ทฤษฎี (Theory) หมายถึงความเห็น หรือการเห็น การเห็นด้วยใจ
หรือลักษณะที่คาดเอาตามหลักวิชาการ เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์
หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ
ทฤษฎีเป็นสิ่งที่มีใช้ค่อนข้างมากในเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ และทฤษฎีต่างๆ
ล้วนเป็นสิ่งได้เคยกล่าวมาแล้วในเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
ทฤษฎีบท (Theorem) หมายถึงข้อความที่พิสูจน์แล้วว่าจริง
และใช้ในการอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ข้อความอื่นได้
กฎ (Law) หมายถึงข้อกำหนด ข้อบัญญัติ หรือข้อกำหนดในเรื่องธรรมชาติตามที่ค้นคว้าได้
ตลอดจนหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้เพื่อถือปฏิบัติ กฎต่างๆ
ที่ใช้ในทางเศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยได้แก่ กฎการลดน้อยถอยลง กฎของผลได้ต่อขนาด
กฎของเองเกล กฎของเกรแซม
ข้อสมมติ (Assumption)
หมายถึงการกำหนดสิ่งต่างๆ ขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่า
สิ่งนั้นเป็นจริงหรือไม่ โดยอาศัยการสังเกต จากปรากฏการณ์ทั่วๆ ไป หรือโดยการทดลอง
ถ้าไม่ถูกต้องก็ตั้งข้อสมมติขึ้นใหม่
แล้วทำการพิสูจน์จนกว่าจะถูกต้องแล้วจึงยึดถือเป็นหลักเพื่อใช้อธิบายหรือตั้งเป็นกฎอื่นๆ
ต่อไป ในการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ข้อสมมติมีหลายประการ เช่น การสมมติให้สิ่งอื่นๆ
คงที่ สมมติว่าผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นผู้ที่กระทำด้วยเหตุผล เป็นต้น
แบบจำลอง (Model) หมายถึงการพิจารณาปัจจัยหลายอย่างที่คิดเป็นจำนวนได้
ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นอาจเป็นปัจจัยชนิดแปรผัน หรือคงที่
การสร้างสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้อาจแสดงเป็นรูปสมการหรือกราฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบจำลอง
แบบจำลองจึงมักจะใช้เพื่อวิเคราะห์ว่าตัวแปรใดมีอิทธิพลต่อเรื่องที่จะศึกษา
ใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรและใช้เพื่อทำนายหรือพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
การวิเคราะห์แบบสถิต (Static
analysis) หมายถึงการวิเคราะห์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนเวลา
กล่าวคือ
เป็นการศึกษาถึงภาวะเศรษฐกิจเฉพาะในขณะใดขณะหนึ่งเท่านั้นว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ตัวอย่าง การศึกษาทางด้าน มหเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์แบบสถิต
ได้แก่การศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ
และอะไรทำให้เศรษฐกิจตกต่ำนั้นเปลี่ยนสภาพเป็นเศรษฐกิจรุ่งเรือง
โดยเราไม่สนใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวใช้เวลามากน้อยเพียงใด การศึกษาเรื่องทุน
เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
หรือในทางจุลเศรษฐศาสตร์เราอาจศึกษาว่าเหตุใดราคาสินค้าชนิดหนึ่งจึงเพิ่มขึ้นหรือลดลง
โดยที่เราไม่ต้องวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยผูกกับเงื่อนเวลา
การวิเคราะห์แบบพลวัต (Dynamic
analysis) หมายถึงการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนเวลา
กล่าวคือเป็นการศึกษาถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่จะศึกษาในชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น ทางด้านจุลเศรษฐศาสตร์มีการศึกษาว่า การที่ราคาสินค้าชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละระยะเวลาอย่าง
ไร เช่นเปลี่ยนแปลงจากราคาชิ้นละ 20 บาท ในปีที่ 1 เป็นชิ้นละ 25 บาท ในปีที่ 2 ทางด้านมหเศรษฐศาสตร์มีการศึกษาว่าการที่เศรษฐกิจเปลี่ยนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาเป็นการรุ่งเรืองนั้นเปลี่ยนแปลงในอัตราเท่าใด
เช่น รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี
หรืออัตราการว่างงานลดลงปีละ 2% การศึกษาเรื่องการลงทุน
ถือว่าเป็นตัวอย่างของการวิเคราะห์แบบพลวัต
การวิเคราะห์แบบดุลภาพบางส่วน (Partial
equilibrium analysis) หมายถึงการวิเคราะห์ปรากฏการณ์หนึ่งโดยสมมติว่า
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นกับเรื่องที่กำลังวิเคราะห์จะไม่ส่งผลกระทบไปยังปรากฏการณ์อื่น
ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าชนิดหนึ่ง
โดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงของสินค้านั้นมีผลเฉพาะต่อปริมาณความต้องการในสินค้านั้นเท่านั้น
แต่ไม่มีผลต่อราคา ปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการของสินค้าอื่นๆ
ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่กำลังวิเคราะห์
หรือการวิเคราะห์ผลของการขึ้นภาษีการค้า ที่มีต่อกิจการใดกิจการหนึ่ง
ซึ่งมีการสมมติว่า การขึ้นภาษีประเภทนั้นจะไม่มีผลต่อธุรกิจอื่นแต่อย่างใด
การวิเคราะห์แบบดุลภาพทั่วไป (General
equilibrium analysis) หมายถึงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีต่อสิ่งอื่นๆ
อย่างต่อเนื่อง เช่น
การปรับตัวของราคาสินค้าชนิดหนึ่งจะมีผลทำให้ระดับราคาของสินค้าอื่นๆ
เปลี่ยนแปลงไปด้วย
หรือการที่สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแล้วจะมีผลไม่เพียงแต่กระทบตัวเองแล้วยังมีผลกระทบส่วนอื่นๆ
ด้วย ตัวอย่าง เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกร
จะมีผลกระทบต่ออุปสงค์สำหรับเนื้อสุกรและราคาเนื้อไก่ และราคาอาหารชนิดอื่นด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น