วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลใหม่

รัฐบาลใหม่เสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการ ความน่าพอใจของนโยบาย
เหล่านั้นคงไม่ได้ตรงไปตรงมาแค่การบวกตัวเลขงบประมาณที่รัฐประกาศว่าจะใช้จ่ายเพื่อกระตุ้น
เศรษฐกิจเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่อยากให้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายมองเห็น คือการดำรงอยู่ของบทบาทของ
ภาคประชาชนที่อยู่ในรูปของกลุ่ม องค์กรชุมชน และ เครือข่าย และการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจที่
ไม่เป็นทางการ (informal sector) ขนาดใหญ่ คุณทักษิณประสบความสำเร็จไม่ใช่ด้วย
ความสามารถในการกำหนดนโยบายประชานิยมแบบลอยลงมาจากบนสู่ล่าง แต่เป็นความสามารถ
ในการมองเห็นการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน แล้วหยิบฉวยและดึงพลังเหล่านั้นมาช่วย
กำหนดนโยบาย
กลุ่มหรือเครือข่ายไม่เป็นทางการ 2 ประเภทที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในแง่การรวมตัว
และมีพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมคือ กลุ่มเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชน และเครือข่ายด้าน
ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ทั้งสองกลุ่มมีจุดต่างกันตรงที่เครือข่ายองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชน
มองว่ารัฐเป็นพันธมิตร เพราะรัฐมีทรัพยากรที่อาจเข้ามาช่วยหนุนเสริมขบวนการของตน ในขณะ
ที่เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอาจไม่ได้มองว่ารัฐคือพันธมิตรเพราะปัญหาการแย่งชิง
สิทธิในทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความเชื่อว่ารัฐเป็นตัวแทนของนายทุน
ยังไม่เห็นว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะดึงพลังจากภาคประชาชนที่ดำรงอยู่ หรือสนับสนุน
พลังของภาคประชาชนอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์นั้นมักเชื่อมั่นในนักวิชาการและระบบราชการ
แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องมองเห็นศักยภาพของภาคส่วนอื่นๆในสังคม และเข้าใจพลังของเศรษฐกิจนอก
ภาคทางการด้วย รัฐบาลสามารถใช้พลังของกลุ่มเครือข่ายในการให้ข้อคิดเห็นรวมถึงติดตามผล
การทำงานของข้าราชการได้ด้วย
ถ้าจะมีนโยบายประชานิยม ก็ต้องทำประชานิยมให้มีคุณภาพ
ความสำเร็จของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ตั้งอยู่บนฐานคิด “ถ้วนหน้า” แบบรัฐ
สวัสดิการ ทำให้ปัจจุบันนักวิชาการ เริ่มแยกแยะ “ประชานิยมที่ดี” แทนการตีขลุมว่าประชานิยม
ไม่ดีไปเสียทั้งหมด
นิยามของ “ประชานิยมที่ดี” ในความหมายของนักวิชาการบางท่านคือการไม่เลือกปฏิบัติ
และการจัดสรรให้ถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคน ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับ “รัฐสวัสดิการ”
ความสำเร็จเบื้องหลังอีกประการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คือ การทำงานอย่างมีส่วนร่วม
ใกล้ชิดกันระหว่างนักวิชาการ หน่วยปฏิบัติ และผู้กำหนดนโยบาย อย่างต่อเนื่อง และมีการปรับปรุง
แก้ไขจนระบบลงตัว
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์นั้น รัฐสวัสดิการเข้ามาเสริมหรือทดแทนความล้มเหลว
ของระบบตลาดที่ไม่สามารถจัดบริการสวัสดิการพื้นฐานให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ส่วนหนึ่งก็
ด้วยเหตุที่เรามีคนรวยคนจน คนจนคนด้อยโอกาสที่ไม่มีอำนาจซื้อจึงขาดโอกาสที่จะเข้าถึง
สวัสดิการที่ดีภายใต้ระบบตลาด ดังนั้น สวัสดิการโดยรัฐนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาให้คนด้อย
โอกาสแล้ว การกำหนดให้เป็น “สิทธิของทุกคน” แบบรัฐสวัสดิการ จึงถือเป็นการสร้างความเท่า
เทียมกันระหว่างคนมีกับคนจนด้วย
จะมีทิศทางในการสร้างประชานิยมที่ดีหรือรัฐสวัสดิการอย่างไร อยากแนะนำให้รัฐบาล
กลับไปอ่านงานเขียนของอาจารย์ป๋ วย ตรงนั้นมีชุดของนโยบายที่ครอบคลุมพอที่จะให้ทิศทาง
เกี่ยวกับสิ่งที่รัฐควรทำ แนวทางการทำงานแบบโครงการการลงทุนทางสังคม (SIF) ในช่วงวิกฤต
เศรษฐกิจ 2540 และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นแนวทางที่ควรได้รับความสนใจ
พรรคประชาธิปัตย์กำลังเสนอนโยบายอีก 2 ประการ คือ การศึกษาฟรี 15 ปี และเบี้ยยังชีพ
ผู้สูงอายุ มีคนบอกว่านี่เป็นประชานิยมที่เป็นแบบรัฐสวัสดิการคืออยู่บนฐานคิดถ้วนหน้า (สำหรับ
เด็กทุกคน และผู้สูงอายุทุกคน) แนวนโยบายให้การศึกษาฟรีและให้เบี้ยยังชีพไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่
ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลคุณอภิสิทธ์ิจะดำเนินนโยบายทั้งสองให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร
การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญและเป็นการลงทุนในระยะยาว การศึกษาฟรีไม่ได้มีผลเชิง
คุณภาพในระยะยาวหากรัฐตีโจทย์ไม่แตกว่าการศึกษาแบบใดที่สังคมต้องการ โดยเฉพาะสังคมที่
หลากหลายและเหลื่อมล้ำอย่างสังคมไทย การศึกษาในระบบในสภาพปัจจุบันนอกจากจะไม่
สามารถสร้างเสริมศักยภาพการแข่งขันภายนอกได้อย่างจริงจังแล้ว ยังตอกย้ำและขยายความ
เหลื่อมล้ำ เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นได้
การศึกษาฟรีจะเป็นเพียงการสนับสนุนการศึกษาในระบบ ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่ายังไม่น่าพอใจสัก
เท่าไร การทุ่มเทให้กับการศึกษาฟรีจะมีผลลดการลงทุนของรัฐเพื่อการศึกษานอกระบบและ
การศึกษาตามอัธยาศัยหรือไม่ อย่างไร รัฐจะสนับสนุนการศึกษานอกระบบหรือไม่อย่างไร เมื่อ
เด็กๆออกไปนอกห้องเรียนยังไม่เห็นหนังสือดีราคาย่อมเยาให้เด็กๆได้อ่านมากนัก ยังไม่เห็น
สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สื่อสาธารณะสำหรับเด็ก งบประมาณส่วนนี้ไปอยู่ที่ไหน งบกระตุ้น
เศรษฐกิจผ่านการอุดหนุนการทำหนังสือดีๆ สื่อการศึกษาดีๆ เป็นเรื่องที่รัฐน่าจะลองหยิบขึ้นมา
พิจารณา
รัฐควรสนับสนุนให้มีการศึกษาวิเคราะห์เศรษฐกิจนอกภาคทางการให้ลึกซึ้ง และรัฐต้อง
ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการมีฐานข้อมูลระดับจุลภาค
ปีที่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตพลังงานและอาหารแพง กระทรวงพาณิชย์วิ่งมาที่คณะ
เศรษฐศาสตร์ ปรึกษาว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าผลผลิตข้าวในประเทศในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีอยู่
จริงเท่าไร วันนั้นทั้งนักวิชาการและข้าราชการออกอาการ “บื้อ” เพราะทั้งนักวิชาการและกระทรวง
พาณิชย์ก็ไม่มีข้อมูลว่าเรามีสต็อกข้าวจริงเท่าไร กระทรวงเกษตรฯไม่มีข้อมูลว่าในเดือนหน้ามีข้าว
ที่จะเก็บเกี่ยวได้อีกเท่าไร พวกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเก็บข้อมูลอย่างไรให้ทันกับการออกแบบ
มาตรการฉุกเฉิน ตัวช่วยกลับกลายเป็นภาคเอกชน ซึ่งแนะนำให้เราไปคุยกับบริษัทรับจ้างเกี่ยวข้าว
ในภาคกลาง (เพราะฤดูนั้นไม่มีข้าวในภาคอื่นๆ) ที่วิ่งตระเวนรถเกี่ยวข้าวอยู่ทั่วทุ่งท้องนาอย่าง
สม่ำเสมอ บริษัทเหล่านี้น่าจะช่วยประเมินข้อมูลได้ใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด
ที่ผ่านมา บริษัทซีพีลงทุนจ้างพนักงานวิ่งเก็บข้อมูลสินค้าเกษตรตามท้องทุ่ง กระทรวง
เกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ก็ลงทุนจ้างคนไทยเก็บข้อมูลข้าวในพื้นที่ชนบท รัฐบาลไทยที่มี
เจ้าหน้าที่รัฐมากมายอยู่ในพื้นที่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลเพียงใด น่ายินดีที่หนึ่งในโครงการ
กระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์คือการจ้างบัณฑิตอาสามาเก็บข้อมูลสินค้าเกษตร มี
ข้อแนะนำว่าข้อมูลที่เก็บควรเป็นข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์เองจะใช้ประโยชน์ได้ในการติดตาม
ประเมินผลนโยบายด้านจำนำสินค้าเกษตรที่กระทรวงฯได้ทุ่มเทงบลงไปมากมายภายใต้ข้ออ้างของ
การ “กระตุ้นเศรษฐกิจ”
สิ่งสุดท้ายที่อยากเห็น คือ รัฐรู้ว่าอะไรที่ไม่ควรทำ เพราะรัฐไทยนั้น ได้ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
มากมายจนชาวบ้านแซวว่า ไม่มีรัฐก็ดี เผื่ออะไรๆอาจจะดีขึ้น จึงได้แต่ฝากรัฐบาลใหม่ให้ช่วยคิด
อย่างจริงจังว่า อะไรที่รัฐทำอยู่แต่แท้จริงแล้วไม่ควรทำ และอะไรที่รัฐควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ

- ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ - pat@econ.tu.ac.th
คอลัมน์ เศรษฐ’ ธรรมศาสตร์ ตลาดวิชา
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2552

เมื่อเงินเฟ้อมา เศษเหรียญก็หายไป

งินเฟ้อสร้างปัญหามากมายให้แก่สมาชิกของระบบเศรษฐกิจ เมื่อข้าวของแพงขึ้น จำนวนเงินเท่าเดิมก็ย่อมซื้อสินค้าได้ปริมาณน้อยลงเป็นธรรมดา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเงินเฟ้อทำให้อำนาจซื้อลดลง หรือค่าเงินที่แท้จริงลดลง อย่างไรก็ดี มีผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่อาจนึกไม่ถึง นั่นก็คือเศษเงินเหรียญอาจหายไปจากระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่ว
ประเทศที่ประสบปัญหานี้ก็คือฟิลิปปินส์เพื่อนอาเซียนของเราที่ปัจจุบันมีจำนวนประชากรแซงหน้าเราไปมากจนปัจจุบันมีถึงประมาณ 80 ล้านคน บนพื้นที่ดิน 3 ใน 5 ของไทย (ฟิลิปปินส์ประกอบด้วย 7,100 เกาะ รวมพื้นที่ 300,000 ตารางกิโลเมตร) มะนิลามีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ คือ 10.3 ล้านคน
หน่วยของเงินคือเปโซ (Peso) และหน่วยย่อยคือเซนตาโว (Centavos) (100 Centavos เท่ากับ 1 Peso) ตอนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 1 บาท เท่ากับ 1 เปโซ แต่ปัจจุบัน 1 บาท เท่ากับประมาณ 1.3 เปโซ (เงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเปโซ)
ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาเงินเฟ้อยาวนานกว่าไทย และตลอดเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมาก็อยู่ในเรือลำเดียวกับไทย กล่าวคือ น้ำมันมีราคาแพงขึ้นมาก ข้าวของแพงขึ้นจนเศษเหรียญแทบไร้ค่า โดยเฉพาะเซนตาโวค่าต่ำๆ และเศษเหรียญในหลายราคาหายไปจากการหมุนเวียน จนผู้ว่าการธนาคารชาติของฟิลิปปินส์ออกมาขอร้องให้คนฟิลิปปินส์อย่า "กักขัง" (imprison) เหรียญกษาปณ์ที่มีจำนวนอยู่ถึง 11,000 ล้านอันไว้ในบ้านเลย เพราะจะทำให้ประเทศเสียเงินทองโดยไม่จำเป็นต้องผลิตเหรียญออกมาเพิ่มขึ้น
ปัญหาในเรื่องการหายไปของเหรียญกษาปณ์ฟิลิปปินส์มีหลายประการโดยมีสาเหตุอื่นนอกจากเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวพันด้วย ถ้าสรุปเป็นประเด็นๆ ก็จะได้ดังนี้
ประการแรก ฟิลิปปินส์ผลิตเหรียญกษาปณ์ออกมาเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับธนบัตรเพื่อเป็นเงินให้ประชาชนใช้ เฉลี่ยคนฟิลิปปินส์แต่ละคนมีเหรียญให้ใช้ประมาณ 140 อัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของคนในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ถึง 3 เท่าตัว (เหรียญคงทนกว่าธนบัตร ผลิตออกมาหนึ่งครั้งใช้ได้นานกว่าธนบัตรมาก) ดังนั้น เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นกับการใช้เหรียญกษาปณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ย่อมเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ประการที่สอง เมื่อข้าวของแพงขึ้นโดยเพิ่มทีละหลายเปโซ เหรียญเซนตาโวจึงไร้ค่าเพราะเอาไปทำอะไรไม่ได้ "ลูกแหง่" หรือเศษเหรียญที่ทำให้หนักกระเป๋าเหล่านี้จึงถูกทิ้งไว้ในกระป๋อง ขวด ลิ้นชัก กระปุกออมสิน กระเป๋า มุมซอกแซกของบ้าน หรือเอาไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น ใช้เป็นแหวนรองน็อต (5 เซนตาโวมีรูที่ใหญ่พอเหมาะกับการใช้เป็นแหวนรองพอดี) ฯลฯ เมื่อขาดแคลนเหรียญราคาต่ำก็เลยทำให้ต้องใช้ลูกอมหรือลูกกวาดเป็นเงินทอนแทน
ประการที่สาม เหรียญเปโซที่ผลิตก่อนหน้า ค.ศ.2004 ซึ่งมีส่วนผสมของทองแดงร้อยละ 75 และนิกเกิ้ลร้อยละ 25 หายไปจากตลาดเมื่อราคาทองแดง และนิกเกิ้ลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวจนทำให้มูลค่าเนื้อโลหะที่ใช้ทำเหรียญเปโซทั้งหมดสูงกว่าราคา 1 เปโซหน้าเหรียญ
เศรษฐศาสตร์มีกฎเก่าแก่อยู่อันหนึ่งที่มีชื่อว่า Gresham"s Law (Thomas Gresham ค.ศ.1519-1579) ซึ่งบอกว่า "เงินเลวไล่เงินดี" กฎนี้คืออะไรจะเห็นได้ชัดหลังจากได้ทราบเรื่องราวของเหรียญฟิลิปปินส์
สถานการณ์ที่เหรียญจั๊ตเก่าของพม่าและเหรียญรูปีเก่าของอินเดียที่เป็นเนื้อเงินแท้หายไปจากตลาด และกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับเครื่องเงินในภาคเหนือในสมัยก่อน และเหรียญเปโซหายไปดังกล่าวตรงกับกฎนี้
ตราบที่มูลค่าเนื้อโลหะของเหรียญต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาหน้าเหรียญทำให้เหรียญไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ วิธีป้องกันไม่ให้มูลค่าเนื้อโลหะลดลงก็โดยการจักขอบเหรียญเพื่อป้องกันไม่ให้คนขูดเศษโลหะออกจากเหรียญไป จนทำให้เหรียญมีขนาดเล็กลงและมูลค่าลดลง
เมื่อไม่นานมานี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรฟิลิปปินส์จับคนลักลอบนำเหรียญหนึ่งเปโซที่ผลิตก่อนปี 2004 ซึ่งมูลค่าเนื้อโลหะสูงกว่าราคาหน้าเหรียญหนึ่งเปโซถึงสามเท่ากว่าออกไปญี่ปุ่นโดยใช้คอนเทนเนอร์ (ไม่ได้ขนด้วยกระเป๋าทางอากาศเป็นร้อยลูกนะครับ) เป็นจำนวน 3-4.5 ล้านอันเพื่อตั้งใจเอาไปหลอมเป็นทองแดงและนิกเกิ้ลขาย และจะใช้เศษโลหะที่เหลือเอาไปปั๊มเป็นเหรียญเพื่อการเล่นปาชิงโกะ
(เกมหยอดเหรียญและมีลูกเหล็กกลมวิ่งไปลงหลุมที่มีคะแนนต่างกัน รางวัลเป็นของเล็กน้อยที่เอาไปขายเป็นเงินได้ ปาชิงโกะโดยแท้จริงแล้วจึงเป็นการพนันถูก "กฎหมาย" ในสังคมญี่ปุ่น)
การหายไปของเหรียญเปโซทำให้ราคาไม่ลงตัว เช่น บริการรถสองแถว (ที่เรียกว่าจีพนี่) ราคาต่ำสุดคือ 7.50 เปโซ คนโดยสารและคนขับต้องต่อรองกันเสมอว่าจะจ่ายราคาใด เพราะเหรียญกษาปณ์ 25 เซนตาโวขาดแคลน (เหรียญที่ใช้มี 7 ราคาตั้งแต่ 1 เซนตาโวจนถึง 10 เปโซ แต่ไม่มี 50 เซนตาโว) เนื่องจากการมีหวยให้เล่นรายวันในฟิลิปปินส์
หวยถูกกฎหมายที่ออกรางวัลทุกวันเรียกว่า Jueteng มีราคา 50 เซนตาโว รางวัลใหญ่คือ 20,000 เปโซ เป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศที่ยังมีคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก (มีข้อมูลอ้างว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมีรายได้ต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน คนเชื่อตัวเลขนี้ทั้งหมดอาจลืมไปว่าคนในชนบทจำนวนมากมีชีวิตอยู่รอดในแต่ละวันได้โดยไม่ต้องใช้เงิน) จนทำให้เหรียญ 25 เซนตาโวเป็นที่ต้องการอย่างมากเพราะสามารถเอาไปใช้แทงหวยได้
Jueteng นี้แหละที่มีส่วนทำให้เกิดการต่อต้านประท้วงประธานาธิบดีแอสตราด้าครั้งใหญ่ เพราะมีหลักฐานว่า รับเงินค่าคุ้มครองไป 545 ล้านเปโซเพื่อให้ออกหวยนี้ได้ จนตกอำนาจไปในปี 2001 (คนไทยที่อ่านตัวเลขนี้แล้วคงขำกลิ้ง) สิ่งที่ทำให้ "คนโกงเพียงแค่นี้" ต้องตกอำนาจก็เพราะประชาสังคมของฟิลิปปินส์นั้นเข้มแข็งกว่าเรา แถมมีรองประธานาธิบดีในตอนนั้นที่มีสมัครพรรคพวกมากมายรุมกันเลื่อยขาเก้าอี้ และมีผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพลสูงยิ่งสนับสนุนรองประธานาธิบดีอีกด้วย
ก่อนหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารชาติจะออกมาขอร้อง ก็ได้แก้ไขส่วนผสมของเหรียญหนึ่งเปโซในปี 2004 ให้มีส่วนผสมของเหล็กซึ่งมีราคาต่ำมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่มูลค่าเนื้อโลหะสูงกว่าราคาหน้าเหรียญซึ่งจะทำให้ Gresham"s Law ทำงาน (ปัจจุบันเนื้อโลหะของเหรียญหนึ่งเปโซที่ผลิตก่อนปี 2004 มีมูลค่า 3.50 เปโซ) กล่าวคือ เหรียญที่มูลค่าเนื้อโลหะสูงกว่าราคาหน้าเหรียญ ("เงินดี") จะหายไป และมีเหรียญที่มูลค่าโลหะต่ำกว่าราคาหน้าเหรียญ ("เงินเลว") มาไหลเวียนแทน
ในเดือนกรกฎาคม 2006 นิวซีแลนด์ผลิตเหรียญใหม่เริ่มตั้งแต่ราคา 10 เซนต์ ถึง 50 เซนต์ (ลดการใช้เหรียญ 5 เซนต์เก่าลง) โดยใช้แผ่นเหล็กชุบเป็นวัตถุดิบซึ่งมูลค่าเนื้อโลหะต่ำกว่าราคาหน้าเหรียญพอควร อีกทั้งยังเบาและทนทานอีกด้วย
ผู้ว่าการธนาคารชาติฟิลิปปินส์แก้ปัญหาเหรียญกษาปณ์ขาดแคลนอย่างหลักแหลมด้วยการติดต่อ Catholic Church ของฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับเงินบริจาคในรูปของเหรียญกษาปณ์รวมเป็นเงิน 82 ล้านเปโซ นับตั้งแต่มีการรณรงค์เพื่อคนจนในปี 2004 เพื่อให้นำมาฝากกับธนาคารเร็วขึ้น เหรียญกษาปณ์จะได้ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างไม่ขาดแคลน ธนาคารชาติฟิลิปปินส์ยังเข็ดไม่หายกับต้นทุนการผลิตเหรียญกษาปณ์ในปี 2005 จำนวน 1 พันล้านเหรียญในราคา 700 ล้านเปซภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองพอควร และมีหนี้สาธารณะรวมถึง 4 ล้านล้านเปโซ
ไทยเรายังไม่มีวิกฤตเหรียญกษาปณ์เพราะถึงอย่างไรหนึ่งบาทและห้าสิบสตางค์ของเรายังมีค่า และคนไทยไม่ชอบใช้เหรียญกษาปณ์จนเงินส่วนใหญ่เป็นธนบัตร เราเคยมีปัญหาเหรียญกษาปณ์ก็เพียงเมื่อครั้งเหรียญ 2 บาทกับ 5 บาทมีหน้าตาและขนาดใกล้เคียงกันมาก
จนเป็นประเทศเดียวในโลกตอนนั้นที่มีสีเมจิคเขียนบนเหรียญสำทับอีกครั้งว่าเป็น 2 บาท หรือ 5 บาท

เครื่องเคียงอาหารสมอง
มีหลักฐานว่าเมื่อ 50 ปีก่อนคริสตกาลจักรพรรดิเนโร ผู้เผากรุงโรม และ Alexander The Great ได้บริโภคของหวาน ที่ประกอบด้วยหิมะผสมกับน้ำผึ้ง ถั่ว และผลไม้ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ไอศกรีมอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นการปูทางไปสู่ไอศกรีมในเวลาต่อมา
ประมาณ ค.ศ.1640 หัวหน้าเครื่องต้นของพระเจ้าชาลร์สที่หนึ่งของฝรั่งเศสชื่อ Gerald Tissain ประดิษฐ์ของหวานที่ประกอบด้วยนม หรือครีม เป็นน้ำแข็ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นคนแรกของโลกที่คิดค้นไอศครีมขึ้น
ตลอดเวลา 200 ปีต่อมา ไอศครีมเป็นของสูงที่บริโภคกันเฉพาะในหมู่คนรวยชั้นสูงเท่านั้น จวบจน ค.ศ.1851 (ปีแรกของรัชกาลที่ 4 คือ ค.ศ.1850) คนอเมริกันชื่อ Jacob Fussell พบว่าวิธีรักษาครีมจากนมที่ดีที่สุดก็คือการแช่เย็นจัดไว้ เมื่อชิมดูก็รู้สึกอร่อยโดยเฉพาะเมื่อผสมน้ำตาลไปด้วย
ขนมหวานชนิดนี้หรือไอศครีมได้รับความนิยมอย่างมากจนเขาตั้งโรงงานผลิตขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ ภายในเวลาปีเดียว "ขนม" ของเขาขายดีมากจนต้องเปิดอีกหลายโรงงาน และเป็นที่นิยมไปทั่วเขตอเมริกาเหนือ
สำหรับไอศครีมชนิดที่วางบนขนมปังกรอบเป็นรูปกรวยที่เรียกกันว่าไอศกรีมโคน (ice-cream cone) นั้น เป็นประดิษฐกรรมของ Italo Marcioni (คนอเมริกันเชื้อสายอิตาลี) ใน ค.ศ.1896 แต่ไม่ได้รับความนิยมจนกระทั่ง ค.ศ.1904
ความเป็นมาของ ice-cream sundae ที่เป็นไอศครีมราดครีมช็อกโกแลต หรือน้ำผลไม้ข้นหวานนั้น เล่ากันมาว่าคนขายในรัฐวิสคอนซินในวันอาทิตย์วันหนึ่งมีไอศครีมไม่พอขายจึงเอาอย่างอื่นผสมลงไปด้วยเพื่อเพิ่มปริมาณ ปรากฏว่าเป็นที่นิยมมาก เรียกกันว่า Sunday Ice Cream
ต่อมามีผู้เห็นว่า Sunday เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าที่คริสต์ศาสนิกชนเข้าโบสถ์ จึงสะกด Sunday ให้เพี้ยนไปเป็น Sundae
น้ำจิ้มอาหารสมอง
Life must be lived forwards, but it can only be understood backwards. (Soren Kierkegaard นักปรัชญาเดนมาร์ก ค.ศ.1813-55)
ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า แต่จะเข้าใจมันได้ก็ด้วยการดูข้างหลังเท่านั้น หน้า 20
อาหารสมอง วีรกร ตรีเศศ Varakorn@dpu.ac.th มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1356

ระวังอันตราย "นโยบายจำนำข้าวเป็นพิษ"


"การรับจำนำข้าว" ถูกฝ่ายการเมืองนำกลับมาใช้เป็นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรอีกครั้ง ทั้งที่ความจริงแล้ว ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายการเมือง ก็ "แทรกแซงตลาด" และ "ยกระดับราคาสินค้าเกษตร" ด้วยการจำนำมาตลอด แต่ไม่ว่าจะจำนำ หรือประกันราคา ส่วนที่ได้ "ผลดี" บ้างคือ ช่วยดันราคาพืชผลเกษตรสูงขึ้น ตรงข้ามก็สร้างปัญหามากมาย ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพราะ "บิดเบือนราคาตามกลไกตลาด" และ "เปิดช่องให้ทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร"
เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะรับจำนำข้าว เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมนี้ ก็คงไม่ใช่เวลาจะถกเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามดูว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การรับจำนำเรียบร้อย และสูญเสียงบประมาณน้อยที่สุด
ในฐานะที่ผมเคยดำรงตำแหน่งประธานองค์การคลังสินค้า (อคส.) ยังจำประสบการณ์กระบวนการบริหารจัดการนโยบายจำนำข้าวได้ เพราะ อคส.เป็นหน่วยงานทำหน้าที่รับจำนำข้าวให้รัฐบาล ปัญหาในช่วงนั้น มีตั้งแต่ปลอมปนข้าวของ 57 โรงสี ที่ตรวจพบแต่เรื่องถูกดองไว้ ปัญหาล็อกสเปคของเซอร์เวเยอร์ ปัญหาข้าวหายจากโกดัง จำนวนข้าวในสต็อกไม่ครบ ข้าวเหลือสต็อกแต่ไม่ระบายออก เพราะกลัวราคาในประเทศตกต่ำ ผู้ชนะประมูลไม่มารับข้าว ไม่จ่ายค่าเช่า ค่าปรับ ค่าโกดังเก็บข้าว หรือฝ่ายการเมืองอนุมัติให้ย้ายข้าวข้ามเขตได้
ปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้การทำงานของ อคส.ยากลำบาก หันไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา ถ้าตัดสินใจผิดพลาด ก็ต้องกลายเป็น "แพะรับบาป" แทนฝ่ายการเมืองเสมอๆ ผมจึงอยากเสนอความเห็น และข้อสังเกตเพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. การบริหารจัดการข้าวตามนโยบาย จะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ เงื่อนไขรับจำนำ ซึ่งนอกจากนายกฯ ต้อง รับผิดชอบเชิงนโยบายแล้ว ยังมีรัฐมนตรีอื่นร่วมรับผิดชอบด้วย อาทิเช่น รมว.พาณิชย์ เป็นแม่งาน มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและปฏิบัติ เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานในสังกัดบริหารจัดการรับจำนำ รมว.คลัง ดูแลจัดหาเงินรับจำนำ ติดตามทวงเงินเมื่อสิ้นสุดโครงการ รมว.เกษตรฯ เป็นฝ่ายสนับสนุน รมว.มหาดไทย มอบงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมบริหารจัดการโครงการฯลฯ รวมถึงหน่วยงานปฏิบัติ เช่น อคส. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2. ในอดีต ผู้อนุมัติวงเงินจำนำ หรือพยุงราคาสินค้าเกษตร จะผ่านคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีหน้าที่หลัก คือ เสนอแนะนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เสนองบประมาณช่วยเหลือ แต่กรณีจำนำข้าวปี 2554/2555 ยังไม่ชัดเจนว่ากำหนดงบส่วนนี้อย่างไร ซึ่ง ธ.ก.ส. คาดว่าฤดูผลิตนี้จะมีข้าวกว่า 25 ล้านตัน ถ้ารับจำนำไม่จำกัดจำนวนและวงเงิน คาดว่าต้องใช้เงินกว่า 4 แสนล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 2.9 แสนล้านบาท จึงต้องหารือกระทรวงการคลังเพื่อหาแหล่งเงินมาใช้สรุปคือ "ต้องกู้เงินเพิ่มอีก"
3. กรณีรับจำนำข้าวที่ยุ้งฉาง และฝากข้าวไว้ที่ชาวนาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี คือ ธ.ก.ส. ควบคุมการจ่ายเงินได้ เพราะจ่ายตรงต่อชาวนา (ไม่มีข้าวก็ไม่จ่ายเงิน) เก็บข้าวในยุ้งฉางชาวนา รัฐไม่ต้องหาสถานที่เก็บเสี่ยงต่อปัญหาปลอมปนข้าว และสวมสิทธิเกษตรกร เช่น นำข้าวประเทศเพื่อนบ้านมาจำนำ การเก็บข้าวไว้ที่ยุ้งฉาง ข้าวก็จะอยู่ในพื้นที่ ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น ส่วนข้อเสียก็มีบ้างที่ชาวนาแอบนำข้าวในยุ้งฉางออกไป แต่ ธ.ก.ส.ตรวจสอบได้อยู่แล้ว
ส่วนที่ไม่อนุญาต โรงสี ตลาดกลางจำนำข้ามเขต หรือเปิดจุดจำนำนอกพื้นที่ ถือว่าถูกต้อง แต่ต้องระวัง ข้อยกเว้นที่ให้ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรองประธาน กขช. เพื่อทราบ แทนที่ "เพื่อพิจารณา" จำนำข้ามเขตได้ หากมีปัญหา รมว.พาณิชย์ต้องรับผิดชอบ
4. กรณีข้าวออกสู่ตลาดมาก การเก็บรักษาไว้ในโกดังจะมากไปด้วย ต้องระวังไม่ให้ข้าวเสียหาย หรือเสื่อมคุณภาพ
มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันข้าวเก็บไว้นานไม่ได้ เพราะเปลือกข้าวไม่แข็งแรง ข้าวขาดภูมิต้านทาน คุณภาพต่ำมาก หากเก็บข้าวไว้นาน ไม่เร่งระบายจะทำให้เสื่อมคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา แต่การระบายข้าวต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เลี่ยงใช้วิธีพิเศษ ไม่ล็อกสเปค เปิดโอกาสให้บางบริษัทประมูล หรือชนะประมูลต่ำกว่าราคารับประกันมาก
5. ผลงานวิจัยและประสบการณ์อดีต แสดงว่า ไทยไม่สามารถกำหนดราคาข้าวตลาดโลกได้ จากราคาจำนำที่สูงหรือเก็บข้าวไว้นานๆ (ไม่ควรเก็บข้ามปี เสื่อมคุณภาพง่าย ต้นทุนเก็บสูง) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า เมื่อไทยขายข้าวตลาดโลกราคาสูง ผู้ได้ประโยชน์ คือ ประเทศคู่แข่ง ที่ขายข้าวแข่งไทย เช่น เวียดนาม
"ข้าวไทยไม่ใช่โภคภัณฑ์ที่ผูกขาดตลาดโลกได้ เพราะผู้ซื้อมีทางเลือกจากประเทศอื่นๆ หรือเพิ่มผลผลิตในประเทศ ต่างจากน้ำมันที่ผู้ค้ารวมกลุ่มกำหนดราคาตลาดโลกได้ ดังนั้น การรับจำนำราคาสูง จึงไม่สัมพันธ์กับราคาตลาดโลก ทำให้ราคาตลาดโลกสูงด้วย ซึ่งไทยต้องส่งออกข้าวตามราคาตลาดโลก หากขายแพงจะไม่มีใครซื้อ ทำให้เสียตลาดไปด้วย"
6. นโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าว ไม่สมควรทำ เพราะ ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักมากว่า 1,000 ปี ดังคำคำที่ว่า "ในน้ำมีปลา... ในนามีข้าว" การปลูกข้าวจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น ต้องเป็นไปภาวะตลาด ยิ่งรัฐบาลรับจำนำข้าวแพง ย่อมไม่มีใครอยากลดพื้นที่ปลูกข้าว
"ผมว่ารัฐบาลน่าจะช่วยชาวนาเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าวมากกว่า ผลักดันข้าวไทยไปเลี้ยงชาวโลกมากขึ้น ซึ่งการจำนำครั้งนี้ผมเห็นความเสี่ยงต่างๆ เมื่อพิจารณาหลักการ "จำนำข้าว" ของรัฐบาล ยิ่งสับสน เพราะทางหนึ่งต้องการให้ชาวนาขายข้าวราคาสูง แต่อีกทางก็พยายามลดค่าครองชีพผู้บริโภคซื้อข้าวราคาถูก ทำให้ นโยบายขัดแย้งกันเอง"
ทั้งนี้ หากเป็นไปได้อยากเห็นการตรวจสอบบัญชีโครงการจำนำข้าวทั้งหมด เพื่อให้รู้สถานะแท้จริงโครงการ โดยจัดทำรายงานประจำปี (Annual Year Book) เหมือนที่เอกชนทำ เพื่อบังคับฝ่ายบริหารจัดการ ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องตลอด แต่ถึงบัดนี้ ยังไม่มีการแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่าย โครงการประกันราคา จำนำข้าว มีแค่ตัวเลขขาดทุนโครงการจำนำที่ ธ.ก.ส.เปิดเผยเท่านั้น
การแทรกแซงราคาข้าว ไม่ว่าจะจำนำ หรือประกันราคาก็ตาม เมื่อรัฐบาลเลือกใช้กลไกจำนำ ก็ต้องปฏิบัติอย่างระวัง ไม่ให้ "นโยบายกลายเป็นพิษ" และไม่เปิดช่องให้ทุจริตเป็นกระบวนการ จนเสียหายซ้ำซาก
ผมว่าการรับจำนำครั้งนี้ น่าจะตรงกับคำที่ว่า "ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก" ซึ่งท้าทายความสามารถรัฐบาลว่าจะรอดพ้นข้อครหาได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การพูดมากไป แต่ทำน้อยหรอกนะครับ

โดย : ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร parnpreeb@hotmail.com กรุงเทพธุรกิจ  27 กันยายน 2554

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

อุปสงค์ VS อุปทาน

อุปสงค์ หมายถึงความต้องการสินค้าและบริการจำนวนหนึ่งที่ผู้บริโภคประสงค์จะซื้อและมีความสามารถจะซื้อ ณ ระดับราคาต่างๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งความต้องการดังกล่าวจะแปรผกผันกับราคาสินค้านั้น อุปสงค์มีทั้งอุปสงค์ส่วนบุคคลและอุปสงค์ตลาดที่ได้จากการรวมอุปสงค์ตลาดที่ได้จาการรวมอุปสงค์ส่วนบุคคลของทุกๆ คน ณ ระดับราคาเดียวกัน
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงในปริมาณอุปสงค์ต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์ แบ่งออกเป็นความยืดหยุ่นต่อราคา ความยืดหยุ่นต่อรายได้ และความยืดหยุ่นไขว้
อุปทาน หมายถึงปริมาณสินค้าและบริการที่ผู้ขายยินดีขาย ณ ระดับราคาต่างๆ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งปริมาณที่เสนอขายจะแปรผันโดยตรงกับราคาสินค้านั้นๆ อุปทานมีทั้งอุปทานของหน่วยธุรกิจและอุปทานของอุตสาหกรรมที่ได้จากการรวมอุปทานของหน่วยธุรกิจของทุกๆหน่วยธุรกิจ ณ ระดับราคาเดียวกัน
ความยืดหยุ่นของอุปทานเป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงในปริมาณอุปทานต่อ การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่กำหนดอุปทาน แบ่งออกเป็นความยืดหยุ่นของอุปทานในระยะสั้นและระยะยาว
ดุลยภาพของตลาด เกิดขึ้นเมื่ออุปสงค์เท่ากับอุปทาน ทำให้เกิดราคาและปริมาณดุลยภาพ การบิดเบือนกลไกราคาด้วยการเก็บภาษีและการให้เงินช่วยเหลือ การกำหนดราคาขั้นต่ำขั้นสูง การจำกัดปริมาณการผลิต และการกำหนดปริมาณการนำเข้าและการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ทำให้ราคาและปริมาณดุลยภาพเปลี่ยนแปลงไป
    อุปสงค์
1.      อุปสงค์ หมายถึงปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคยินดีที่จะซื้อ ณ ระดับราคาต่างๆ ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปปริมาณซื้อจะแปรผกผันกับราคา
2.      อุปสงค์ส่วนบุคคลเป็นความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภครายใดรายหนึ่ง เมื่อรวมอุปสงค์ของผู้บริโภคทุกรายที่มีอยู่ในตลาดเข้าด้วยกันก็จะได้อุปสงค์ตลาด
3.      ความยืดหยุ่นของอุปสงค์เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงในปริมาณอุปสงค์ต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์ ซึ่งได้แก่ราคาของสินค้าที่กำลังพิจารณา รายได้ของผู้บริโภคและราคาของสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง

ความหมายของอุปสงค์
อุปสงค์หมายถึง ปริมาณสินค้าที่ผู้บริโภคยินดีซื้อ ณ ระดับราคาต่างๆ ในขณะที่ปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลง
                อุปสงค์ส่วนบุคคลและอุปสงค์ตลาด
เส้นอุปสงค์ส่วนบุคคลมีลักษณะลาดลงจากซ้ายไปขวา เส้นอุปสงค์ส่วนบุคคลหลายเส้น เมื่อรวมอุปสงค์แต่ละรายที่ระดับราคาต่างๆกัน เข้าด้วยกัน จะได้อุปสงค์รวมทั้งหมดซึ่งเรียกว่า อุปสงค์ตลาด เส้นอุปสงค์อาจไม่เป็นเส้นตรงก็ได้ แต่จะต้องเป็นเส้นที่ลาดลงจากซ้ายไปขวา เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเมื่อสินค้ามีราคาลดลง
 ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา ต่อรายได้ และความยืดหยุ่นไขว้
1.      ในกรณีที่ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาน้อยกว่า 1 ถ้าราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณการซื้อของผู้บริโภคจะลดลงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รายจ่ายของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น
2.      ถ้าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาเท่ากับ –0.5 การขึ้นราคาสินค้าร้อยละ 10 จะทำให้รายจ่ายของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ
จาก TR = PQ โดยที่ TR= รายจ่ายของผู้บริโภค P= ราคาสินค้า  Q = ปริมาณการซื้อสินค้า เมื่อราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเท่ากับ
(1.1P)(0.95Q)  = 1.045PQ
แสดงว่ารายจ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซ็นต์
3.      ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาไขว้จะมีเครื่องหมาย ดังต่อไปนี้
(ก)   ขาและกาแฟเป็นสินค้าทดแทนกัน เครื่องหมายของอุปสงค์ต่อราคาไขว้ มีเครื่องหมายเป็น บวก
(ข)   เหล้าและโซดาเป็นสินค้าที่ใช้ร่วมกันเครื่องหมายของอุปสงค์ต่อราคาไขว้ มีเครื่องหมายเป็น ลบ
(ค)   ไม้จิ้มฟันและเรือรบ เป็นสินค้าที่เป็นอิสระต่อกัน เครื่องหมายของอุปสงค์ต่อราคาไขว้มีค่าเป็น ศูนย์
   อุปทาน
อุปทานของสินค้า หมายถึงปริมาณสินค้าที่ผู้ขายยินดีที่จะเสนอขาย ณ ระดับราคาต่างๆ กัน ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณขายจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อุปทานของหน่วยธุรกิจ เป็นความต้องการเสนอขายสินค้าของผู้ขายรายใดรายหนึ่ง เมื่อรวมอุปทานของผู้ขายทุกรายที่มีอยู่ในท้องตลาดเข้าด้วยกันก็จะได้อุปทานของอุตสาหกรรม
ความยืดหยุ่นของอุปทาน เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงในปริมาณอุปทานต่อการเปลี่ยน แปลงของราคาสินค้าซึ่งแบ่งออกเป็นความยืดหยุ่นของอุปทานในระยะสั้นและระยะ ยาว
 ความหมายของอุปทาน
          ผู้ขายจะเสนอขายสินค้าในปริมาณเท่าเดิม เมื่อสินค้ามีราคาสูงขึ้น จะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ขายไม่มีเวลากรณีที่ผู้ขายไม่มีเวลาพอที่จะไปหาสินค้ามาเสนอขายเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าเขามีส้มอยู่ในร้านจำนวน 20 กก. ถ้าราคาส้มเพิ่มขึ้น เขาไม่สามารถหาส้มมาเสนอขายในปริมาณที่เพิ่มขึ้นในอีก 1 นาทีข้างหน้า ทำให้เส้นอุปทานเป็นเส้นตั้งฉากกับแกนนอนดังเส้น S ในรูปข้างล่างถึงแม้อุปสงค์จะเพิ่มขึ้นจาก D1 เป็น D2 ผู้ขายยังเสนอขายได้เพียง 20 กก. แต่สามารถขายได้ในราคาสูงขึ้น ถ้าผู้ผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ซึ่งมีเส้นอุปทานเหมือนกัน คือ S3 และ St เส้นอุปทานของอุตาสหกรรมจะต้องนำเส้นอุปทานของผู้ผลิตที่มีเส้นอุปทานเหมือนกัน S3 และ St เดิมตามแนวนอน ซึ่งจะได้เส้นอุปทานรวมใหม่เป็น S*t ตามรูป
 ความยืดหยุ่นของอุปทานต่อราคาในระยะสั้นและระยะยาว
1.      ความยืดหยุ่นของเส้นอุปทานจะเท่ากับ อสงไขย (Infinity) มีความเป็นไปได้ ซึ่งเป็นกรณีที่เส้นอุปทานเป็นเส้นขนานกับแกนนอน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทยต้องสั่งน้ำมันเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปริมาณซื้อของประเทศไทยปริมาณน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้นผู้ขายน้ำมันในตลาดโลกสามารถขายน้ำมันในปริมาณที่ประเทศไทยต้องการในราคาที่คงที่ ทำให้ประเทศไทยเห็นเส้นอุปทานของน้ำมันเป็นเส้น S ที่ขนานกับแกนนอน
 2.      ผู้ผลิตรายหนึ่งเสนอขายสินค้า 10 หน่วย เมื่อราคาสินค้าเท่ากับหน่วยละ 5 บาท และเสนอขายสินค้า 20 หน่วย เมื่อราคาเท่ากับ 7 บาท  หาความยืดหยุ่นต่อราคาอุปทาน และดูว่าเป็นอุปทานระยะฉับพลันหรือไม่
Ep  =  dQ/dP(P/Q)
          Ei   =  (Q2-Q1)/(Q2+Q1)/2      = (20-10)/(20+10)/2   =  10/15   = 2
                      (P2-P1)/(P2+P1)/2           (7-5)  / (7+5)/2          2/6
          Ep  =   2 (5/10)                             =  1
          ความยืดหยุ่นต่อราคาอุปทาน เท่ากับ 1 แสดงว่าไม่ใช่อุปทานระยะฉับพลับ

เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์


 ทฤษฎี (Theory) หมายถึงความเห็น หรือการเห็น การเห็นด้วยใจ หรือลักษณะที่คาดเอาตามหลักวิชาการ เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์ หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ ทฤษฎีเป็นสิ่งที่มีใช้ค่อนข้างมากในเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ และทฤษฎีต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งได้เคยกล่าวมาแล้วในเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
ทฤษฎีบท (Theorem) หมายถึงข้อความที่พิสูจน์แล้วว่าจริง และใช้ในการอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ข้อความอื่นได้
กฎ (Law) หมายถึงข้อกำหนด ข้อบัญญัติ หรือข้อกำหนดในเรื่องธรรมชาติตามที่ค้นคว้าได้ ตลอดจนหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้เพื่อถือปฏิบัติ กฎต่างๆ ที่ใช้ในทางเศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยได้แก่ กฎการลดน้อยถอยลง กฎของผลได้ต่อขนาด กฎของเองเกล กฎของเกรแซม
ข้อสมมติ (Assumption) หมายถึงการกำหนดสิ่งต่างๆ ขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่า สิ่งนั้นเป็นจริงหรือไม่ โดยอาศัยการสังเกต จากปรากฏการณ์ทั่วๆ ไป หรือโดยการทดลอง ถ้าไม่ถูกต้องก็ตั้งข้อสมมติขึ้นใหม่ แล้วทำการพิสูจน์จนกว่าจะถูกต้องแล้วจึงยึดถือเป็นหลักเพื่อใช้อธิบายหรือตั้งเป็นกฎอื่นๆ ต่อไป ในการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ข้อสมมติมีหลายประการ เช่น การสมมติให้สิ่งอื่นๆ คงที่ สมมติว่าผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นผู้ที่กระทำด้วยเหตุผล เป็นต้น
แบบจำลอง (Model) หมายถึงการพิจารณาปัจจัยหลายอย่างที่คิดเป็นจำนวนได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นอาจเป็นปัจจัยชนิดแปรผัน หรือคงที่ การสร้างสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้อาจแสดงเป็นรูปสมการหรือกราฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบจำลอง แบบจำลองจึงมักจะใช้เพื่อวิเคราะห์ว่าตัวแปรใดมีอิทธิพลต่อเรื่องที่จะศึกษา ใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรและใช้เพื่อทำนายหรือพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
การวิเคราะห์แบบสถิต (Static analysis) หมายถึงการวิเคราะห์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนเวลา กล่าวคือ เป็นการศึกษาถึงภาวะเศรษฐกิจเฉพาะในขณะใดขณะหนึ่งเท่านั้นว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ตัวอย่าง การศึกษาทางด้าน มหเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์แบบสถิต ได้แก่การศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ และอะไรทำให้เศรษฐกิจตกต่ำนั้นเปลี่ยนสภาพเป็นเศรษฐกิจรุ่งเรือง โดยเราไม่สนใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้เวลามากน้อยเพียงใด การศึกษาเรื่องทุน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง หรือในทางจุลเศรษฐศาสตร์เราอาจศึกษาว่าเหตุใดราคาสินค้าชนิดหนึ่งจึงเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยที่เราไม่ต้องวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยผูกกับเงื่อนเวลา
การวิเคราะห์แบบพลวัต (Dynamic analysis) หมายถึงการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนเวลา กล่าวคือเป็นการศึกษาถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่จะศึกษาในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ทางด้านจุลเศรษฐศาสตร์มีการศึกษาว่า การที่ราคาสินค้าชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละระยะเวลาอย่าง ไร เช่นเปลี่ยนแปลงจากราคาชิ้นละ 20 บาท ในปีที่ 1 เป็นชิ้นละ 25 บาท ในปีที่ 2 ทางด้านมหเศรษฐศาสตร์มีการศึกษาว่าการที่เศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาเป็นการรุ่งเรืองนั้นเปลี่ยนแปลงในอัตราเท่าใด เช่น รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราการว่างงานลดลงปีละ 2% การศึกษาเรื่องการลงทุน ถือว่าเป็นตัวอย่างของการวิเคราะห์แบบพลวัต
การวิเคราะห์แบบดุลภาพบางส่วน (Partial equilibrium analysis) หมายถึงการวิเคราะห์ปรากฏการณ์หนึ่งโดยสมมติว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นกับเรื่องที่กำลังวิเคราะห์จะไม่ส่งผลกระทบไปยังปรากฏการณ์อื่น ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าชนิดหนึ่ง โดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงของสินค้านั้นมีผลเฉพาะต่อปริมาณความต้องการในสินค้านั้นเท่านั้น แต่ไม่มีผลต่อราคา ปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการของสินค้าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่กำลังวิเคราะห์ หรือการวิเคราะห์ผลของการขึ้นภาษีการค้า ที่มีต่อกิจการใดกิจการหนึ่ง ซึ่งมีการสมมติว่า การขึ้นภาษีประเภทนั้นจะไม่มีผลต่อธุรกิจอื่นแต่อย่างใด
การวิเคราะห์แบบดุลภาพทั่วไป (General equilibrium analysis) หมายถึงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีต่อสิ่งอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับตัวของราคาสินค้าชนิดหนึ่งจะมีผลทำให้ระดับราคาของสินค้าอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย หรือการที่สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วจะมีผลไม่เพียงแต่กระทบตัวเองแล้วยังมีผลกระทบส่วนอื่นๆ ด้วย ตัวอย่าง เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกร จะมีผลกระทบต่ออุปสงค์สำหรับเนื้อสุกรและราคาเนื้อไก่ และราคาอาหารชนิดอื่นด้วย