วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเตรียมการสำหรับวิกฤติของสหภาพยุโรป

กอบศักดิ์ ภูตระกูล คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "อนาคตเศรษฐกิจไทย" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ  กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 กรกฎาคม 2555

หากยุโรปล้มลงวันนี้ Aftershocks จะไม่รุนแรงเท่ากับรอบที่แล้ว ช่วงนี้หน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ มักจะพาดหัวข่าวเกี่ยวกับวิกฤติในสหภาพยุโรป กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ เป็นประจำ ทำให้หลายคนอยากรู้ต่อไปว่า “วิกฤติครั้งนี้จะกระทบต่อไทยแรงแค่ไหน และเราควรเตรียมการอย่างไร”
0 จะแรงแค่ไหน
การเตรียมการที่เหมาะสม ต้องเริ่มจากคำถาม “วิกฤติครั้งนี้ จะคล้ายกับครั้งไหน”  ก่อนอื่น รอบนี้ไทยจะไม่เป็นต้มยำกุ้ง เพราะต้มยำกุ้งเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นจากปัญหาภายในประเทศของเราเอง จากการใช้จ่ายเกินตัว จากความเปราะบางที่สะสมเอาไว้มาก พอเกิดวิกฤติ ทุกอย่างจึงล้มลงอย่างระเนระนาด
ปัญหาครั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากต่างประเทศ เกิดขึ้นในขณะที่ Balance sheet ของภาคส่วนต่างๆ ของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ซึ่งสถานการณ์มีบริบทคล้ายๆ กับสิ่งที่เราเคยเผชิญมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน โดยครั้งนั้น ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจโลก คือ สหรัฐ ล้มลง เราจึงพลอยเซ ได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนครั้งนี้ ยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลก หรือ ยุโรปกำลังมีปัญหา เมื่อยักษ์ตัวนี้ล้มลง เราก็จะเซไปด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากยักษ์ตัวนี้เล็กกว่า ผลกระทบก็จะน้อยกว่า
สำหรับสิ่งที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับปี 2008 ก็คือ
1. Surprise Factor ตอนที่ Lehman Brothers ล้ม และตามมาด้วย Citibank, Bank of America, AIA และสถาบันการเงินขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง กล่าวได้ว่า ทุกคนต่างตกใจ ต่างไม่ได้เตรียมการมาก่อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น (Aftershocks) จึงมีความรุนแรงอย่างยิ่ง ทำให้สถาบันการเงินในหลายประเทศ ต้องเร่งปรับลดการให้สินเชื่อ ลดขนาดของพอร์ตตนเองลง เร่งหาสภาพคล่องมาเตรียมไว้เพื่อให้สามารถอยู่รอดให้ได้
ครั้งนี้ ทุกคนมีเวลาเตรียมการมา 2 ปีกว่าๆ นับแต่เกิดปัญหาในกรีซ ทำให้ทุกคนสามารถเตรียมการได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนสภาพคล่อง พร้อมกับได้ปรับพอร์ตลด Position เรียบร้อยไปแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า หากยุโรปล้มลงวันนี้ Aftershocks จะไม่รุนแรงเท่ากับรอบที่แล้ว
2. วงของปัญหา จากเวลาที่มีและการเตรียมการของทุกคน มีความหมายต่อไปว่า ปัญหารอบนี้จะหนักหน่วงที่ยุโรปเป็นสำคัญ เนื่องจากผู้ที่เคยไปปล่อยกู้หรือลงทุนในยุโรป สามารถออกตัวไปมากพอสมควร แล้วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งสหภาพยุโรปตัดสินใจเข้าอุ้มแบงก์ อุ้มประเทศที่เกิดปัญหา พยายามยื้อปัญหา พยายามซื้อเวลาเอาไว้อย่างเช่นที่ทำอยู่ นักลงทุนและสถาบันการเงินที่เข้าไปลงทุนในช่วงก่อนหน้า ก็จะสามารถ Exit ออกมาได้ โดยมีรัฐบาล ธนาคารกลาง หรือกองทุนช่วยเหลือของสหภาพยุโรปเข้ามารับแทน ดังนั้น ปัญหารอบนี้ ไม่น่าจะกระจายวงกว้างเท่ากับที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว  
3. ความสามารถของผู้ที่จะมาช่วย ที่เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้ โดยใช้เวลาไม่นานหลังเกิดวิกฤติที่สหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือกันกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลาง ของประเทศต่างๆ ที่ยอมใช้จ่ายขาดดุลเพิ่มเติม และลดดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ ชัดเจนว่า ประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปจะไม่สามารถเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง เหมือนครั้งที่แล้ว (จากปัญหาหนี้ภาครัฐที่กำลังเผชิญอยู่) อีกทั้ง ECB ก็มี Room อีกไม่มากในการลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบ จากการที่ได้อัดฉีดสภาพคล่องช่วยเหลือไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่า วิกฤติภายในสหภาพยุโรปรอบนี้จะกินเวลายาวนานพอสมควร
0 ผลกระทบต่อประเทศไทยและการเตรียมการ

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและกระทบมาถึงไทยนั้น จะเข้ามาในช่องทางที่คล้ายคลึงกับเมื่อปี 2008 โดยเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบผ่าน (1) กลุ่มผู้ส่งออก ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤติครั้งนี้ (2) ความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดการเงิน ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะเพิ่มขึ้น (3) สภาพคล่องที่จะไหลย้อนกลับไปที่สหภาพยุโรปในบางช่วงเวลา และ (4) นักท่องเที่ยวที่จะหายไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรป
ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2008 เราก็เคยได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาจะหนักหน่วงที่ยุโรปเป็นสำคัญ ไม่กระจายวงกว้าง ไม่ล้มกันเป็น Domino ไปทั้งโลก ทุกภูมิภาค ดังนั้น ผู้ส่งออกจะมีทางเลือกในการหาตลาดอื่นมาทดแทน โดยเฉพาะตลาดในเอเชียที่ยังจะพอไปได้ ซึ่งยิ่งวิกฤติที่จะเกิดในสหภาพยุโรปจะมีความยาวนานมากกว่าปกติ ผู้ส่งออกที่เน้นตลาดสหภาพยุโรปเป็นสำคัญ ก็ยิ่งต้องคิดที่จะหาทาง Diversify ไปตลาดอื่นแทน
ส่วนผลกระทบอื่นๆ นั้น จะเกิดเป็นครั้งคราว โดยค่าเงินบาทจะผันผวนเป็นพิเศษในช่วงต่อไป อ่อนค่ามากในช่วงที่วิกฤติกำลังลุกลามในยุโรป แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อ ยุโรปยอมถอย มีมาตรการออกมา สลับไปมา ยืดเยื้อไม่จบลงง่ายไปอีกระยะ ก่อนที่วิกฤติจะบานปลายไปมากกว่านี้ โดยความแรงของวิกฤตินั้น ขณะนี้ คิดว่าน่าจะประมาณครึ่งหนึ่งของเมื่อปี 2008 เนื่องจากการกระจายตัวจะไม่กว้างขวางเท่ากับเมื่อครั้งที่แล้ว (แต่ถ้ายื้อกันเอาไว้นาน ไม่ยอมแพ้สักที ท้ายสุด ผลกระทบก็อาจจะแรงกว่าที่คิดไว้ได้ ก็ต้องไม่ประมาท)
ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว การเตรียมการของภาครัฐและเอกชนรอบนี้ จึงมี Playbook จาก 2008 มาเป็นตัวช่วย โดยครั้งนั้น วิกฤติสหรัฐ วิกฤติยักษ์ตัวใหญ่ล้ม เป็นสิ่งที่เราไม่เคยประสบมาก่อน การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำประเภทคิดไปทำไป แต่รอบนี้ กล่าวได้ว่า ประสบการณ์จากปี 2008 จะเป็นตัวช่วยสำคัญ
อะไรที่เราทำได้ดีเมื่อครั้งที่แล้ว ในส่วนของเอกชน เช่น การหาตลาดใหม่ การใช้เงินตราสกุลท้องถิ่นในการชำระเงิน การทำ FX Hedging การพยายามลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สิ่งเหล่านี้ก็ต้องขอให้ทำใหม่
อะไรที่เราพลาดไป เช่น เสียหายจากราคาวัตถุดิบที่ผันผวนมากจากการ Stock สินค้าไว้มาก จาก Order ที่ลูกค้าไม่ยอมจ่ายเงินเข้าช้อนหุ้นเร็วเกินไป จนช้อนหัก ก็ขอให้นำมาเป็นบทเรียน เรียนรู้ที่จะป้องกันความเสี่ยงจากการเหวี่ยงของราคาวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ราคาทองคำ Stock สินค้าไว้แต่พอประมาณ เรียนรู้ที่จะป้องกันความเสี่ยงจากการส่งสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศที่เกิด ปัญหา และอดใจรอ
อะไรที่เราคิดได้ช้าไป ทำไม่ทัน ครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาส ให้ได้นำข้อคิดดังกล่าวมาใช้ อาทิ กว่าจะเริ่มลงทุนใหม่ ก็ช้าไปเสียแล้ว เศรษฐกิจฟื้นไปไกลแล้ว โดยรอบนี้ก็เช่นกัน หลังจากมรสุมยุโรป ซึ่งแม้จะยืดเยื้อบ้าง ได้ผ่านไปแล้ว เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย ก็น่าจะสดใส สามารถฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนที่สุดของโลก
สำหรับภาครัฐ มาตรการดีๆ ที่เคยออกมา เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ ไทยเข้มแข็ง 1 และ 2 การลดดอกเบี้ยนโยบาย การปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลง การออกมาตรการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SME การช่วยประกันสินเชื่อส่งออก เป็นต้น ก็ควรที่จะเตรียมมาตรการเหล่านี้ไว้แต่เนิ่นๆ
ถ้าเราทุกคนหมั่นทบทวนบทเรียนที่ได้จากปี 2008 รู้จักนำบทเรียนมาใช้เตรียมการเพื่อรับมือกับวิกฤติรอบนี้โดยไม่ประมาท เราก็น่าจะสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ขอเอาใจช่วยครับ
** หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติม หรือเสนอแนะได้ที่ “Blog ดร.กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น