็มหรือให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องของการสร้างงาน สร้างรายได้เป็นตัวตั้ง หรือเป็นประเด็นหลักแล้ว ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับทุน ซึ่งเป็นทุนทางเศรษฐกิจมากเกินไป เหมือนอย่างในอดีตหรือไม่
โดยการนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ มาประกอบอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งอาจเป็นการสร้างภาระหนี้ใช้จ่ายจนเกินตัวให้กับเกษตรกร ที่ดินอาจถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นการถูกยึด การเข้ามาเก็งกำไร หรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การจนโอกาส จนความรู้ จนวิถีชีวิต จนคุณภาพชีวิต หรือแม้แต่การจนรายได้ ซึ่งล้วนเป็นมิติต่างๆ ของคนยากคนจน อาจไม่ได้รับการแก้ไขเลยก็เป็นได้
        แม้วันนี้ นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ยังเป็นเพียงแค่แนวคิด เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันหลากหลายมากมาย แต่หากการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาส การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมร่วมกันแล้ว
         และหากรัฐบาลเปิดใจกว้างรับฟังข้อเท็จจริง มุมมอง ข้อคิดเห็นที่แตกต่างในเชิงสร้างสรรค์รอบด้านของทุกๆ ฝ่าย น่าจะเป็นผลดีเป็นข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวทาง มาตรการในการสร้างระบบการบริหารจัดการ สร้างระบบตรวจสอบและกลไกป้องกันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบภาษีที่ดิน การกระจายถือครองสิทธิในที่ดิน หรือการตรวจสอบปัญหาการจัดสรรที่ดินในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งยังเป็นประโยชน์สานต่อในการสร้างทุนทางสังคมในระดับชุมชน ในการวางแผนในการอบรมให้ความรู้รวมกับองค์ความรู้เดิมที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว ในการดูแลรักษาทุน ส่งเสริมการใช้ที่ดินและทุนเดิมให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ในการสร้างความเข้มแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเครือข่าย และสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนเข้ากับเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างเกื้อกูลกัน
โดยมีพลังการขับเคลื่อนของทุนทางสังคม ทำงานควบคู่ไปกับพลังของทุนทางเศรษฐกิจ เกิดการสะสมทุนทั้งสองอย่าง ในการสร้างผลผลิตสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีการกระจายรายได้และโอกาสต่างๆ สร้างความเป็นธรรม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาปัญหาคู่แฝดทั้งความยากจน และความเหลื่อมล้ำอย่างที่รัฐบาลเราๆ ท่าน เป็นห่วง

'กิริฎา' นักเศรษฐศาสตร์หญิง มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว


หากกล่าวถึงผู้หญิงเก่งในแวดวงเศรษฐกิจของไทย แน่นอนว่า หนึ่งในจำนวนนั้นจะต้องมีชื่อของ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ของธนาคารโลกร่วมอยู่ด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เธอเป็นตัวแทนธนาคารโลกเพียงคนเดียว ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวิเคราะห์ และติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย แม้เธอจะถ่อมตนว่ายังมีทีมงานอีก 4-5 คนร่วมงานด้วยก็ตาม ดร.กิริฎา เริ่มทำงานกับธนาคารโลกมาตั้งแต่ปี 2542 หลังจากจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ทั้งปริญญาโทและเอก จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลที่ได้รับคัดเลือกให้รับทุนเพียงหนึ่งเดียว ในสาขาธรรมศาสตร์ หลังจากที่เธอเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเมื่อปี 2536
เธอเล่าให้ฟังถึงที่มาในการเข้ามาร่วมงานกับธนาคารโลกว่า หลังจากที่เรียนจบปริญญาเอก เธอก็มองหางาน โดยพิจารณาจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเป็นหลัก เพราะเธอต้องการนำความรู้ที่เรียนมา ใช้ในการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น
ในบรรดาองค์กรต่างๆ ที่เธอเล็งไว้แต่แรกทั้งธนาคารโลก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) นั้น เธอเห็นว่าธนาคารโลก เป็นองค์กรที่มีสาขาหลากหลายทั้งเรื่องความยากจน เรื่องการพัฒนาชนบท เรื่องเศรษฐกิจมหภาคและอื่นๆ ทำให้เธอเชื่อว่าจะสามารถเปิดมุมมอง ความคิดในด้านการพัฒนาอื่นๆ ให้กับเธอได้มากขึ้น ประกอบกับขณะนั้น ธนาคารโลกต้องการขยายงานในประเทศไทยและมีนโยบายกระจายศูนย์อำนาจไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีการจ้างงานคนในพื้นที่ของแต่ละประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย
โดยในการทำงานด้านการพัฒนาของเธอนั้น ดร.กิริฎา เล่าว่าจะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจสถานการณ์ของแต่ละประเทศ อย่างแท้จริงก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะทำให้สามารถรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่งการทำความเข้าใจนั้น ก็ต้องใช้หลักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยในกรณีของประเทศไทยนั้น ขณะที่ไทยมองธนาคารโลกว่า สามารถนำความรู้มาให้ได้ ธนาคารโลกเองก็ต้องถือว่าไทยเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ที่ธนาคารโลก จะสามารถนำเอาความรู้ ไปแบ่งปันให้กับประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน
และด้วยการทำงานในด้านการพัฒนานี้เอง ที่ทำให้เธอยึดหลักในการทำงานว่าความสำเร็จของงานเป็นความสำเร็จของเธอ เธอจึงคิดที่จะทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เธอรับผิดชอบสามารถพัฒนาไปได้อย่างดีที่สุด
ในการพัฒนาประเทศไทยนั้น ดร.กิริฎา เล่าว่าขณะนี้ธนาคารโลก ร่วมกับสภาพัฒน์กำลังทำการศึกษา ถึงการพัฒนาให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ไทย ขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่คนมีความรู้ และมีทักษะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้ เพราะการแข่งขันด้วยราคาสินค้านั้นไม่สามารถใช้ได้ดีในระยะต่อไปแล้ว ทั้งนี้ จากดัชนีเศรษฐกิจฐานความรู้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าดัชนีเศรษฐกิจฐานความรู้ของไทยซึ่งอยู่ที่ 4.76 เพิ่มขึ้นจากสิบปีก่อนที่ดัชนีอยู่ที่ 4.26 ไม่มากนัก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ดัชนีดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าทั้ง เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สำหรับวิธีการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้นั้น ดร.กิริฎา อธิบายว่าจะต้องมีการกระจายความรู้ ให้ไปสู่คนไทยให้มากขึ้น ด้วยการที่มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจจะต้องมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำความรู้หรือผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ในการปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็จะต้องเพิ่มบทบาทของสถาบันวิจัยของภาครัฐให้มากขึ้น เห็นได้จากตัวอย่างของประเทศเกาหลี ที่มีสถาบันวิจัยที่เข้มแข็งมาก จนสามารถบ่มเพาะธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นในธุรกิจเทคโนโลยี ให้สามารถออกไปตั้งบริษัทของตนเองได้อย่างดี
นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้แล้ว สิ่งที่จะช่วยพัฒนาผลิตภาพการผลิตของบริษัทไทยให้ดีขึ้น คือการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคบริการ เช่น ภาคการเงิน โทรคมนาคม โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงถึง 45% ของจีดีพี และยังเป็นธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนภาคการผลิตของไทยด้วย โดย ดร.กิริฎา อธิบายว่า จะต้องให้ภาคบริการ มีการแข่งขันมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้บริษัทต่างๆ มุ่งปรับปรุงธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้นด้วย
อีกทั้งควรจะมีการออกกฎหมายที่สนับสนุนธุรกิจบริการ เช่น พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ ที่อนุญาตให้บริษัทสามารถกู้ยืมได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในรูปของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ อย่างอาคารหรือที่ดินแต่เปิดให้ใช้สัญญางานต่างๆ หรือใช้กระแสเงินสดเป็นหลักประกันการกู้ยืมได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการที่ไม่มีโรงงาน หรืออาคารไปเป็นหลักประกันให้มีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรจะผ่อนคลายข้อจำกัดของการทำธุรกิจในด้านกฎระเบียบ เช่น การลดขั้นตอน การปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ หรือการสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ เนื่องมาจากผลการสำรวจระดับการเพิ่มผลผลิตและบรรยากาศการลงทุนในไทยเมื่อปี 2548 พบว่าข้อจำกัดด้านกฎหมาย การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ เป็นข้อจำกัดทางการลงทุนของไทย
นอกเหนือจากการพัฒนาธุรกิจไทยให้สามารถปรับตัวดีขึ้น เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้แล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งเป็นทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมคือปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ โดยหากพิจารณาจากระดับการบริโภคเฉลี่ยพบว่า กลุ่มคนที่จนที่สุดในไทย มีการบริโภคเพียง 1,155 บาทต่อเดือน แตกต่างจากกลุ่มคนที่รวยที่สุดที่มีการบริโภคเฉลี่ยถึง 9,558 ล้านบาทต่อเดือน และหากเทียบการขยายตัวของการบริโภค จะพบว่ากลุ่มคนจนมีการบริโภคเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ไปปี 2547 เพียง 8.65% ขณะที่กลุ่มคนรวยมีการบริโภคในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นถึง 16.49%
ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วจะพบว่าปัญหาความยากจนในประเทศไทยนั้น มีการกระจุกตัวอยู่ในบางจังหวัด ดังนั้น ในการแก้ไขจึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าพื้นที่ใดที่มีคนยากจนสูง เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ตรงจุด โดยวิธีการที่ ดร.กิริฎาคิดว่าสามารถช่วยเหลือคนยากจนได้ คือการสร้างโอกาสให้กับคนจนได้มีช่องทางในการสร้างรายได้ และอีกช่องทางหนึ่งคือการให้บริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ที่มีคุณภาพเข้าถึงแหล่งของคนจนให้มากขึ้น
นอกเหนือไปจากงานพัฒนาเศรษฐกิจไทยของ ดร.กิริฎาแล้ว อีกงานหนึ่งซึ่งเธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อเร็วๆ มานี้ คือการเข้าไปช่วยการศึกษาเกี่ยวกับการใช้จ่ายของภาครัฐในประเทศลาว ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของธนาคารโลก ที่ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานข้าราชการของประเทศลาว และการจัดสรรรายได้ดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ประเทศลาวมีค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรของภาครัฐจำนวนมาก
การเข้าไปช่วยงานของธนาคารโลกที่ประเทศลาวนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ตรงกับความสนใจของ ดร.กิริฎาโดยตรง เพราะนอกจากเธอจะได้มีส่วนเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว การเดินทางไปยังประเทศลาวยังน่าจะตอบสนองความชอบท่องเที่ยวในประเทศที่กำลังพัฒนาของเธอด้วย
โดย ดร.กิริฎา ได้ให้เหตุผลในการท่องเที่ยวประเทศที่กำลังพัฒนาว่า ทำให้เธอได้เรียนรู้วิถีชีวิต และทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของแต่ละประเทศได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น และนอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว ก็ยังทำให้เธอได้ข้อมูลกลับมาใช้ในการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของเธอที่ธนาคารโลกด้วย
ไม่เพียงแต่งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันและการท่องเที่ยวส่วนตัวเท่านั้นที่เธอให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ แม้ในอนาคตหากเธอไม่ได้ทำงานที่ธนาคารโลกแล้ว เธอก็ยังไม่ทิ้งที่จะทำงานด้านการพัฒนาอยู่ดี แต่เปลี่ยนจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นการพัฒนาบุคลากรของประเทศแทน โดยเธอวางแผนไว้ว่า หากไม่ได้ทำงานที่ธนาคารโลกแล้ว เธอคงจะไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในวิชาเศรษฐศาสตร์พัฒนา ที่ปัจจุบันเธอก็สอนอยู่ในฐานะอาจารย์พิเศษให้กับนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.กิริฎา ทิ้งท้ายให้ฟังว่าการสอนหนังสือให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้น เธอจะพยายามแนะนำนักศึกษาให้มีความคิดว่า ในทุกการเรียนทุกสาขาสามารถนำแนวความคิดด้านการพัฒนาไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาประเทศชาติได้ทั้งสิ้น ซึ่งในฐานะครูคนหนึ่งเธอก็เห็นว่าหากสามารถทำให้นักศึกษาสักเพียง 1-2 คน หันมาสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศได้อย่างที่เธอทำ ก็น่าจะเป็นความภูมิใจของนักพัฒนาอย่างเธอแล้ว

ทีมา        หนึ่งหทัย อินทขันตี  กรุงเทพธุรกิจ  วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q4/2006november27p11.htm 

สุดยอดนักเศรษฐศาสตร์เลือดใหม่ของเมืองไทย



ดร. กานดา นากน้อย

      ดร. กานดา จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก Stanford ด้วยทุนของ IMF จบตรีเศรษฐศาสตร์จาก Hitotsubashi ในญี่ปุ่น โทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเีกียวโดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

      ดร. กานดาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาช่วงสั้นๆให้กับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ (IMF) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาิทยาลัย Purdue

ดร. สุรัช แทนบุญ

       ดร. สุรัชเป็นนักเรียนทุนลูกหม้อแบงค์ชาติ (สายตรงผู้ว่า) จบตรีเศรษฐศาสตร์ควบคณิตเศรษฐศาสตร์จาก Williams College ก่อนมาทำเอกที่ Stanford ระหว่างเรียนเขียนวิทยานิพธ์เกี่ยวกับการใช้ปริมา๊๊๊ณน้ำฝนเป็น Instrument variable มีสไตล์คล้าย ดร. โกร่ง คือเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มิติ (Econometrics) เป็นพิเศษ

ดร. พันวดี กันณนุทรัพย์ุกุล

        ดร. พันวดี เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง หลังจากจบที่ตรีที่ Harvard เข้าทำงานที่ Bain Consulting บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ก่อนกลับมาทำเอกเศรษฐศาสตร์ที่ Harvard เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แรงงาน (Three Essays in Labor Economics) กับ Lawrence Katz สุดยอดนักเศรษฐศาสตร์แรงงานที่ชาวเศรษฐศาสตร์แรงงานรู้จักกันอย่างดี
       หลังจบการศึกษา ดร. พันวดี เข้าร่วมงานกับ Lehman Brothers วา๊ณิชธนกิจขนาดยักษ์ที่กรุงนิวยอร์ก

ดร. ดอน นาครทรรพ

       ปริญญา ตรีทางเศรษฐศาสตร์ควบชีววิทยาด้วยทุนเล่าเรียนหลวง จาก Yale University กลับมาทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทรได้พักหนึ่งก็บินกลับไปต่อปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ ที่ Harvard เขียนวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเกี่ยวกับการกำกับเป้าหมายทางเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) กับ Ben Friedman ตัวจริงเสียงจริงในวงการเศรษฐศาสตร์นโยบายการเงิน
       ดร. ดอนปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. วิรไท สันติประภพ

       บุตร ชายของ พล ต.อ. ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจและ สวคนดัง ดร วิรไท เป็นนักเรียนไทยไม่กี่คนในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สามารถหักด่านอรหันต์ ็็โดยการจบตรีจากเมืองไทยแล้วสามารถเข้าเรียนปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ใน มหาวิทยาลัยระดับ Top 5 ของโลก (ไม่รวม Chicago) เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องการเปิดเสรีทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Financial Liberization in Southeast Asia) กับ Dwight Perkins นักเศรษฐศาสตร์ระดับ "ตำนาน" อีกคนของ Harvard

       หลังคว้าปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard ดร วิรไท เข้าทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อคุณธารินทร์ผงาดขึ้นเป็นซาร์เศรษฐศาสตร์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ดึงตัวดร วิรไทกลับมาช่วยงานเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายการคลัง think tank ด้านนโยบายของกระทรวงการคลังที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังเมื่อศูนย์อำนาจทางการเมืองเปลี่ยน โครงข่ายของ "มิสเตอร์ที" ถึงการล่มสลาย ดร วิรไทได้ออกมาร่วมงานกับธนาคารไทยพา๊ณิชย์ ปัจจุบันดร วิรไท เป็น Fund Manager ด้านตราสารสารหนี้ให้กับธนาคารไทยพา๊ณิชย์

ดร. ปิติ ดิษยทัต

       ความ พิเศษของ ดร. ปิติคือการที่เป็นคนไทยคนเดียวในรอบ 20 ปีที่มีผลงานตีพิมพ์ใน Journal ระดับมาตราฐานโลก โดย ผลงานของ ดร ปิติ ในเรื่องบทบาทของธนาคารพา๊ณิชย์เมื่อค่าเงินถูกโจมตีได้ถูกตีพิมพ์ใน European Economic Review (นับเฉพาะใน fields of Macroeconomics and International Finance, European Economic Review ถูกจัดเป็น journal ระดับ Top 5)
       ดร. ปิติ จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก Princeton University เขียนวิทยานิพนธ์ภายใต้การกำกับดูแลของ Ben Benanke นักเศรษฐศาสตร์ จาก Princeton ผู้ก้าวมาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ "บุคคลผู้ทรงอิทธิพลเป็นอันดับสองของสหรัฐ" รองจากประธานาธิปดี นอกจากนี้ Kenneth Rogoff อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ก็เป็นส่วนหนึ่งใน Thesis Committee ของดร ปิติ
      หลังจบการศึกษา ดร. ปิติ ได้เข้าทำงานที่ IMF ปัจจุบันกลับมาเป็นกำลังสำคัญของทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
      ดร. ปิติจบตรีเศรษฐศาสตร์จาก Swarthmore College

ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

     ใน ความคิดเห็นส่วนตัว Economic Hitman คิดว่า "ดร นก" เป็นนักเศรษฐศาสตร์อันดับหนึ่ง ถ้านับเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์เลือดใหม่ (40 years old or below)

      อดีต "หนุ่มโสดแห่ปี" วารสาร Cleo, ดร. เศรษฐพุฒิจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ Yale University เคยทำงานที่ Mckinsey ที่ปรึกษาธุรกิจเชิงกุลยุทธ์อันดับหนึ่งของโลก หลังจากจบปริญญาเอกเข้าทำงานกับธนาคารโลก (World Bank) ก่อนที่ธารินทร์ นิมมานเหมินท์จะดึงตัวมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายการคลังคู่กับ ดร วีรไท ภายหลังดร เศรษฐพุฒิกลับไปที่ธนาคารโลกรวมแล้วเป็นนักเศรษฐศาสตร์ให้กับธนาคารโลกเป็น เวลา 10 ปี
      ปัจจุบัน ดร. เศรษฐพุฒิก้าวมากินตำแหน่งใหญ่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยการทาบทามของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง

ดร กอบศักดิ์ ภูตระกูล

      ดร กอบศักดิ์ ภูตระกูลผู้บริหารทีมนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ทีมที่ต้องถือว่าเป็นหัวใจหลักในการดำเนินนโยบายการเงินของแบงค์ชาติ ดร กอบศักดิ์เขียนวิทยานิพนธ์ กับ Robert Solow นักเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบล (yes, the same Solow Model)ในหัวข้อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Three Essays on Ecoomic Growth)
      ดร กอบศักดิ์จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก MIT, จบตรีเศรษฐศาสตร์ควบคณิตเศรษฐศาสตร์จาก Williams College

ดร รุ่ง มัลลิกะมาส

     ลูก สาว ดร โกวิทย์ โปษยานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (PhD Economics also; from Cornell) ดร รุ่งเป็นผู้บริหารทีมกลยุทธ์นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เขียน วิทยานิพนธ์ภายใต้การดูแลของ Olivier Blanchard สุดยอดปรมจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคในข้อหัว ตลาดแรงงานและเศรษฐศาสตร์มหภาค (Essays in macro-labor economics)
     ดร รุ่งจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก MIT, จบตรีจาก Harvard

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ

     นัก เศรษฐศาสตร์เลือดใหม่ของแบงค์ชาติ นักเรียนทุนลูกหม้อของแบงค์ จบตรีเศรษฐศาสตร์ควบบริหารจาก MIT โทบริหารจาก Stanford ก่อนกลับต่อเอก ที่ MIT
     ดร. ยรรยง เป็นลูกศิษย์ก้นกุฎิของ Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกที่พึ่งได้รับรางวัล John Bates Clark Award ที่มอบให้ักับสุดยอดเศรษฐศาสตร์อายุตำ่กว่า 40 ของโลก ปัจจุบัน ดร. ยรรยง ยังถือว่าเป็น "คนไทยคนสุดท้าย" ที่ได้ปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากคณะเศรษฐศาสตร์ของ MIT "the BEST economics program in the universe"

นักคิดระดับโลกล้วนคุ้นเคยเศรษฐศาสตร์

นักคิดระดับโลกใน ด้านการบริหารจัดการหลายคนล้วนผ่านการคุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์มาด้วยกันทั้ง นั้น น่าคิดว่าเหตุใดศาสตร์นี้จึงช่วยให้ประสบความสำเร็จ
ขอกล่าวถึง 3 คนดังซึ่งได้แก่ Peter Drucker, Michael Porter และ Philip Kotler
Peter Drucker เป็นยิวออสเตรียโดยกำเนิดก่อนที่จะโอนสัญชาติเป็นอเมริกัน เขาเกิดในปี 1909 เสียชีวิตไปในวัย 95 ปี เขียนหนังสือรวม 39 เล่มซึ่งมีการแปลมากกว่า 30 ภาษา เป็นเจ้าของบทความนับร้อยๆ ชิ้น ในวัย 90 ปี เขาออกหนังสือปีละ 1-2 เล่ม
Drucker เป็นผู้สนใจเรื่องราวของการบริหารจัดการมนุษย์ในองค์กร เขาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดสูงมากเป็นเวลาต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษใน เรื่องทฤษฎีการจัดการและการปฏิบัติจริงก่อนจบกฎหมายปริญญาเอก เขาเรียนจบปริญญาตรีสไตล์ยุโรป คือ มีความรู้ทั้งด้านปรัชญา ประวัติศาสตร์ การเมืองและเศรษฐศาสตร์ เขาเคยเป็น Chief Economist ของธนาคารพาณิชย์และอีกหลายอาชีพก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ในสหรัฐอเมริกา Drucker ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียเรืองนาม Joseph Schumpeter ผู้เป็นเพื่อนของพ่อเขาในเรื่องนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้งเขาฟังการบรรยายของ John Maynard Keynes ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษอีกด้วย
สำหรับ Michael Porter ผู้เกิดในปี 1947 นั้น เรียกได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยตรง หลังจากจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์และ M.B.A. จาก Harvard Business School แล้ว เขาจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จาก Harvard ในปี 1973
Porter เขียนหนังสือ 18 เล่ม และบทความอีกนับไม่ถ้วน ผลงานของเขาล้วนเกี่ยวกับการแข่งขันและกลยุทธ์องค์กรธุรกิจ จนได้ชื่อว่าเป็นบิดาของกลยุทธ์สมัยใหม่ เขาเป็นเจ้าของแนวคิดสำคัญที่มีชื่อว่า Competitive Advantage ซึ่งต่างจาก Comparative Advantage ที่ร่ำเรียนกันมานานในเศรษฐศาสตร์ Value Chain, Core Competency, Competitive Strategy ฯลฯ ล้วนเป็นคำที่เขานำมาใช้เพื่ออธิบายการสร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันตามแนวคิด สมัยใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำ อย่างเป็นระบบมาก่อน
ส่วน Philip Kotler นั้นเกิดในปี 1931 (ปัจจุบันอายุ 82 ปี) จบปริญญาโทและปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และ MIT โดยเป็นลูกศิษย์ของยักษ์เศรษฐศาสตร์ผู้รับรางวัล โนเบิล 3 คน คือ Milton Friedman, Paul Samuelson และ Robert Solow ไม่มีนักศึกษา M.B.A. ชั้นดีคนใดที่ไม่เคยอ่านตำราการตลาดของเขา ตำราชื่อ Marketing Management เป็นตำราระดับบัณฑิตศึกษาที่อ่านกันกว้างขวางที่สุดในโลก เขาเขียนหนังสือรวมกว่า 50 เล่มในหลากหลายสาขาอย่างน่าทึ่ง Kotler พัฒนาแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการตลาดไว้มากมาย เขาเชื่อว่าการตลาดเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ มีคนกล่าวถึงเขาว่าเป็นบิดาของ “Marketing Management”
สิ่งสำคัญที่เชื่อว่าเศรษฐศาสตร์ได้ให้แก่ทั้งสามคนก็คือความกว้างในการ คิด เมื่อเศรษฐศาสตร์มีจุดประสงค์ในการสร้างสวัสดิการสังคม (Social Welfare) ให้แก่สมาชิกโดยมิได้ติดแคบอยู่แค่เรื่องเงินหรือกำไร หรือขาดทุน แนวคิดจึงครอบคลุมไปกว้างไกลถึงแง่มุมต่างๆ ของปัญหาและชีวิตของมนุษย์ เมื่อกรอบความคิดของผู้คุ้นเคยกับเศรษฐศาสตร์กว้าง ดังนั้น เมื่อไปจับสาขาใดขึ้นมาเป็นพิเศษ เช่น Management (Drucker) หรือ Competition and Strategy (Porter) หรือ Marketing (Kotler) จึงสามารถเชื่อมโยงความคิดกับศาสตร์อื่นๆ และประเด็นอื่นๆ ได้ดีจนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นได้มากอยากรู้ว่า Phillp Kotler ในวัย 82 ปี ยังเฉียบคมเพียงใด Nation Group เชิญ Kotler มาบรรยายเรื่อง Marketing 3.0 ในวันที่ 6 มีนาคม 2556
ที่มา ด.ร.วรากรณ์ สามโกเศศ