วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล

มูลค่าทรัพยากรทางทะเล 
 
 เป็นการคิดมูลค่าโดยดัดแปลงจากเทคนิคการคิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทรัพยากรทั่วไป(ที่มา : ประวีณ ลิมปสายชล. 2546.  การประเมินมูลค่าทรัพยากรทางทะเล วิธีการและกรณีศึกษา. เอกสารเผยแพร่ ลำดับที่ 3. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรุงเทพฯ.)  โดยมี 2 ลักษณะ คือ
 
  • การคิดมูลค่าทรัพยากรทางทะเลโดยตรง หมายถึง ทรัพยากรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตซึ่งเป็นผลผลิตหรือบริการที่มีราคาใน ตลาดโดยตรง สามารถนำรายได้ไปประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น การประเมินมูลค่าแหล่งหญ้าทะเลจากผลผลิตสัตว์น้ำ กล่าวคือ จากข้อมูลการศึกษาวิจัยแหล่งหญ้าทะเลพบว่าแหล่งหญ้าทะเลมีระบบนิเวศอันเป็น ที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสัตว์น้ำหลากหลายชนิดอย่างอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น จึงสามารถใช้ปริมาณและรายได้จากการจับสัตว์น้ำนั้นมาประเมินเป็นมูลค่าของ แหล่งหญ้าทะเลนั้นๆ ได้ นอกจากนี้การประเมินมูลค่าทรัพยากรทางทะเลโดยตรง ยังสามารถนำรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมนันทนาการหรือการท่องเที่ยวมาคิดเป็น มูลค่าของทรัพยากร เช่น หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยพื้นที่ปะการังประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยวที่คิดจากค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าทำกิจกรรมอื่นๆ ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมปะการังที่หาดป่าตอง จึงเป็นมูลค่าของปะการังและชายหาดของหาดป่าตอง

  • การคิดมูลค่าทรัพยากรทางทะเลโดยอ้อม เป็นการมุ่งประเมินแบบบูรณาการของมูลค่าทางระบบนิเวศโดยเน้นทางด้านสิ่งแวด ล้อมและชีววิทยา ซึ่งไม่มีราคาโดยตรงทางการตลาด แต่มีวิธีการประเมินเพื่อสะท้อนมูลค่าออกมา ที่นิยมใช้มีอยู่ด้วยกัน 6 วิธี คือ
    1. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลโดยการเทียบเคียงราคาผ่านตลาด (Market based technique) เป็นการประเมินมูลค่าสินค้าใดๆ ที่ไม่ได้ซื้อขายในตลาดโดยตรง เพียงแต่ใช้ราคาในตลาดเป็นตัวกลางในการเทียบเคียง เช่น แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด จึงสามารถเทียบเคียงมูลค่าสัตว์น้ำในแนวปะการังที่ไม่ได้ทำการประมงโดยตรง แต่ใช้ข้อมูลชนิดและปริมาณเทียบเคียงกับราคาในตลาด เพื่อสะท้อนให้เห็นมูลค่าแนวปะการังด้านความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในการ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ  กรณีตัวอย่างเช่น การคำนวณหามูลค่าทั่วไปของแนวปะการังโดยรวมของจังหวัดภูเก็ต โดยอาศัยผลการวิจัยทรัพยากรปลาเศรษฐกิจในแนวปะการังฝั่งทะเลอันดามัน และผลงานวิจัยโครงสร้างประชากรปลาในแนวปะการังจังหวัดภูเก็ต ได้มูลค่าปลาเศรษฐกิจและมูลค่าปลาสวยงามในแนวปะการังต่อพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร มีค่าเท่ากับ 19,679.9 บาท จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่แนวปะการังรวม 11 ตารางกิโลเมตร จึงมีมูลค่าตัวทรัพยากรแนวปะการังด้านความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำประเมิน ได้อย่างน้อยเท่ากับ 196.8 ล้านบาท เป็นต้น
    2. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลโดยการเทียบเคียงส่วนเพิ่มผลผลิต (Marginal effect on production) มี 2 แบบ คือ การเทียบเคียงผลผลิตโดยตรงลดลง ตามหลักการที่ว่า หากระบบนิเวศถูกกระทบกระเทือนผลผลิตจะลดลง และทำให้มูลค่าผ่านตลาดลดลงด้วย อีกแบบคือการเทียบเคียงทางผลผลิตชีวภาพ ทรัพยากรบางชนิดอาจไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในด้านการใช้บริโภค แต่มีคุณค่ามหาศาลด้านอุตสาหกรรมทางชีวภาพ เช่น ใช้สกัดสารเคมีที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์บางอย่าง และใช้ทดแทนสารเคมีบางชนิดได้ ดังนั้น จึงสามารถใช้ราคาของสารเคมีที่ถูกทดแทนนั้นเป็นตัวบอกมูลค่าของทรัพยากรได้
    3. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลโดยการเทียบเคียงกับการลงทุน (Cost-based technique) เป็นวิธีการประเมินมูลค่าทรัพยากรจากการใช้หลักการสละผลประโยชน์ที่ควรจะได้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ มี 3 ลักษณะ คือ การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากการเสียโอกาส การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากการลงทุนในเชิงป้องกัน (Preventive cost) และการลงทุนทดแทน (Replacement cost)
    4. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลด้วยวิธีการสำรวจด้านการใช้ประโยชน์ (Contingent Valuation Method: CVM) เป็นวิธีการประเมินมูลค่าโดยทางอ้อม ใช้พื้นฐานการวิจัยโดยการสอบถามผู้ใช้ทรัพยากรว่าเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to pay: WTP) หรือเต็มใจที่จะรับการชดเชย (Willingness to accept: WTA) ในการใช้ทรัพยากรและให้คงอยู่ตลอดไป วิธีนี้ใช้หลักการประเมินสถานการณ์ซึ่งสมมุติให้ทรัพยากรมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสถานการณ์สมมุติที่มีโอกาสเกิดขึ้นจริง เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในงานวิจัยที่มีการศึกษาเรื่องการประเมินมูลค่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    5. การประเมินมูลค่าทรัพยากร ทางทะเลด้านนันทนาการหรือการท่องเที่ยว (Travel Cost Method: TCM) แนวคิดของวิธีการนี้คือ ทรัพยากรให้คุณประโยชน์ในทางนันทนาการแก่ผู้เดินทางซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเกิด ขึ้นระหว่างการเดินทาง ฉะนั้น จึงนำค่าใช้จ่ายและค่าเวลาที่สูญเสียไปในการเดินทางเป็นตัวแทนของราคา
    6. การประเมินมูลค่าทรัพยากร โดยวิธีประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Hedonic Price Method: HPM) เป็นการประเมินมูลค่าทรัพยากรผ่านตลาดขึ้นกับองค์ประกอบของทรัพยากรโดยเน้น การบริการด้านคุณภาพสภาพแวดล้อม เช่น ความสวยงามของภูมิทัศน์ อากาศบริสุทธิ์ และอื่นๆ ซึ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะมีผลต่อความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ใช้ ทรัพยากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น