วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

เมื่อเงินเฟ้อมา เศษเหรียญก็หายไป

งินเฟ้อสร้างปัญหามากมายให้แก่สมาชิกของระบบเศรษฐกิจ เมื่อข้าวของแพงขึ้น จำนวนเงินเท่าเดิมก็ย่อมซื้อสินค้าได้ปริมาณน้อยลงเป็นธรรมดา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเงินเฟ้อทำให้อำนาจซื้อลดลง หรือค่าเงินที่แท้จริงลดลง อย่างไรก็ดี มีผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่อาจนึกไม่ถึง นั่นก็คือเศษเงินเหรียญอาจหายไปจากระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่ว
ประเทศที่ประสบปัญหานี้ก็คือฟิลิปปินส์เพื่อนอาเซียนของเราที่ปัจจุบันมีจำนวนประชากรแซงหน้าเราไปมากจนปัจจุบันมีถึงประมาณ 80 ล้านคน บนพื้นที่ดิน 3 ใน 5 ของไทย (ฟิลิปปินส์ประกอบด้วย 7,100 เกาะ รวมพื้นที่ 300,000 ตารางกิโลเมตร) มะนิลามีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ คือ 10.3 ล้านคน
หน่วยของเงินคือเปโซ (Peso) และหน่วยย่อยคือเซนตาโว (Centavos) (100 Centavos เท่ากับ 1 Peso) ตอนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 1 บาท เท่ากับ 1 เปโซ แต่ปัจจุบัน 1 บาท เท่ากับประมาณ 1.3 เปโซ (เงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเปโซ)
ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาเงินเฟ้อยาวนานกว่าไทย และตลอดเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมาก็อยู่ในเรือลำเดียวกับไทย กล่าวคือ น้ำมันมีราคาแพงขึ้นมาก ข้าวของแพงขึ้นจนเศษเหรียญแทบไร้ค่า โดยเฉพาะเซนตาโวค่าต่ำๆ และเศษเหรียญในหลายราคาหายไปจากการหมุนเวียน จนผู้ว่าการธนาคารชาติของฟิลิปปินส์ออกมาขอร้องให้คนฟิลิปปินส์อย่า "กักขัง" (imprison) เหรียญกษาปณ์ที่มีจำนวนอยู่ถึง 11,000 ล้านอันไว้ในบ้านเลย เพราะจะทำให้ประเทศเสียเงินทองโดยไม่จำเป็นต้องผลิตเหรียญออกมาเพิ่มขึ้น
ปัญหาในเรื่องการหายไปของเหรียญกษาปณ์ฟิลิปปินส์มีหลายประการโดยมีสาเหตุอื่นนอกจากเงินเฟ้อเข้ามาเกี่ยวพันด้วย ถ้าสรุปเป็นประเด็นๆ ก็จะได้ดังนี้
ประการแรก ฟิลิปปินส์ผลิตเหรียญกษาปณ์ออกมาเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับธนบัตรเพื่อเป็นเงินให้ประชาชนใช้ เฉลี่ยคนฟิลิปปินส์แต่ละคนมีเหรียญให้ใช้ประมาณ 140 อัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของคนในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ถึง 3 เท่าตัว (เหรียญคงทนกว่าธนบัตร ผลิตออกมาหนึ่งครั้งใช้ได้นานกว่าธนบัตรมาก) ดังนั้น เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นกับการใช้เหรียญกษาปณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ย่อมเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ประการที่สอง เมื่อข้าวของแพงขึ้นโดยเพิ่มทีละหลายเปโซ เหรียญเซนตาโวจึงไร้ค่าเพราะเอาไปทำอะไรไม่ได้ "ลูกแหง่" หรือเศษเหรียญที่ทำให้หนักกระเป๋าเหล่านี้จึงถูกทิ้งไว้ในกระป๋อง ขวด ลิ้นชัก กระปุกออมสิน กระเป๋า มุมซอกแซกของบ้าน หรือเอาไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น ใช้เป็นแหวนรองน็อต (5 เซนตาโวมีรูที่ใหญ่พอเหมาะกับการใช้เป็นแหวนรองพอดี) ฯลฯ เมื่อขาดแคลนเหรียญราคาต่ำก็เลยทำให้ต้องใช้ลูกอมหรือลูกกวาดเป็นเงินทอนแทน
ประการที่สาม เหรียญเปโซที่ผลิตก่อนหน้า ค.ศ.2004 ซึ่งมีส่วนผสมของทองแดงร้อยละ 75 และนิกเกิ้ลร้อยละ 25 หายไปจากตลาดเมื่อราคาทองแดง และนิกเกิ้ลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวจนทำให้มูลค่าเนื้อโลหะที่ใช้ทำเหรียญเปโซทั้งหมดสูงกว่าราคา 1 เปโซหน้าเหรียญ
เศรษฐศาสตร์มีกฎเก่าแก่อยู่อันหนึ่งที่มีชื่อว่า Gresham"s Law (Thomas Gresham ค.ศ.1519-1579) ซึ่งบอกว่า "เงินเลวไล่เงินดี" กฎนี้คืออะไรจะเห็นได้ชัดหลังจากได้ทราบเรื่องราวของเหรียญฟิลิปปินส์
สถานการณ์ที่เหรียญจั๊ตเก่าของพม่าและเหรียญรูปีเก่าของอินเดียที่เป็นเนื้อเงินแท้หายไปจากตลาด และกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับเครื่องเงินในภาคเหนือในสมัยก่อน และเหรียญเปโซหายไปดังกล่าวตรงกับกฎนี้
ตราบที่มูลค่าเนื้อโลหะของเหรียญต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาหน้าเหรียญทำให้เหรียญไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ วิธีป้องกันไม่ให้มูลค่าเนื้อโลหะลดลงก็โดยการจักขอบเหรียญเพื่อป้องกันไม่ให้คนขูดเศษโลหะออกจากเหรียญไป จนทำให้เหรียญมีขนาดเล็กลงและมูลค่าลดลง
เมื่อไม่นานมานี้เจ้าหน้าที่ศุลกากรฟิลิปปินส์จับคนลักลอบนำเหรียญหนึ่งเปโซที่ผลิตก่อนปี 2004 ซึ่งมูลค่าเนื้อโลหะสูงกว่าราคาหน้าเหรียญหนึ่งเปโซถึงสามเท่ากว่าออกไปญี่ปุ่นโดยใช้คอนเทนเนอร์ (ไม่ได้ขนด้วยกระเป๋าทางอากาศเป็นร้อยลูกนะครับ) เป็นจำนวน 3-4.5 ล้านอันเพื่อตั้งใจเอาไปหลอมเป็นทองแดงและนิกเกิ้ลขาย และจะใช้เศษโลหะที่เหลือเอาไปปั๊มเป็นเหรียญเพื่อการเล่นปาชิงโกะ
(เกมหยอดเหรียญและมีลูกเหล็กกลมวิ่งไปลงหลุมที่มีคะแนนต่างกัน รางวัลเป็นของเล็กน้อยที่เอาไปขายเป็นเงินได้ ปาชิงโกะโดยแท้จริงแล้วจึงเป็นการพนันถูก "กฎหมาย" ในสังคมญี่ปุ่น)
การหายไปของเหรียญเปโซทำให้ราคาไม่ลงตัว เช่น บริการรถสองแถว (ที่เรียกว่าจีพนี่) ราคาต่ำสุดคือ 7.50 เปโซ คนโดยสารและคนขับต้องต่อรองกันเสมอว่าจะจ่ายราคาใด เพราะเหรียญกษาปณ์ 25 เซนตาโวขาดแคลน (เหรียญที่ใช้มี 7 ราคาตั้งแต่ 1 เซนตาโวจนถึง 10 เปโซ แต่ไม่มี 50 เซนตาโว) เนื่องจากการมีหวยให้เล่นรายวันในฟิลิปปินส์
หวยถูกกฎหมายที่ออกรางวัลทุกวันเรียกว่า Jueteng มีราคา 50 เซนตาโว รางวัลใหญ่คือ 20,000 เปโซ เป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศที่ยังมีคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก (มีข้อมูลอ้างว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมีรายได้ต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน คนเชื่อตัวเลขนี้ทั้งหมดอาจลืมไปว่าคนในชนบทจำนวนมากมีชีวิตอยู่รอดในแต่ละวันได้โดยไม่ต้องใช้เงิน) จนทำให้เหรียญ 25 เซนตาโวเป็นที่ต้องการอย่างมากเพราะสามารถเอาไปใช้แทงหวยได้
Jueteng นี้แหละที่มีส่วนทำให้เกิดการต่อต้านประท้วงประธานาธิบดีแอสตราด้าครั้งใหญ่ เพราะมีหลักฐานว่า รับเงินค่าคุ้มครองไป 545 ล้านเปโซเพื่อให้ออกหวยนี้ได้ จนตกอำนาจไปในปี 2001 (คนไทยที่อ่านตัวเลขนี้แล้วคงขำกลิ้ง) สิ่งที่ทำให้ "คนโกงเพียงแค่นี้" ต้องตกอำนาจก็เพราะประชาสังคมของฟิลิปปินส์นั้นเข้มแข็งกว่าเรา แถมมีรองประธานาธิบดีในตอนนั้นที่มีสมัครพรรคพวกมากมายรุมกันเลื่อยขาเก้าอี้ และมีผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพลสูงยิ่งสนับสนุนรองประธานาธิบดีอีกด้วย
ก่อนหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารชาติจะออกมาขอร้อง ก็ได้แก้ไขส่วนผสมของเหรียญหนึ่งเปโซในปี 2004 ให้มีส่วนผสมของเหล็กซึ่งมีราคาต่ำมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่มูลค่าเนื้อโลหะสูงกว่าราคาหน้าเหรียญซึ่งจะทำให้ Gresham"s Law ทำงาน (ปัจจุบันเนื้อโลหะของเหรียญหนึ่งเปโซที่ผลิตก่อนปี 2004 มีมูลค่า 3.50 เปโซ) กล่าวคือ เหรียญที่มูลค่าเนื้อโลหะสูงกว่าราคาหน้าเหรียญ ("เงินดี") จะหายไป และมีเหรียญที่มูลค่าโลหะต่ำกว่าราคาหน้าเหรียญ ("เงินเลว") มาไหลเวียนแทน
ในเดือนกรกฎาคม 2006 นิวซีแลนด์ผลิตเหรียญใหม่เริ่มตั้งแต่ราคา 10 เซนต์ ถึง 50 เซนต์ (ลดการใช้เหรียญ 5 เซนต์เก่าลง) โดยใช้แผ่นเหล็กชุบเป็นวัตถุดิบซึ่งมูลค่าเนื้อโลหะต่ำกว่าราคาหน้าเหรียญพอควร อีกทั้งยังเบาและทนทานอีกด้วย
ผู้ว่าการธนาคารชาติฟิลิปปินส์แก้ปัญหาเหรียญกษาปณ์ขาดแคลนอย่างหลักแหลมด้วยการติดต่อ Catholic Church ของฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับเงินบริจาคในรูปของเหรียญกษาปณ์รวมเป็นเงิน 82 ล้านเปโซ นับตั้งแต่มีการรณรงค์เพื่อคนจนในปี 2004 เพื่อให้นำมาฝากกับธนาคารเร็วขึ้น เหรียญกษาปณ์จะได้ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างไม่ขาดแคลน ธนาคารชาติฟิลิปปินส์ยังเข็ดไม่หายกับต้นทุนการผลิตเหรียญกษาปณ์ในปี 2005 จำนวน 1 พันล้านเหรียญในราคา 700 ล้านเปซภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองพอควร และมีหนี้สาธารณะรวมถึง 4 ล้านล้านเปโซ
ไทยเรายังไม่มีวิกฤตเหรียญกษาปณ์เพราะถึงอย่างไรหนึ่งบาทและห้าสิบสตางค์ของเรายังมีค่า และคนไทยไม่ชอบใช้เหรียญกษาปณ์จนเงินส่วนใหญ่เป็นธนบัตร เราเคยมีปัญหาเหรียญกษาปณ์ก็เพียงเมื่อครั้งเหรียญ 2 บาทกับ 5 บาทมีหน้าตาและขนาดใกล้เคียงกันมาก
จนเป็นประเทศเดียวในโลกตอนนั้นที่มีสีเมจิคเขียนบนเหรียญสำทับอีกครั้งว่าเป็น 2 บาท หรือ 5 บาท

เครื่องเคียงอาหารสมอง
มีหลักฐานว่าเมื่อ 50 ปีก่อนคริสตกาลจักรพรรดิเนโร ผู้เผากรุงโรม และ Alexander The Great ได้บริโภคของหวาน ที่ประกอบด้วยหิมะผสมกับน้ำผึ้ง ถั่ว และผลไม้ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ไอศกรีมอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นการปูทางไปสู่ไอศกรีมในเวลาต่อมา
ประมาณ ค.ศ.1640 หัวหน้าเครื่องต้นของพระเจ้าชาลร์สที่หนึ่งของฝรั่งเศสชื่อ Gerald Tissain ประดิษฐ์ของหวานที่ประกอบด้วยนม หรือครีม เป็นน้ำแข็ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นคนแรกของโลกที่คิดค้นไอศครีมขึ้น
ตลอดเวลา 200 ปีต่อมา ไอศครีมเป็นของสูงที่บริโภคกันเฉพาะในหมู่คนรวยชั้นสูงเท่านั้น จวบจน ค.ศ.1851 (ปีแรกของรัชกาลที่ 4 คือ ค.ศ.1850) คนอเมริกันชื่อ Jacob Fussell พบว่าวิธีรักษาครีมจากนมที่ดีที่สุดก็คือการแช่เย็นจัดไว้ เมื่อชิมดูก็รู้สึกอร่อยโดยเฉพาะเมื่อผสมน้ำตาลไปด้วย
ขนมหวานชนิดนี้หรือไอศครีมได้รับความนิยมอย่างมากจนเขาตั้งโรงงานผลิตขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ ภายในเวลาปีเดียว "ขนม" ของเขาขายดีมากจนต้องเปิดอีกหลายโรงงาน และเป็นที่นิยมไปทั่วเขตอเมริกาเหนือ
สำหรับไอศครีมชนิดที่วางบนขนมปังกรอบเป็นรูปกรวยที่เรียกกันว่าไอศกรีมโคน (ice-cream cone) นั้น เป็นประดิษฐกรรมของ Italo Marcioni (คนอเมริกันเชื้อสายอิตาลี) ใน ค.ศ.1896 แต่ไม่ได้รับความนิยมจนกระทั่ง ค.ศ.1904
ความเป็นมาของ ice-cream sundae ที่เป็นไอศครีมราดครีมช็อกโกแลต หรือน้ำผลไม้ข้นหวานนั้น เล่ากันมาว่าคนขายในรัฐวิสคอนซินในวันอาทิตย์วันหนึ่งมีไอศครีมไม่พอขายจึงเอาอย่างอื่นผสมลงไปด้วยเพื่อเพิ่มปริมาณ ปรากฏว่าเป็นที่นิยมมาก เรียกกันว่า Sunday Ice Cream
ต่อมามีผู้เห็นว่า Sunday เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าที่คริสต์ศาสนิกชนเข้าโบสถ์ จึงสะกด Sunday ให้เพี้ยนไปเป็น Sundae
น้ำจิ้มอาหารสมอง
Life must be lived forwards, but it can only be understood backwards. (Soren Kierkegaard นักปรัชญาเดนมาร์ก ค.ศ.1813-55)
ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า แต่จะเข้าใจมันได้ก็ด้วยการดูข้างหลังเท่านั้น หน้า 20
อาหารสมอง วีรกร ตรีเศศ Varakorn@dpu.ac.th มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1356

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น