วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข้อคิดการลงทุน ในภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้

ดร.บัณฑิต นิจถาว รคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 
ช่วงนี้ผมชีพจรลงเท้า ล่าสุดอาทิตย์ที่แล้วไปสิงคโปร์ ไปเป็นประธานการประชุมการบริหารเงินลงทุนด้านสินทรัพย์และหนี้สินเอเชีย 2012 ซึ่งปีนี้ก็ไปเป็นปีที่สอง สิงคโปร์ยุคนี้เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้าออกมาก เพราะมีร้านรวงน่าสนใจ ร้านอาหารก็ดีขึ้น แต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้น ผมไปคราวนี้ถือโอกาสทำธุระเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูงทั้งในภาคราชการ ตลาดการเงินและแวดวงวิชาการ ก็ได้พบเกือบครบตามที่ตั้งใจไว้ แต่ก็เหนื่อยเพราะพยายามทำหลายๆ อย่างภายในสองวัน
การประชุมปีนี้มีผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ทั้งนักบริหารเงินลงทุนจากภาคเอกชน และภาครัฐเกือบร้อยคน ซึ่งที่ประชุมได้หารือในสามหัวข้อ คือ ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ทิศทางการบริหารเงิน และการบริหารความเสี่ยง แต่ปีนี้ บริบทการหารือค่อนข้างจะยาก เพราะการประชุมอยู่ในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกมีปัญหาและมีความท้าทาย มาก โดยเฉพาะความเปราะบางของปัญหาในยุโรปที่ยังแก้ไขไม่ได้ และกำลังมีผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ขณะนี้ พูดได้ว่ามีพัฒนาการอยู่สามด้าน ที่กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลก
ด้านแรก ก็คือ ความเสี่ยงที่นับวันจะมีมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของระบบเงินยูโร สอง ก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่ และ สาม ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการ ที่ผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจจะใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่
ความไม่ชัดเจนด้านนโยบายขณะนี้ เป็นปัจจัยที่กระทบตลาดการเงินโลกมากที่สุด และความไม่ชัดเจนก็มี ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ ในกรณีของ ยุโรป ความไม่ชัดเจน ก็คือ ขั้นตอนหรือมาตรการที่รัฐบาลของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปจะใช้เพื่อปูทางไปสู่ การรวมตัวของยุโรป ในด้านการเงินและการคลังที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่ยุโรปมีอยู่ ว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร จะน่าเชื่อถือหรือไม่ และจะสามารถรักษาความเชื่อมั่นของตลาดต่อการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้แค่ไหน
ในกรณีของ สหรัฐ ความไม่ชัดเจนอยู่ที่วิธีการที่รัฐบาลสหรัฐจะใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ รวมถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างฐานะการคลังของสหรัฐให้มีความยั่งยืนในระยะยาว อย่าลืมว่า ปีที่แล้ว ตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐได้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าแนวทางแก้ไขปัญหาการคลังสหรัฐยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี แรงกดดันตลาดต่อปัญหาหนี้สาธารณะในสหรัฐก็คงจะกลับมาอีก และในกรณีของประเทศ ตลาดเกิดใหม่ ความไม่ชัดเจน ก็คือ ประเทศเหล่านี้จะใช้นโยบายอย่างไร ที่จะดูแลเศรษฐกิจในภาวะที่การค้าโลกชะลอตัวลงมาก จากปัญหาในเศรษฐกิจโลก และในภาวะที่ความผันผวนของการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศมีมากขึ้น
สำหรับตลาดการเงิน ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกและการแก้ไขปัญหาของภาคทางการที่ได้ทำไป ได้ทำให้ตลาดการเงินโลกเปลี่ยนไปมาก ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ตราสารหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่เคยถือเป็นตราสารที่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ ขณะนี้ ตราสารหนี้เหล่านี้ไม่ได้เป็นตราสารที่ปลอดความเสี่ยง (Risk-free) เหมือนเดิม แต่เป็นตราสารที่สามารถมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ได้ เช่น ในกรณียุโรปขณะนี้ และความเสี่ยงที่มีมากขึ้นของตราสารหนี้ภาครัฐ  ก็ทำให้ตลาดต้องปรับราคา (Re-pricing) ตราสารทางการเงินอื่นๆ ตามไปด้วย ตามความเสี่ยงเมื่อเปรียบเทียบกับการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐ แต่การปรับราคาก็ทำได้ไม่ง่าย เพราะตลาดการเงินโลกปัจจุบันถูกบิดเบือนจากนโยบายของทางการ โดยเฉพาะการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินโลกเป็นจำนวนมาก ระบบการเงินโลกจึงเต็มไปด้วยสภาพคล่องที่กดดันให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ ต่ำ ทั้งๆ ที่ปัญหาและความเสี่ยงที่มีอยู่ควรผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น
ความไม่สอดคล้องนี้ เห็นได้ชัดจากอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศยูโรโซนที่แตกต่างกันมาก ระหว่างอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่มีปัญหาหนี้ กับอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่ไม่มีปัญหาหนี้ โดยความแตกต่างสะท้อนความเสี่ยงที่แต่ละประเทศมี กล่าวคือ ประเทศที่ตลาดมองว่าตราสารหนี้มีความเสี่ยงด้านการชำระหนี้น้อย เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และกลุ่มประเทศยุโรปทางเหนือ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจะปรับลดต่ำมาก จนบางประเทศให้ผลตอบแทนติดลบ ขณะที่อีกข้างหนึ่งของตลาด คือ กลุ่มประเทศยุโรปตอนใต้ที่มีปัญหาหนี้ เช่น สเปน อิตาลี กรีซ และโปรตุเกส อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลได้ปรับสูงขึ้นโดยตลอด เพราะตลาดมองว่าเป็นตราสารที่มีความเสี่ยง
ดังนั้น ตลาดการเงินโลกขณะนี้จึงอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ อัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารที่ถือว่าปลอดภัยต่ำมาก จนเป็นแรงกดดันให้ผู้บริหารเงินลงทุน โดยเฉพาะเงินลงทุนภาครัฐ ต้องปรับพอร์ต เพื่อให้การลงทุนให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นภายใต้ข้อจำกัดด้านการถือความเสี่ยง ที่มีอยู่ และเมื่อเร็วๆ นี้ การสำรวจการลงทุนของนักลงทุนสถาบันที่เป็นบริษัทประกันกว่า 150 รายทั่วโลก ทำโดยบริษัทจัดการลงทุน GSAM ในเดือนพฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “มองหาผลตอบแทนในภาวะตลาดที่ไม่ปรกติ” ก็ให้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่าประมาณร้อยละ 75 ของนักบริหารเงินต้องการที่จะลดหรือคงระดับความเสี่ยงที่มีอยู่ขณะนี้ไว้ ขณะที่อีกร้อยละ 25 ต้องการเพิ่มระดับความเสี่ยงเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น การเพิ่มความเสี่ยง ก็คือ การขยายขอบเขตการลงทุนไปสู่ตราสารหรือสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งในเรื่องเครดิต สภาพคล่อง และอัตราแลกเปลี่ยน
สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นโจทย์กดดันการบริหารเงินลงทุนขณะนี้ ซึ่งคำถามที่ตามมา ก็คือ แล้วนักลงทุนหรือนักบริหารเงินลงทุนควรทำอย่างไร
ในการประชุมอาทิตย์ที่แล้ว ไม่มีคำตอบหรือข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องนี้ หลายคนที่เข้าร่วมประชุมยอมรับว่า ยังไม่มีคำตอบ เพราะเกมการลงทุนได้เปลี่ยนไปมาก ทำให้ลงทุนยากขึ้น ผมเองก็ยอมรับว่าเวลานี้การบริหารเงินลงทุนยากขึ้น แต่เท่าที่นั่งร่วมประชุมอยู่วันครึ่ง ก็ไม่ลืมที่จะมีข้อคิดมาฝากผู้อ่าน “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต”
ข้อคิดแรก ก็คือ ในภาวะที่ตลาดมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ประเด็นที่ต้องนึกถึงอยู่ตลอด ก็คือ ในภาวะเช่นนี้การรักษามูลค่าของเงินลงทุนจะสำคัญเท่ากับหรือมากกว่าอัตราผล ตอบแทนที่จะได้จากการลงทุน พูดง่ายๆ ก็คือ Return of the money จะสำคัญกว่า Return on the money ในภาวะตลาดแบบนี้
สอง การขยายการลงทุนไปสู่ตราสารหรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่มีความเสี่ยงมากขึ้น เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา แต่ควรไปมากที่สุดเท่าที่เราจะเข้าใจและจะสามารถบริหารความเสี่ยงใหม่ที่ เกิดขึ้นได้ ภายใต้ข้อจำกัดของพอร์ตความเสี่ยงที่มีอยู่ เพราะการเข้าไปลงทุนในตราสารหรือสินทรัพย์ใหม่ที่เราไม่มีประสบการณ์ โดยไม่ศึกษาประเด็นความเสี่ยงอย่างเพียงพอ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนัน ซึ่งไม่ใช่วิสัยของการบริหารเงินลงทุนอย่างมีธรรมาภิบาลที่ดี และ
สาม ในภาวะตลาดแบบนี้ อาจจำเป็นที่การลงทุนจะต้องมองภาพการลงทุนในเงื่อนเวลาที่ยาวขึ้น ก็คือ ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
ก็หวังว่าข้อคิดที่นำมาฝากเหล่านี้จะเป็นประโยชน์
ที่มา  http://www.nidambe11.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น