ในขณะที่นักคิด อย่าง Fareed Zakaria ชี้ให้เราเห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นไร้ประโยชน์หากเป็นประชาธิปไตยที่ไร้เสรี
(illiberal democracy) ก็มีนักคิดอีกจำนวนหนึ่งที่เปรียบเสมือนไม้ผลัดที่สาม
ผู้ส่องกล้องมองสังคมมนุษย์ในระดับที่แคบลงมากว่าระบอบการเมือง ด้วยการเพ่งความคิดไปที่ประเด็นว่า
"เสรีภาพของมนุษย์" นั้น ควรมีขอบเขตหรือไม่ อย่างไร และเราจะใช้หลักการนี้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างไร
หนึ่งในนักคิดผู้มีอิทธิพลในการศึกษาประเด็นนี้มากที่สุดคือ
Amartya Sen
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
ในปี 2541 จากงานวิจัยและงานเขียนอันโดดเด่นด้านเศรษฐศาสตร์สังคมสวัสดิการ
(welfare economics) โดยเฉพาะบทวิจัยที่พิสูจน์ว่า
ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนา ภาวะอดอยากอย่างรุนแรง (famine) ไม่ได้เกิดจากภาวะการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) แต่เกิดจากปัญหาที่ผู้อดอยากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน หรือไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการบริโภค
Sen เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ของโลก ที่ใส่มิติของศีลธรรม (ethics) เข้าไปในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทำให้เศรษฐศาสตร์มีความอ่อนโยน และมีมนุษยธรรมเพิ่มขึ้น
แนวคิดและงานวิจัยของ Sen ไม่จำกัดอยู่เพียงทฤษฎีในตำราเรียนเท่านั้น
แต่ยังมีอิทธิพลมหาศาลต่อเศรษฐศาสตร์สวัสดิการทั้งแขนง ตลอดจนนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงโดยหน่วยงานสากลต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนา อาทิ ธนาคารโลก และโปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ
(United Nations Development
Programme) ผู้นำแนวคิดของ Sen ไปใช้ในการวิเคราะห์ความคืบหน้าของการพัฒนาประเทศทั่วโลก
เพื่อสังเคราะห์และประมวลออกมาเป็น "รายงานการพัฒนามนุษย์" (Human Development Report) ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา
Sen สรุปความคิดและผลงานวิจัยหลักๆ
ของเขา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพและการพัฒนา ในหนังสือเรื่อง
Development as Freedom (การพัฒนาในฐานะเสรีภาพ)
แก่นของหนังสือเล่มนี้ คือข้อเสนอของ Sen ว่า เราไม่ควรวัดคุณภาพชีวิตมนุษย์ด้วยทรัพย์สินหรือรายได้
หรือแม้กระทั่งระดับความพึงพอใจ (ในหลักการ utilitarianism หรืออรรถประโยชน์นิยม)
หากควรวัดด้วยระดับ เสรีภาพ เขามีจุดยืนแบบเสรีนิยม (liberalism) โดยกล่าวว่า "เป็นเรื่องยากที่การพัฒนาจะรุดหน้าไปได้ไกลโดยปราศจากกลไกตลาด"
แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มองข้ามความสำคัญของกลไกรัฐ เพราะ "มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนสังคม ควบคุมตลาด และเล่นการเมืองในทางที่สามารถช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
การต่อต้านกลไกตลาดโดยทั่วไป เป็นเรื่องแปลกเหมือนกับต่อต้านการสนทนากันระหว่างคนสองคน
เพราะกิจกรรมตลาดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน"
"เสรีภาพ" ในแนวคิดของ
Sen มีความหมายกว้างกว่า และครอบคลุมมากกว่าศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป
(เช่น กว้างกว่าความหมายของ "เสรีภาพพื้นฐานทางการเมือง"
เช่น เสรีภาพในการพูดและการชุมนุม ที่ Zakaria พูดถึง) โดย Sen
เสนอว่า มนุษย์ทุกคนควรได้รับเสรีภาพที่สำคัญห้าประการด้วยกัน คือ:
1. เสรีภาพทางการเมือง 2.
เสรีภาพทางเศรษฐกิจ 3. โอกาสทางสังคม
4. หลักประกันความโปร่งใส 5. การคุ้มครองความปลอดภัย
Sen บอกว่า เสรีภาพเหล่านี้เป็นทั้ง
"วิธีการ" และ "เป้าหมาย" ของการพัฒนา เสรีภาพควรเป็นวิธีการของการพัฒนาเพราะ
"การใช้เสรีภาพถูกกำกับโดยคุณธรรม ซึ่งถูกกำกับอีกชั้นหนึ่งโดยการหารือสาธารณะ
(public discussions) และการติดต่อกันทางสังคม ซึ่งถูกกำกับอีกทอดหนึ่งโดยเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้"
นอกจากนี้ Sen เชื่อว่า
ระดับการลิดรอนศักยภาพของคน (ในการใช้เสรีภาพข้างต้น) เป็นเครื่องวัด
"ระดับความยากจน" ได้ดีกว่าตัวเลขรายได้ เพราะสามารถครอบคลุมแง่มุมของความยากจนที่มองไม่เห็นด้วยตัววัดทางรายได้
Sen ยกตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป ด้านสาธารณสุขและอัตราการตายของประชาชน
และความแตกต่างระหว่างทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราและอินเดีย ด้านอัตราการรู้หนังสือ
อัตราการตายของทารกแรกเกิด และความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ
Sen ไม่ได้เป็นนักคิด
"ซ้ายจัด" ที่ปฏิเสธระบบตลาด (market economy) ใน
Development as Freedom เขาย้ำให้เห็นความสำคัญ
และประสิทธิภาพของระบบตลาด ในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้ Sen
ยังเชื่อว่าตลาดสามารถมีบทบาทในการช่วยรัฐเผยแพร่สินค้าสาธารณะ (public goods
เช่น ความรู้ หรืออากาศบริสุทธิ์) เขาเสนอว่า การกำหนดให้
"การเพิ่มศักยภาพส่วนบุคคล"
เป็นเป้าหมายของโครงการสังคมสงเคราะห์ต่างๆ (แทนที่จะใช้
"การเพิ่มรายได้" เป็นเป้าหมาย แบบที่รัฐส่วนใหญ่กำลังทำอยู่) จะช่วยลดการบิดเบือนของแรงจูงใจในตลาดได้
และช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสมีเสรีภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
และพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
การเสนอให้เสรีภาพส่วนบุคคล เป็นเป้าหมายและวิธีการของการพัฒนา ทำให้ Sen มองว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น
เป็นระบอบการเมืองที่เหมาะสมต่อการพัฒนาที่สุด เพราะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
(ซึ่งประเด็นนี้ถ้าเราเอาแนวคิดของ Zakaria มาปรับใช้
ก็ต้องเน้นว่า ประชาธิปไตยนั้นต้องใช้ เสรีนิยมใต้รัฐธรรมนูญ
(constitutional liberalism) ควบคู่ไปด้วย จึงจะคุ้มครองได้จริง) และมีบทบาทเชิงบวกในการสร้างคุณค่า
และมาตรฐานต่างๆ ของสังคม ซึ่งรวมทั้งกรอบความต้องการทางเศรษฐกิจด้วย
บทที่เจ็ดใน
Development as Freedom สรุปผลการวิจัยที่โด่งดังที่สุดของ Sen
นั่นคือ การศึกษาวิเคราะห์สภาพความอดอยาก (famine) ของประชากร เขาสรุปผลว่า ภาวะอันน่าหดหู่นี้
ปกติไม่ได้เกิดจากการผลิตอาหารไม่เพียงพอ (food shortage) – บางครั้ง
บางประเทศยังส่งออกอาหารได้ขณะที่ประชากรตัวเองต้องอดอยาก – แต่เกิดจากภาวะความยากจนอย่างรุนแรง
เขาบอกว่า รัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะความอดอยากได้ง่าย และใช้เงินไม่มาก โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ
โครงการจ้างงานของรัฐ Sen ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความอดอยากอย่างรุนแรงนั้น
ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย และไม่น่าจะเกิดขึ้นด้วย เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นได้เฉพาะในประเทศที่ใช้ระบอบเผด็จการที่ไร้ความโปร่ง
ใส และปราศจากการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ
จากการวิเคราะห์อัตราการเติบโตของประชากรโลก
และอัตราการผลิตอาหาร Sen เสนอหลักฐานแย้งคำพยากรณ์ของนักคิด
(ที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น Thomas Malthus) ที่คาดว่า
ปริมาณอาหารที่มนุษย์ผลิตได้ในอนาคต จะไม่สามารถรองรับความต้องการของประชากรโลกได้
สองร้อยปีที่ผ่านมา
เทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้า ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
ในขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตของประชากรโลกก็ลดลง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของทารกที่ลดลง
Sen ชี้ว่า การช่วยเหลือให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นนั้น
สำคัญพอๆ กับการช่วยเหลือให้พวกเธอมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ
การรู้หนังสือ และระดับงานที่ผู้หญิงได้ทำ เป็นดัชนีที่ทำนายอัตราการรอดตายของเด็ก
และอัตราชะลอตัวของอัตราการเกิดที่ดีที่สุดในโลก
Sen เสนอข้อโต้แย้งนักคิดหลายๆ
คน โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่ชอบอ้างว่า "คุณค่าแบบเอเชีย"
(Asian Values) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดย Sen
ชี้ว่า ประวัติศาสตร์การพัฒนาในเอเชียนั้น
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "ประเพณีของโลกตะวันตกนั้น ไม่ใช่เป็นแนวทางเดียวที่เตรียมตัวให้เราสามารถใช้วิธีการที่ตั้งอยู่บนหลัก
การแห่งเสรีภาพ ในการบรรลุความเข้าใจทางสังคม"
ทฤษฎีหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สังคมสงเคราะห์
คือ ทฤษฎีความเป็นไปไม่ได้ ของ Kenneth Arrow ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี พ.ศ. 2515 ทฤษฎีนี้กล่าวว่า
ไม่มีทางที่เราจะ "รวบรวม" (aggregate) ความชอบต่างๆ
ของมนุษย์ได้ โดยไม่ให้ผลที่ออกมานั้น ไร้เหตุผลหรือไม่ยุติธรรม ซึ่ง Sen ชี้ว่า ทฤษฎีนี้ไม่ได้แปลว่า เราไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่ชอบธรรมได้ หากแปลว่า
ประชาธิปไตยที่ดีนั้นจะต้องมีฐานข้อมูลที่หลากหลาย และพอเพียงต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง
Sen บอกว่า แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่า
ความเห็นแก่ตัว (selfishness) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยม
แท้ที่จริงแล้วปัจจัยอื่นๆ เช่น จรรยาบรรณทางธุรกิจ (business ethics) ระดับคอร์รัปชั่น และการใช้นิติกรรมสัญญา (contract) ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้า หรือความตกต่ำของระบบทุนนิยม
Development as Freedom เป็นหนังสืออันยอดเยี่ยมที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรม
เสรีภาพ และความรับผิดชอบในสังคม ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถบรรลุเป้าหมายของการคุ้มครอง
และส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนได้เหมือนกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่าง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่เท่ากัน
ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า ศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกโดยระดับเสรีภาพต่างๆ ห้าประการ
เป็นตัววัดระดับการพัฒนาของประเทศที่ดีกว่า GDP ต่อหัว หรือแม้แต่หลักการเรื่อง
"ทุนมนุษย์" (human capital) ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญ
แต่ก็ยังแคบเกินไป เพราะจำกัดความหมายอยู่เพียงผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต (effects
of production) เท่านั้น ไม่รวมผลกระทบทางตรงของศักยภาพของมนุษย์ ต่อระดับความเป็นอยู่และเสรีภาพ
และผลกระทบทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันดีงาม
ท้ายนี้เป็นบางตอนจากบทสัมภาษณ์ Sen ในวารสาร
AsiaSource ที่แจกแจงความเห็นของ Sen ว่า
ปัจจุบันโลกเรามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใดในการพัฒนามนุษย์:
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น