โดย : กุลลินี มุทธากลิน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 กรกฎาคม 2555
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านจะเคยได้ฟังเพลง “Mr. Curiosity”
ที่แปลชื่อเพลงเป็นไทยได้ว่า “นายอยากรู้อยากเห็น” ซึ่งขับร้องโดย Jason
Mraz กันหรือไม่
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสได้นั่งฟังและพิจารณาถึงเนื้อร้องของเพลง
นี้อย่างจริงจังและพบว่าเนื้อหาของเพลงพูดถึงสองด้านของความอยากรู้อยากเห็น
ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพสิ่งที่เหล่าบรรดาศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ใน
Econ 4
(ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเศรษฐศาสตร์ที่ตั้งคำถามต่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
และพยายามสร้างเศรษฐศาสตร์ใหม่ขึ้นมา โปรดดูบทความเรื่อง Econ 4
ก่อนหน้านี้ของผู้เขียน) เรียกร้องให้นำกลับเข้ามาสู่เศรษฐศาสตร์อีกครั้ง
หลังจากที่สิ่งนี้ห่างหายไปจากเศรษฐศาสตร์มาเป็นเวลานาน
อะไรคือชิ้นส่วนที่ขาดหายไปจากเศรษฐศาสตร์
ในภาษาอังกฤษนั้นมีสำนวนที่ว่า “Curiosity killed the cat”
ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “การอยากรู้อยากเห็นเป็นอันตราย”
(ต่อผู้ที่อยากรู้อยากเห็น) แต่ถ้าการอยากรู้อยากเห็นเป็นอันตราย
(ต่อผู้ที่อยากรู้อยากเห็น) อย่างที่เนื้อเพลงถามว่า
“คิดว่ามันจริงไหมที่พวกนั้นพูดถึงเธอ (ความอยากรู้อยากเห็น)
ที่ว่าเธอจะทำร้ายฉัน จริงหรือเปล่า” ผู้เขียนกลับคิดว่า การ (ไม่)
อยากรู้อยากเห็นกลับเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์
ศาสตราจารย์ Roger E. Backhouse แห่งมหาวิทยาลัย Birmingham
และศาสตราจารย์ Bradley W. Bateman แห่งมหาวิทยาลัย Denison
ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส โดยกล่าวว่า
สิ่งที่พวกเขาเห็นว่าห่างหายและร้างไร้ไปจากเศรษฐศาสตร์ ก็คือ
จินตนาการของนักเศรษฐศาสตร์ จินตนาการที่ว่า ก็คือ
การวาดภาพของระบบเศรษฐกิจที่ควรจะเป็นหรืออยากจะให้เป็น ในอดีต
ยุคของสงครามเย็นระหว่าง 2
ค่ายอุดมการณ์ของค่ายเสรีนิยมที่นำขบวนโดยสหรัฐอเมริกาและค่ายสังคมนิยมที่
นำขบวนโดยสหภาพโซเวียต ในบริบทของความขัดแย้ง แข่งขัน
และการโฆษณาชวนเชื่อระหว่าง 2 ค่ายอุดมการณ์นั้น
เรายังพบเห็นวิชาที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจเปรียบเทียบในการเรียนการสอนทาง
เศรษฐศาสตร์
ในวิชานี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้ถึงทางเลือกของระบบเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ
รวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจแต่ละรูปแบบ
แต่ภายหลังเมื่อเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและค่ายสังคมนิยม
อันนำมาสู่สภาวะที่นักรัฐศาสตร์ชั้นนำอย่าง Francis Fukuyama
ประกาศก้องอย่างอหังการว่าเป็น “จุดจบของประวัติศาสตร์” กล่าวคือ
ระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างหลากหลายก็แทบจะหมดสิ้นไปเหลือเพียงระบบเศรษฐกิจ
เพียงรูปแบบเดียว คือ ระบบทุนนิยม
ประหนึ่งว่ามนตราของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของสหราชอาณาจักร Margaret
Thatcher ที่ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว” (There is no alternative)
หรือ TINA จะกลายเป็นจริงขึ้นมา
สิ่งที่น่าแปลกใจ ก็คือ
ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแทบจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจรูปแบบเดียว
ที่มีอิทธิพลเสมือนหนึ่งหลุมดำที่ดูดกลืนทุกสรรพสิ่ง
แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับไม่สามารถทำความเข้าใจกลไกการทำงานของระบบทุนนิยม
อย่างถ่องแท้แบบที่คาดหวังกัน วิกฤติเศรษฐกิจจึงปะทุขึ้นเป็นช่วงๆ
และทางเลือกในการจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละครั้งกลับมีข้อจำกัดอยู่บน
ข้อสมมติที่ว่าระบบเศรษฐกิจมีเพียงรูปแบบเดียว คือ ระบบทุนนิยม
ทางออกหลักของการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็อยู่ที่ทางเลือกระหว่างการให้
น้ำหนักระหว่าง ตลาดกับรัฐ (market versus state) เท่านั้น กล่าวคือ
ถ้าไม่เป็นเสรีนิยมก็ต้องเป็นเคนส์เซียน นั่นคือ
ถ้าไม่เชื่อมั่นในการทำงานของกลไกราคาอย่างเต็มที่ก็ต้องเชื่อมั่นในบทบาท
การแทรกแซงของรัฐ (บ้าง) แต่โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด
ต่างก็เป็นการเลือกบนข้อสมมติที่ว่าระบบเศรษฐกิจมีเพียงรูปแบบเดียว คือ
ระบบทุนนิยม
นักเศรษฐศาสตร์ที่ไร้จินตนาการเหล่านี้ ได้ขับไล่ “นายอยากรู้อยากเห็น”
ออกไปจากเศรษฐศาสตร์เสียแล้ว แต่เหล่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์ใน Econ 4
ต้องการเรียกหาให้ “นายอยากรู้อยากเห็น” กลับคืนมา
ถ้านักเศรษฐศาสตร์ต้องการออกไปจากวิกฤติและสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่
เป็นอยู่
เศรษฐศาสตร์จำเป็นที่จักต้องทะลวงกรอบแหวกตัวเองออกไปจากข้อสมมติที่ว่าระบบ
เศรษฐกิจมีเพียงระบบเดียวคือระบบทุนนิยม
และต้องกลับมาจินตนาการถึงระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายอย่างที่เคยมีมา
เนื่องเพราะว่าระบบที่หลากหลายเปิดให้มีทางเลือกอื่นๆ
ที่หลากหลายที่มากไปกว่าการจำกัดตัวเองอยู่กับ “ประสิทธิภาพ” และ
“การเติบโต” แต่เปิดทางเลือกไปสู่ “ความเสมอภาค” และ “ความยุติธรรม”
หรือทางเลือกที่สร้างสมดุลระหว่างสองด้าน
รวมถึงการออกไปจากกับดักของสองด้านของทางเลือก
ระบบที่หลากหลายเปิดให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากไปกว่าการจำกัดตัวเองอยู่
กับการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในปัจจุบันนี้
แต่เปิดทางเลือกไปสู่การตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ในอนาคต
หรือทางเลือกที่สร้างสมดุลระหว่างสองด้าน
รวมถึงการออกไปจากกับดักของสองด้านของทางเลือก
ระบบที่หลากหลายเปิดให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากไปกว่าการจำกัดตัวเองอยู่
กับการยอมรับในธรรมชาติของความต้องการอันไม่จำกัดของมนุษย์
แต่เปิดทางเลือกไปสู่การตระหนักถึงขีดจำกัดของธรรมชาติ
หรือทางเลือกที่สร้างสมดุลระหว่างสองด้าน
รวมถึงการออกไปจากกับดักของสองด้านของทางเลือก
การที่นักเศรษฐศาสตร์จะสามารถก้าวข้ามออกไปจากข้อสมมติดังกล่าวจะทำได้ก็โดย
การตั้งคำถาม มีข้อสงสัย และมีความอยากรู้อยากเห็น แน่นอนว่า
มันอาจจะเป็นการง่ายกว่าที่จะไม่ตั้งคำถาม ไม่มีข้อสงสัย
และไม่มีความอยากรู้อยากเห็น แต่ในทางกลับกัน
ก็อาจเป็นการยากและอันตรายกว่าที่จะหันมาตั้งคำถาม มีข้อสงสัย
และมีความอยากรู้อยากเห็น แต่ก็เหมือนกับเนื้อเพลงของ “Mr. Curiosity”
ที่มีนัยว่า มันไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใดหากความอยากรู้อยากเห็นจะฆ่าเรา
แต่การคิดว่าไม่มีสิ่งใดผิดปกติและไม่เป็นปัญหานั้นเป็นสิ่งที่ร้ายแรงยิ่ง
กว่า เพราะความใฝ่ฝันและแรงบันดาลใจได้หมดสิ้นลงแล้ว
การตั้งคำถาม มีข้อสงสัย
และมีความอยากรู้อยากเห็นสร้างความหวังและแรงบันดาลใจ
ทำให้ชีวิตมีสีสันดังที่เพลง “Mr. Curiosity”
ส่งสารให้แก่ผู้ฟังผ่านเสียงเพลงฉันใด การตั้งคำถาม มีข้อสงสัย
และมีความอยากรู้อยากเห็นก็สร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้นักเศรษฐศาสตร์
และเศรษฐศาสตร์ฉันนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว นักเศรษฐศาสตร์อาจจะต้องเรียกหา
“นายอยากรู้อยากเห็น” ให้กลับคืนมา เหมือนเนื้อเพลง “Mr. Curiosity”
ท่อนที่ว่า
Mr. Curiosity
Be Mr. please
Do come and find me
นายอยากรู้อยากเห็น
ได้โปรดเถิด
กลับคืนมาและพานพบฉัน
(กลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันที)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น