วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

รวยกระจุก จนกระจาย

       8.9 ล้านคน หรือร้อยละ 14.2 ของประชากร คือ คนจนที่มีรายได้รวมกัน เพียงร้อยละ 4 ของรายได้ทั้งประเทศ ส่วนกลุ่มคนรวยสุดร้อยละ 20 ของประชากร กลับครอบครองรายได้สูง ถึงเกือบร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งประเทศ 
      นี่คือภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาคู่แฝดที่สร้างความทุกข์ยากให้กับผู้ด้อยโอกาส ความขัดแย้ง   ระหว่างชนชั้น และยังคงกัดกร่อนสังคมไทยมาตลอด 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ ทางด้านการพัฒนาตามแนวคิด ความเชื่อในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีที่ว่า การสะสมทุน เป็นทางออกของการพัฒนาประเทศให้มั่งคั่ง และมั่นคง ช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน
       แต่จากประวัติศาสตร์ความเป็นจริงของการพัฒนากลับล้มเหลว แนวนโยบายดังกล่าวเอื้อต่อกลุ่มทุนในการแสวงหาผลประโยชน์/รายได้ ในขณะที่กลุ่มคนยากจนได้รับผลพวงการพัฒนาในลักษณะที่เรียกได้ว่า "รวยกระจุก จนกระจาย" ซึ่งเห็นได้ชัดจากแนวโน้มความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่กลับเพิ่มสูงขึ้น ดังผลของวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 5 ปีก่อน
     ที่ผ่านๆ มา การสะสมทุนที่ว่านี้ เป็นความพยายามที่จะเพิ่มพูนในลักษณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเรียกกันว่า ทุนทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายการผลิต ยิ่งประเทศใดมีทุนทางเศรษฐกิจมาก ก็จะยิ่งมีกำลังหรือความสามารถในการผลิตทั้งสินค้า และบริการให้กับประเทศได้มากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งทุนทางเศรษฐกิจนี้ ประกอบด้วยทุน 2 ประเภท คือ
1) ทุนทางกายภาพ หรือทุนทางวัตถุ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ได้แก่ ที่ดิน อาคาร โรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ
2) ทุนมนุษย์ ได้แก่ กำลังแรงงาน แรงกายแรงใจ สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และทักษะการบริหารจัดการต่างๆ
      โดยที่ทุนทางเศรษฐกิจ เมื่อเติมลงไปในกระบวนการผลิตแล้ว จะเส้นสร้างหรือให้ความสำคัญกับการสร้างผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าและบริการ สร้างเงิน สร้างรายได้ สร้างฐานะหรือความมั่งคั่งเป็นหลัก
ที่มา  มองมุมใหม่ : สุทิพันธุ์ บงสุนันท์             กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545 
          http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2002q4/article2002dec26p1.htm
        ส่วน ทุนทางสังคม เป็นทุนที่เกี่ยวกับทุนวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ทั้งในชุมชนเมือง และชุมชนชนบท เมื่อได้นำทุนเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่แล้ว และที่สร้างขึ้นใหม่มาบูรณาการ เติมแต่งหรือปรับเข้าไปในตัวคนแล้ว จะสร้างความเป็นมนุษย์ ทำให้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข คนได้รับโอกาสในการพัฒนา มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เน้นความเท่าเทียมและความมั่นคงของสังคม
          แต่ฉากหนึ่งที่น่าสนใจของหน้าประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอัตราที่สูงมากในช่วงทศวรรษปี 2530 (ปี 2530-2539) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างการเติบโตที่มาจากการลงทุนที่เร่งสร้างผลผลิต สร้างรายได้ โดยการไปเบียดเบียนสังคม และมนุษย์ด้วยกันเอง พยายามเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นผลผลิต เป็นเงินเป็นรายได้
         นอกจากนี้ การสร้างรายได้ยังมีลักษณะฉาบฉวย หวังรวยทางลัด จับจ่ายใช้สอยกันอย่างฟุ่มเฟือย โดยเก็งกำไรในที่ดินอสังหาริมทรัพย์และหุ้น ซึ่งชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งเกษตรกรบางส่วน ก็เข้ามาร่วมเป็นผู้เล่นในการเก็งกำไรด้วย โดยมีภาคสถาบันการเงินไปเร่งสร้างเศรษฐกิจฟองสบู่ ด้วยการปล่อยกู้ที่ขาดจรรยาบรรณ
จะเห็นว่า ตอนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นการเร่งสร้างและเน้นการใช้ทุนทางเศรษฐกิจ ทั้งทุนทางกายภาพกับทุนมนุษย์ ไปเพื่อตอบสนองการผลิตหรือการแสวงหารายได้เป็นหลัก โดยให้ความสำคัญในเรื่องของเงินทอง รายได้ วัตถุสิ่งของ มูลค่าของสินทรัพย์ ความโลภเป็นตัวตั้ง
        วิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม ดิ้นรนเพียงเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดด้วยการแปลงทุนทางเศรษฐกิจที่ใส่ลงไปในกระบวนการผลิตหรือการสร้างรายได้ให้มีผลกำไรสูงสุด ซึ่งยิ่งไปกว่าสร้างโอกาสและเอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ ให้กับกลุ่มทุน ซึ่งกุมทุนทางเศรษฐกิจไว้มาก
       ส่วนเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน คุณค่าทางจิตใจ ความพอเพียง ความซื่อสัตย์สุจริต ความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นจุดเน้นหรือเกี่ยวข้องกับทุนทางสังคม กลับมีความสำคัญเป็นประเด็นรอง มิหนำซ้ำในทางปฏิบัติทุนทางสังคมเหล่านี้ ยังถูกละเลย ถูกทำลาย อันส่งผลต่อการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เกิดวิกฤติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
กรณีรัฐบาลมีนโยบายสาธารณะ ในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนหรือการแปลงที่ดินให้เป็นทุนนั้น จุดมุ่งหมายต้องการให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกิน ได้เป็นเจ้าของที่ดินมีสินทรัพย์เป็นของตัวเอง สามารถที่จะแปลงเป็นทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นๆ ได้ ซึ่งถือว่านโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นการเติมมิติที่เคยขาดหายไปในส่วนของรายได้กลับเข้ามา เพื่อทำให้คนยากคนจน เกษตรกรจะได้มีอาชีพมีงานทำเป็นหลักเป็นฐานกันเสียที
         อย่างไรก็ตาม หากเราเน้นเติมเต็มหรือให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องของการสร้างงาน สร้างรายได้เป็นตัวตั้ง หรือเป็นประเด็นหลักแล้ว ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับทุน ซึ่งเป็นทุนทางเศรษฐกิจมากเกินไป เหมือนอย่างในอดีตหรือไม่
โดยการนำที่ดินไปค้ำประกันเงินกู้ มาประกอบอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งอาจเป็นการสร้างภาระหนี้ใช้จ่ายจนเกินตัวให้กับเกษตรกร ที่ดินอาจถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือของกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นการถูกยึด การเข้ามาเก็งกำไร หรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การจนโอกาส จนความรู้ จนวิถีชีวิต จนคุณภาพชีวิต หรือแม้แต่การจนรายได้ ซึ่งล้วนเป็นมิติต่างๆ ของคนยากคนจน อาจไม่ได้รับการแก้ไขเลยก็เป็นได้
        แม้วันนี้ นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ยังเป็นเพียงแค่แนวคิด เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันหลากหลายมากมาย แต่หากการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาส การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมร่วมกันแล้ว
         และหากรัฐบาลเปิดใจกว้างรับฟังข้อเท็จจริง มุมมอง ข้อคิดเห็นที่แตกต่างในเชิงสร้างสรรค์รอบด้านของทุกๆ ฝ่าย น่าจะเป็นผลดีเป็นข้อเสนอแนะในการกำหนดแนวทาง มาตรการในการสร้างระบบการบริหารจัดการ สร้างระบบตรวจสอบและกลไกป้องกันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบภาษีที่ดิน การกระจายถือครองสิทธิในที่ดิน หรือการตรวจสอบปัญหาการจัดสรรที่ดินในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งยังเป็นประโยชน์สานต่อในการสร้างทุนทางสังคมในระดับชุมชน ในการวางแผนในการอบรมให้ความรู้รวมกับองค์ความรู้เดิมที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว ในการดูแลรักษาทุน ส่งเสริมการใช้ที่ดินและทุนเดิมให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ในการสร้างความเข้มแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นเครือข่าย และสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนเข้ากับเศรษฐกิจมหภาคได้อย่างเกื้อกูลกัน
โดยมีพลังการขับเคลื่อนของทุนทางสังคม ทำงานควบคู่ไปกับพลังของทุนทางเศรษฐกิจ เกิดการสะสมทุนทั้งสองอย่าง ในการสร้างผลผลิตสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีการกระจายรายได้และโอกาสต่างๆ สร้างความเป็นธรรม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาปัญหาคู่แฝดทั้งความยากจน และความเหลื่อมล้ำอย่างที่รัฐบาลเราๆ ท่าน เป็นห่วง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น