วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

'กิริฎา' นักเศรษฐศาสตร์หญิง มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว


หากกล่าวถึงผู้หญิงเก่งในแวดวงเศรษฐกิจของไทย แน่นอนว่า หนึ่งในจำนวนนั้นจะต้องมีชื่อของ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ของธนาคารโลกร่วมอยู่ด้วย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เธอเป็นตัวแทนธนาคารโลกเพียงคนเดียว ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวิเคราะห์ และติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย แม้เธอจะถ่อมตนว่ายังมีทีมงานอีก 4-5 คนร่วมงานด้วยก็ตาม ดร.กิริฎา เริ่มทำงานกับธนาคารโลกมาตั้งแต่ปี 2542 หลังจากจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ทั้งปริญญาโทและเอก จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลที่ได้รับคัดเลือกให้รับทุนเพียงหนึ่งเดียว ในสาขาธรรมศาสตร์ หลังจากที่เธอเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเมื่อปี 2536
เธอเล่าให้ฟังถึงที่มาในการเข้ามาร่วมงานกับธนาคารโลกว่า หลังจากที่เรียนจบปริญญาเอก เธอก็มองหางาน โดยพิจารณาจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเป็นหลัก เพราะเธอต้องการนำความรู้ที่เรียนมา ใช้ในการพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น
ในบรรดาองค์กรต่างๆ ที่เธอเล็งไว้แต่แรกทั้งธนาคารโลก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) นั้น เธอเห็นว่าธนาคารโลก เป็นองค์กรที่มีสาขาหลากหลายทั้งเรื่องความยากจน เรื่องการพัฒนาชนบท เรื่องเศรษฐกิจมหภาคและอื่นๆ ทำให้เธอเชื่อว่าจะสามารถเปิดมุมมอง ความคิดในด้านการพัฒนาอื่นๆ ให้กับเธอได้มากขึ้น ประกอบกับขณะนั้น ธนาคารโลกต้องการขยายงานในประเทศไทยและมีนโยบายกระจายศูนย์อำนาจไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น ทำให้มีการจ้างงานคนในพื้นที่ของแต่ละประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย
โดยในการทำงานด้านการพัฒนาของเธอนั้น ดร.กิริฎา เล่าว่าจะต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจสถานการณ์ของแต่ละประเทศ อย่างแท้จริงก่อนว่าเป็นอย่างไร จึงจะทำให้สามารถรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่งการทำความเข้าใจนั้น ก็ต้องใช้หลักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยในกรณีของประเทศไทยนั้น ขณะที่ไทยมองธนาคารโลกว่า สามารถนำความรู้มาให้ได้ ธนาคารโลกเองก็ต้องถือว่าไทยเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ที่ธนาคารโลก จะสามารถนำเอาความรู้ ไปแบ่งปันให้กับประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน
และด้วยการทำงานในด้านการพัฒนานี้เอง ที่ทำให้เธอยึดหลักในการทำงานว่าความสำเร็จของงานเป็นความสำเร็จของเธอ เธอจึงคิดที่จะทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่เธอรับผิดชอบสามารถพัฒนาไปได้อย่างดีที่สุด
ในการพัฒนาประเทศไทยนั้น ดร.กิริฎา เล่าว่าขณะนี้ธนาคารโลก ร่วมกับสภาพัฒน์กำลังทำการศึกษา ถึงการพัฒนาให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ไทย ขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่คนมีความรู้ และมีทักษะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้ เพราะการแข่งขันด้วยราคาสินค้านั้นไม่สามารถใช้ได้ดีในระยะต่อไปแล้ว ทั้งนี้ จากดัชนีเศรษฐกิจฐานความรู้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าดัชนีเศรษฐกิจฐานความรู้ของไทยซึ่งอยู่ที่ 4.76 เพิ่มขึ้นจากสิบปีก่อนที่ดัชนีอยู่ที่ 4.26 ไม่มากนัก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ดัชนีดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าทั้ง เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สำหรับวิธีการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้นั้น ดร.กิริฎา อธิบายว่าจะต้องมีการกระจายความรู้ ให้ไปสู่คนไทยให้มากขึ้น ด้วยการที่มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจจะต้องมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำความรู้หรือผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ในการปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็จะต้องเพิ่มบทบาทของสถาบันวิจัยของภาครัฐให้มากขึ้น เห็นได้จากตัวอย่างของประเทศเกาหลี ที่มีสถาบันวิจัยที่เข้มแข็งมาก จนสามารถบ่มเพาะธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นในธุรกิจเทคโนโลยี ให้สามารถออกไปตั้งบริษัทของตนเองได้อย่างดี
นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้แล้ว สิ่งที่จะช่วยพัฒนาผลิตภาพการผลิตของบริษัทไทยให้ดีขึ้น คือการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคบริการ เช่น ภาคการเงิน โทรคมนาคม โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงถึง 45% ของจีดีพี และยังเป็นธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนภาคการผลิตของไทยด้วย โดย ดร.กิริฎา อธิบายว่า จะต้องให้ภาคบริการ มีการแข่งขันมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้บริษัทต่างๆ มุ่งปรับปรุงธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้นด้วย
อีกทั้งควรจะมีการออกกฎหมายที่สนับสนุนธุรกิจบริการ เช่น พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ ที่อนุญาตให้บริษัทสามารถกู้ยืมได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันในรูปของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ อย่างอาคารหรือที่ดินแต่เปิดให้ใช้สัญญางานต่างๆ หรือใช้กระแสเงินสดเป็นหลักประกันการกู้ยืมได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการที่ไม่มีโรงงาน หรืออาคารไปเป็นหลักประกันให้มีแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรจะผ่อนคลายข้อจำกัดของการทำธุรกิจในด้านกฎระเบียบ เช่น การลดขั้นตอน การปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ หรือการสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ เนื่องมาจากผลการสำรวจระดับการเพิ่มผลผลิตและบรรยากาศการลงทุนในไทยเมื่อปี 2548 พบว่าข้อจำกัดด้านกฎหมาย การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ เป็นข้อจำกัดทางการลงทุนของไทย
นอกเหนือจากการพัฒนาธุรกิจไทยให้สามารถปรับตัวดีขึ้น เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้แล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งเป็นทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมคือปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ โดยหากพิจารณาจากระดับการบริโภคเฉลี่ยพบว่า กลุ่มคนที่จนที่สุดในไทย มีการบริโภคเพียง 1,155 บาทต่อเดือน แตกต่างจากกลุ่มคนที่รวยที่สุดที่มีการบริโภคเฉลี่ยถึง 9,558 ล้านบาทต่อเดือน และหากเทียบการขยายตัวของการบริโภค จะพบว่ากลุ่มคนจนมีการบริโภคเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ไปปี 2547 เพียง 8.65% ขณะที่กลุ่มคนรวยมีการบริโภคในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นถึง 16.49%
ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วจะพบว่าปัญหาความยากจนในประเทศไทยนั้น มีการกระจุกตัวอยู่ในบางจังหวัด ดังนั้น ในการแก้ไขจึงต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าพื้นที่ใดที่มีคนยากจนสูง เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ตรงจุด โดยวิธีการที่ ดร.กิริฎาคิดว่าสามารถช่วยเหลือคนยากจนได้ คือการสร้างโอกาสให้กับคนจนได้มีช่องทางในการสร้างรายได้ และอีกช่องทางหนึ่งคือการให้บริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ที่มีคุณภาพเข้าถึงแหล่งของคนจนให้มากขึ้น
นอกเหนือไปจากงานพัฒนาเศรษฐกิจไทยของ ดร.กิริฎาแล้ว อีกงานหนึ่งซึ่งเธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมเมื่อเร็วๆ มานี้ คือการเข้าไปช่วยการศึกษาเกี่ยวกับการใช้จ่ายของภาครัฐในประเทศลาว ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของธนาคารโลก ที่ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานข้าราชการของประเทศลาว และการจัดสรรรายได้ดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ประเทศลาวมีค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรของภาครัฐจำนวนมาก
การเข้าไปช่วยงานของธนาคารโลกที่ประเทศลาวนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ตรงกับความสนใจของ ดร.กิริฎาโดยตรง เพราะนอกจากเธอจะได้มีส่วนเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านของไทยแล้ว การเดินทางไปยังประเทศลาวยังน่าจะตอบสนองความชอบท่องเที่ยวในประเทศที่กำลังพัฒนาของเธอด้วย
โดย ดร.กิริฎา ได้ให้เหตุผลในการท่องเที่ยวประเทศที่กำลังพัฒนาว่า ทำให้เธอได้เรียนรู้วิถีชีวิต และทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของแต่ละประเทศได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น และนอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว ก็ยังทำให้เธอได้ข้อมูลกลับมาใช้ในการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของเธอที่ธนาคารโลกด้วย
ไม่เพียงแต่งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันและการท่องเที่ยวส่วนตัวเท่านั้นที่เธอให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ แม้ในอนาคตหากเธอไม่ได้ทำงานที่ธนาคารโลกแล้ว เธอก็ยังไม่ทิ้งที่จะทำงานด้านการพัฒนาอยู่ดี แต่เปลี่ยนจากการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นการพัฒนาบุคลากรของประเทศแทน โดยเธอวางแผนไว้ว่า หากไม่ได้ทำงานที่ธนาคารโลกแล้ว เธอคงจะไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในวิชาเศรษฐศาสตร์พัฒนา ที่ปัจจุบันเธอก็สอนอยู่ในฐานะอาจารย์พิเศษให้กับนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.กิริฎา ทิ้งท้ายให้ฟังว่าการสอนหนังสือให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่นั้น เธอจะพยายามแนะนำนักศึกษาให้มีความคิดว่า ในทุกการเรียนทุกสาขาสามารถนำแนวความคิดด้านการพัฒนาไปปรับใช้เพื่อการพัฒนาประเทศชาติได้ทั้งสิ้น ซึ่งในฐานะครูคนหนึ่งเธอก็เห็นว่าหากสามารถทำให้นักศึกษาสักเพียง 1-2 คน หันมาสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศได้อย่างที่เธอทำ ก็น่าจะเป็นความภูมิใจของนักพัฒนาอย่างเธอแล้ว

ทีมา        หนึ่งหทัย อินทขันตี  กรุงเทพธุรกิจ  วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q4/2006november27p11.htm 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น