มีคำกล่าวจากคณะคณาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอน แก่ศิษย์ผู้ต่ำต้อยคนหนึ่งว่า "วิชาเศรษฐศาสตร์มิใช่การศึกษาเฉพาะตัวเลข การเคลื่อนย้ายเส้นบนกราฟ การใช้ศัพท์วิชาการที่คนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่เข้าใจได้ฟัง แต่วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาเพื่อให้ประชาชนในรัฐเกิดสวัสดิการสังคมสูงสุดทั้ง ทางด้านประสิทธิภาพ ด้านเสถียรภาพ และด้านความเสมอภาค"
วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556
ระวังอันตราย "นโยบายจำนำข้าวเป็นพิษ"
"การรับจำนำข้าว" ถูกฝ่ายการเมืองนำกลับมาใช้เป็นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรอีกครั้ง ทั้งที่ความจริงแล้ว ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายการเมือง ก็ "แทรกแซงตลาด" และ "ยกระดับราคาสินค้าเกษตร" ด้วยการจำนำมาตลอด แต่ไม่ว่าจะจำนำ หรือประกันราคา ส่วนที่ได้ "ผลดี" บ้างคือ ช่วยดันราคาพืชผลเกษตรสูงขึ้น ตรงข้ามก็สร้างปัญหามากมาย ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพราะ "บิดเบือนราคาตามกลไกตลาด" และ "เปิดช่องให้ทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร"
เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะรับจำนำข้าว เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมนี้ ก็คงไม่ใช่เวลาจะถกเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามดูว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การรับจำนำเรียบร้อย และสูญเสียงบประมาณน้อยที่สุด
ในฐานะที่ผมเคยดำรงตำแหน่งประธานองค์การคลังสินค้า (อคส.) ยังจำประสบการณ์กระบวนการบริหารจัดการนโยบายจำนำข้าวได้ เพราะ อคส.เป็นหน่วยงานทำหน้าที่รับจำนำข้าวให้รัฐบาล ปัญหาในช่วงนั้น มีตั้งแต่ปลอมปนข้าวของ 57 โรงสี ที่ตรวจพบแต่เรื่องถูกดองไว้ ปัญหาล็อกสเปคของเซอร์เวเยอร์ ปัญหาข้าวหายจากโกดัง จำนวนข้าวในสต็อกไม่ครบ ข้าวเหลือสต็อกแต่ไม่ระบายออก เพราะกลัวราคาในประเทศตกต่ำ ผู้ชนะประมูลไม่มารับข้าว ไม่จ่ายค่าเช่า ค่าปรับ ค่าโกดังเก็บข้าว หรือฝ่ายการเมืองอนุมัติให้ย้ายข้าวข้ามเขตได้
ปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้การทำงานของ อคส.ยากลำบาก หันไปทางไหนก็มีแต่ปัญหา ถ้าตัดสินใจผิดพลาด ก็ต้องกลายเป็น "แพะรับบาป" แทนฝ่ายการเมืองเสมอๆ ผมจึงอยากเสนอความเห็น และข้อสังเกตเพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1. การบริหารจัดการข้าวตามนโยบาย จะมีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ เงื่อนไขรับจำนำ ซึ่งนอกจากนายกฯ ต้อง รับผิดชอบเชิงนโยบายแล้ว ยังมีรัฐมนตรีอื่นร่วมรับผิดชอบด้วย อาทิเช่น รมว.พาณิชย์ เป็นแม่งาน มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและปฏิบัติ เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานในสังกัดบริหารจัดการรับจำนำ รมว.คลัง ดูแลจัดหาเงินรับจำนำ ติดตามทวงเงินเมื่อสิ้นสุดโครงการ รมว.เกษตรฯ เป็นฝ่ายสนับสนุน รมว.มหาดไทย มอบงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมบริหารจัดการโครงการฯลฯ รวมถึงหน่วยงานปฏิบัติ เช่น อคส. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2. ในอดีต ผู้อนุมัติวงเงินจำนำ หรือพยุงราคาสินค้าเกษตร จะผ่านคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีหน้าที่หลัก คือ เสนอแนะนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เสนองบประมาณช่วยเหลือ แต่กรณีจำนำข้าวปี 2554/2555 ยังไม่ชัดเจนว่ากำหนดงบส่วนนี้อย่างไร ซึ่ง ธ.ก.ส. คาดว่าฤดูผลิตนี้จะมีข้าวกว่า 25 ล้านตัน ถ้ารับจำนำไม่จำกัดจำนวนและวงเงิน คาดว่าต้องใช้เงินกว่า 4 แสนล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 2.9 แสนล้านบาท จึงต้องหารือกระทรวงการคลังเพื่อหาแหล่งเงินมาใช้สรุปคือ "ต้องกู้เงินเพิ่มอีก"
3. กรณีรับจำนำข้าวที่ยุ้งฉาง และฝากข้าวไว้ที่ชาวนาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดี คือ ธ.ก.ส. ควบคุมการจ่ายเงินได้ เพราะจ่ายตรงต่อชาวนา (ไม่มีข้าวก็ไม่จ่ายเงิน) เก็บข้าวในยุ้งฉางชาวนา รัฐไม่ต้องหาสถานที่เก็บเสี่ยงต่อปัญหาปลอมปนข้าว และสวมสิทธิเกษตรกร เช่น นำข้าวประเทศเพื่อนบ้านมาจำนำ การเก็บข้าวไว้ที่ยุ้งฉาง ข้าวก็จะอยู่ในพื้นที่ ไม่ต้องย้ายไปที่อื่น ส่วนข้อเสียก็มีบ้างที่ชาวนาแอบนำข้าวในยุ้งฉางออกไป แต่ ธ.ก.ส.ตรวจสอบได้อยู่แล้ว
ส่วนที่ไม่อนุญาต โรงสี ตลาดกลางจำนำข้ามเขต หรือเปิดจุดจำนำนอกพื้นที่ ถือว่าถูกต้อง แต่ต้องระวัง ข้อยกเว้นที่ให้ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรองประธาน กขช. เพื่อทราบ แทนที่ "เพื่อพิจารณา" จำนำข้ามเขตได้ หากมีปัญหา รมว.พาณิชย์ต้องรับผิดชอบ
4. กรณีข้าวออกสู่ตลาดมาก การเก็บรักษาไว้ในโกดังจะมากไปด้วย ต้องระวังไม่ให้ข้าวเสียหาย หรือเสื่อมคุณภาพ
มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันข้าวเก็บไว้นานไม่ได้ เพราะเปลือกข้าวไม่แข็งแรง ข้าวขาดภูมิต้านทาน คุณภาพต่ำมาก หากเก็บข้าวไว้นาน ไม่เร่งระบายจะทำให้เสื่อมคุณภาพ ขายไม่ได้ราคา แต่การระบายข้าวต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เลี่ยงใช้วิธีพิเศษ ไม่ล็อกสเปค เปิดโอกาสให้บางบริษัทประมูล หรือชนะประมูลต่ำกว่าราคารับประกันมาก
5. ผลงานวิจัยและประสบการณ์อดีต แสดงว่า ไทยไม่สามารถกำหนดราคาข้าวตลาดโลกได้ จากราคาจำนำที่สูงหรือเก็บข้าวไว้นานๆ (ไม่ควรเก็บข้ามปี เสื่อมคุณภาพง่าย ต้นทุนเก็บสูง) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า เมื่อไทยขายข้าวตลาดโลกราคาสูง ผู้ได้ประโยชน์ คือ ประเทศคู่แข่ง ที่ขายข้าวแข่งไทย เช่น เวียดนาม
"ข้าวไทยไม่ใช่โภคภัณฑ์ที่ผูกขาดตลาดโลกได้ เพราะผู้ซื้อมีทางเลือกจากประเทศอื่นๆ หรือเพิ่มผลผลิตในประเทศ ต่างจากน้ำมันที่ผู้ค้ารวมกลุ่มกำหนดราคาตลาดโลกได้ ดังนั้น การรับจำนำราคาสูง จึงไม่สัมพันธ์กับราคาตลาดโลก ทำให้ราคาตลาดโลกสูงด้วย ซึ่งไทยต้องส่งออกข้าวตามราคาตลาดโลก หากขายแพงจะไม่มีใครซื้อ ทำให้เสียตลาดไปด้วย"
6. นโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าว ไม่สมควรทำ เพราะ ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักมากว่า 1,000 ปี ดังคำคำที่ว่า "ในน้ำมีปลา... ในนามีข้าว" การปลูกข้าวจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น ต้องเป็นไปภาวะตลาด ยิ่งรัฐบาลรับจำนำข้าวแพง ย่อมไม่มีใครอยากลดพื้นที่ปลูกข้าว
"ผมว่ารัฐบาลน่าจะช่วยชาวนาเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าวมากกว่า ผลักดันข้าวไทยไปเลี้ยงชาวโลกมากขึ้น ซึ่งการจำนำครั้งนี้ผมเห็นความเสี่ยงต่างๆ เมื่อพิจารณาหลักการ "จำนำข้าว" ของรัฐบาล ยิ่งสับสน เพราะทางหนึ่งต้องการให้ชาวนาขายข้าวราคาสูง แต่อีกทางก็พยายามลดค่าครองชีพผู้บริโภคซื้อข้าวราคาถูก ทำให้ นโยบายขัดแย้งกันเอง"
ทั้งนี้ หากเป็นไปได้อยากเห็นการตรวจสอบบัญชีโครงการจำนำข้าวทั้งหมด เพื่อให้รู้สถานะแท้จริงโครงการ โดยจัดทำรายงานประจำปี (Annual Year Book) เหมือนที่เอกชนทำ เพื่อบังคับฝ่ายบริหารจัดการ ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องตลอด แต่ถึงบัดนี้ ยังไม่มีการแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่าย โครงการประกันราคา จำนำข้าว มีแค่ตัวเลขขาดทุนโครงการจำนำที่ ธ.ก.ส.เปิดเผยเท่านั้น
การแทรกแซงราคาข้าว ไม่ว่าจะจำนำ หรือประกันราคาก็ตาม เมื่อรัฐบาลเลือกใช้กลไกจำนำ ก็ต้องปฏิบัติอย่างระวัง ไม่ให้ "นโยบายกลายเป็นพิษ" และไม่เปิดช่องให้ทุจริตเป็นกระบวนการ จนเสียหายซ้ำซาก
ผมว่าการรับจำนำครั้งนี้ น่าจะตรงกับคำที่ว่า "ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก" ซึ่งท้าทายความสามารถรัฐบาลว่าจะรอดพ้นข้อครหาได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การพูดมากไป แต่ทำน้อยหรอกนะครับ
โดย : ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร parnpreeb@hotmail.com กรุงเทพธุรกิจ 27 กันยายน 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น