วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

การประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
          ในปี พ.ศ.2541 กรมป่าไม้โดยกลุ่มเศรษฐกิจป่าไม้ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจและพัฒนาการจัดการป่าไม้ สำนักวิชาการร่วมกับศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันดำเนินการประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรณีศึกษาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ทั้งนี้เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นป่าขนาดใหญ่ทางด้านตะวันตกของประเทศ มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางวิชาการและความงดงามทางธรรมชาติที่หายากและในปี พ.ศ.2535 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นผืนป่าเดียวกันได้รับการประกาศให้เป็น “ มรดกทางธรรมชาติของโลก ”
          การศึกษาครั้งนี้โดยการวิเคราะห์หามูลค่าทางเศรษฐศาสตร์รวม (Total Economic Value) ของพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าจากการใช้โดยตรงมูลค่าจากการใช้โดยอ้อม (Direct and Indirect Use Values) และมูลค่าจากการมิได้ใช้ทรัพยากรนั้น (Non – Use Value) โดยมีข้อสมมติว่าคุณค่าที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถือเป็นหน่วยเดียว นอกจากนี้สังคมในฐานะผู้ได้รับคุณประโยชน์จากทรัพยากรในรูปต่างๆ จะเป็นผู้ประเมินหรือให้มูลค่า ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ใช้ประโยชน์และผู้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร โดยผู้ใช้ประโยชน์ได้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชน (Buffer Zone) และประชาชนภายนอกที่เข้าไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรในกิจกรรมแบบต่างๆ เช่น การศึกษาวิจัย กิจกรรมสั่งงานศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมนันทนาการ ฯลฯ สำหรับผู้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จะครอบคลุมถึงประชาชนคนไทยทั่วประเทศ
          การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากผู้ใช้ประโยชน์ที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชน จะใช้แบบสอบถามจากตัวอย่าง จำนวน 179 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่ตามแนวกันชนชั้นในและชั้นนอกของหมู่บ้าน จำนวน 6 หมู่บ้าน วิธีการประเมินมูลค่าโดยอาศัยมูลค่าตลาดของทรัพยากร การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากผู้ใช้ประโยชน์ที่เป็นบุคคลภายนอก ใช้แบบสอบถาม โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ จำนวน 298 ราย ตามจำนวนรายชื่อพร้อมที่อยู่ที่รวบรวมได้ และมีตอบกลับจำนวน 154 ราย คิดเป็นร้อยละ 52 วิธีการประเมินมูลค่าสำหรับกลุ่มนี้ใช้เทคนิคการสำรวจความยินดีจ่าย การประเมินมูลค่าทรัพยากรจากประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ใช้แบบสอบถามจากตัวอย่างที่สุ่มใน จำนวน 12 จังหวัดทั่วประเทศคิดเป็น 864 ตัวอย่าง วิธีการประเมินใช้เทคนิคการสำรวจความยินดีจ่าย
          ตามนโยบายการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของรัฐ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติต่างๆ ของรัฐดังนี้
    1. พระราชบัญญัติป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2484
    2. พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
    3. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
          คุณประโยชน์โดยตรงในด้านเป็นแหล่งเนื้อไม้หรือของป่า แม้จะไม่ปรากฎให้เห็นตามข้อห้ามของพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง แต่คุณค่าโดยตรงอย่างอื่นที่ได้รับจากผืนป่าแห่งนี้ก็มีอยู่มากมาย เช่น เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมของพันธุ์พืชที่หายาก รวมทั้งเป็นแหล่งรวมของพืชสมุนไพรที่หายาก ซึ่งบางชนิดอาจใช้เป็นยารักษาโรคที่ยังรักษาไม่หายในอนาคตได้ และพื้นที่ป่าบริเวณนี้ไม่ถูกรบกวนจากมนุษย์ จึงทำให้เป็นแหล่งทางวิชาการและห้องปฏิบัติการของด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาที่สำคัญยิ่ง
          คุณประโยชน์ทางอ้อมเป็นแหล่งอนุรักษ์น้ำให้แก่ลุ่มน้ำหลายสายตลอดจนเป็นแหล่งเอื้ออำนวยให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำ เนื่องจากความเย็นจากเรือนยอดต้นไม้ในป่า ลดการชะล้างพังทะลายของดิน นอกจากนี้ยังชะลอความรุนแรงของลมพายุที่พัดมาจากทะเลอันดามัน ทำให้บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เรือกสวนไร่นาบริเวณดังกล่าว
          การศึกษาโครงการประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กรณีศึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้น ในที่นี้คุณค่าของทรัพยากรมีความหมายเดียวกับมูลค่าสุทธิหรือประโยชน์สุทธิที่สังคมได้รับจากทรัพยากร ดังนั้นวิธีการศึกษาหลักจะใช้วิธีการใช้ราคาการตลาด ในการวิเคราะห์กรณีที่ทรัพยากรมีระบบตลาดรองรับ และใช้วิธีการใช้เทคนิคการสำรวจที่เรียกว่า Contingent Valuation Approach ในกรณีที่ทรัพยากรไม่มีระบบตลาดรองรับ โดยเป็นการสำรวจความยินดีที่จะจ่าย (Willingness to pay) ของบุคคลในสังคมซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ผลประโยชน์สุทธิที่สังคมจะได้รับจากทรัพยากร การประเมินคุณค่าของทรัพยากรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประกอบด้วยการประเมินคุณค่าต่างๆ ดังนี้
          1. คุณค่าที่เกิดจากการใช้โดยตรง (Direct use value) ประเมินได้จากคุณประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ป่า ได้แก่ ที่ดิน ทรัพยากรที่ดิน พืชและสัตว์ ที่เอื้อต่อการผลิตตลอดจนการใช้ประโยชน์โดยตรง เช่น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (Recreation)
          2. คุณค่าที่เกิดจากการใช้โดยอ้อม (inderect use value) ประเมินคุณประโยชน์ของป่าอนุรักษ์ที่สังคมได้รับจากการเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร (watershed) แหล่งกำบังลมพายุ และแหล่งบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง
          3. คุณค่าเผื่อจะใช้ประโยชน์ (option value) ประเมินได้จากการที่สังคมให้มูลค่าแก่ป่าอนุรักษ์เผื่อว่าจะใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและ/หรือทางอ้อมในอนาคต
          4. คุณค่าที่เกิดจากการดำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่ของป่า (existence value) ประเมินได้จากการที่สังคมให้มูลค่าป่าจากการเก็บรักษาไว้เป็นป่าอนุรักษ์ ซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในด้านการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ การดำรงอยู่ของสัตว์ป่าและพืชพรรณที่หายาก อิทธิพลของทรัพยากรป่าไม้ที่มีต่อภูมิอากาศโลก (climate) ตลอดจนการดำรงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
          5. คุณค่าที่เกิดจากการไม่ใช้แต่เก็บไว้ให้ลูกหลาน (bequest value) เป็นคุณค่าที่สังคมให้กับการเก็บรักษาไว้เป็นป่าอนุรักษ์ เพื่อเป็นโอกาสให้สำหรับลูกหลาน (future gerneration) จะใช้ประโยชน์ในอนาคต
คุณค่าของเขตป่าอนุรักษ์แบ่งตามประเภทของมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประเภทของมูลค่า (คุณค่า)
ประโยชน์ที่ได้รับจากเขตป่าอนุรักษ์
  1.  มูลค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรง (direct use value)
1.1 การใช้ผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น ไม้ฟื้น เห็ดป่าต่างๆ และ
      สมุนไพร ฯลฯ
1.2 การนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ
1.3 การศึกษาวิจัย
  1. มูลค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยอ้อม (indirect use value)
2.1 แหล่งต้นน้ำลำธาร
2.2 แหล่งบรรเทาน้ำท่วม
2.3 ความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)
2.4 Microceimate regulation
2.5
แหล่งกำบังลมพายุ
  1. มูลค่าเพื่อจะใช้ประโยชน์ในอนาคต (option value)
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้ในอนาคต คือ 1.1 – 1.3 และ/หรือ 2.1 – 2.5
  1. มูลค่าจากการใช้ (use value)
= 1+2+3
  1. คุณค่าที่เกิดจากการคงอยู่ (existence value)
ความพอใจที่ “ ป่า “ นั้นคงอยู่ตลอดไป
  1. คุณค่าเกิดจากการไม่ได้ใช้แต่เก็บไว้ให้ลูกหลาน (bequest value)
ความพอใจที่ “ ป่า “ นั้นคงอยู่เพื่อให้รุ่นลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต
  1. คุณค่าที่เกิดจากการไม่ได้ใช้ (non – use value)
= 5+6
  1. มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของป่าอนุรักษ์ (economic value)
= (1+2+3) +(5+6)
= 4+7
          คุณค่าทั้งหมดของทรัพยากรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจะได้จากการรวม มูลค่าที่ได้จากการประเมินค่าของกลุ่มผู้ใช้และผู้มิได้ใช้ โดยกลุ่มผู้ใช้ประกอบด้วย ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชนและประชาชนทั่วไปที่เคยเข้าใช้พื้นที่ ส่วนกลุ่มผู้มิได้ใช้ หมายถึง ประชาชนชาวไทยทั่วไปที่ไม่เคยเข้าไปในพื้นที่ ฯลฯ การศึกษาวิจัยในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า คุณค่าของทรัพยากรเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สามารถคิดเป็นมูลค่ารวม = 28,430,330,000 บาท/ปี
ผู้ให้คุณค่า
ประเภทของคุณค่าทรัพยากร
คุณค่าที่ให้
(ล้านบาท/ปี)
คุณค่าจากการใช้ประโยชน์
คุณค่าจากการมิได้ใช้ประโยชน์
ทางตรง
ทางอ้อม
ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวกันชนชนจำนวน 2,524 ครัวเรือน
a
-
a *
9.08
ประชาชนทั่วไปที่เคยเข้าใช้พื้นที่จำนวน 23,000 คน
a
a
a
38.25
ประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยเข้าไปใช้พื้นที่จำนวน 60 ล้านคน
-
-
a
28,383.00
รวม
28,430.33
ที่มา : จากการคำนวณ
หมายเหตุ *คุณค่าที่ได้ในส่วนนี้ถือว่าได้มาจากการรวมประชาชนที่อาศัยอยู่จำนวณแนวกันชนไว้เป็นส่วนหนึ่งของประชาชนจำนวน 60 ล้านคน
เอกสารอ้างอิง
สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ และศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2541) . โครงการประเมินคุณค่าทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรณีศึกษาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น