วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เตรียมรับมือภาวะถดถอยเศรษฐกิจโลกด้วยการลงทุน

โดย : อนุสรณ์ ธรรมใจ  กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 กรกฎาคม 2555
ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มปรากฏชัดขึ้นจากสัญญาณหลายประการ เริ่มต้นตั้งแต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมสหรัฐอเมริกายังฟื้น ตัวอย่างอ่อนแอ วิกฤตการณ์ยูโรโซนยืดเยื้อลุกลามแม้นยังไม่มีอาการระบบยูโรล่มสลายปรากฏชัด ปัจจัยลบภายนอกได้รุมเร้าจนกระทั่งทำให้เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ไล่เรียงไปตั้งแต่ จีน (อัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 4 ปี) อินเดีย (อัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 9 ปี) สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เศรษฐกิจหลายประเทศในเอเชียเผชิญแรงกดดันขาลงอย่างชัดเจนโดยเฉพาะประเทศที่ พึ่งพาการส่งออกมากและมีระดับการเปิดประเทศค่อนข้างสูง การค้าโลกชะลอตัวลงเติบโตเพียงแค่ 5.2-5.3% จากปีที่แล้วที่ขยายมากกว่า 6% อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้อาจตกลงมาต่ำกว่า 2.5%
ประเทศไทยได้มีการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศและกับหลายภูมิภาค การเปิดเสรีและการเปิดกว้างทางภาคการค้า ภาคบริการและภาคการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ ระดับของการเปิดประเทศเองก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยจากสัดส่วนของมูลค่าการค้า ระหว่างประเทศเทียบกับจีดีพีที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน อีกด้านหนึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ย่อมเสี่ยงต่อปัญหาที่เกิดจากความ ผันผวนของปัจจัยภายนอก
เราต้องเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งนี้ให้ดี สัญญาณชะลอตัวชัดเจนมากขณะเดียวกันก็มีการงัดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ ภาษีออกมาปกป้องตลาดภายในมากขึ้น ไม่ใช่มองโลกในแง่ร้ายเลยเพราะมันคือความจริงที่เผชิญอยู่ตรงหน้า ไทยค้าขายและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก 14 ประเทศคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 78% ประเทศเหล่านี้ล้วนมีเศรษฐกิจชะลอตัวลง เราจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งนี้
คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2555 เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทย 14 ประเทศจะขยายตัวชะลอลงจากปี 2554 จากปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและหนี้สินในกลุ่มยูโรโซน สอดคล้องกับหน่วยงานเศรษฐกิจของทางการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมองว่า เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5 (ตัวเลขของทางการจะอยู่ที่ 3.8%) ซึ่ง 14 ประเทศคู่ค้าหลักนี้คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าส่งออกสูงถึง 78.7% ประเทศจีนกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยด้วยสัดส่วนสูงถึง 12% ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นอันดับสองด้วยสัดส่วนการส่งออก 10.5%  
ประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นอันดับสามด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 9.6% ของมูลค่าส่งออกสินค้าโดยรวมปี 2554 หากพิจารณาเป็นกลุ่มประเทศหรือภูมิภาค ตลาดอาเซียนห้าประเทศหลัก (สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) มาเป็นอันดับหนึ่งในฐานะตลาดส่งออกของไทยด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 16.9 สหภาพยุโรปมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 9.4 เมื่อปี พ.ศ. 2554 การที่ตลาดอาเซียนมีสัดส่วนที่สูงมากและมีแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่องสะท้อนถึงผลของการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่มีต่อการขยายตัว ของการค้าและการส่งออกได้เป็นอย่างดีและสมาชิกอาเซียนยังคงเดินหน้าสู่การ เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) อย่างเต็มรูปในปี พ.ศ. 2558 อีกด้วย
หากผลกระทบจากวิกฤตการณ์ยูโรโซนลุกลาม ภาคการเงินจะมีความอ่อนไหว กระทบอย่างรุนแรงและรวดเร็วสุดในระยะสั้น ควรมีการทดสอบฐานะความแข็งแกร่งไว้ด้วยความไม่ประมาท  แม้นว่าสถาบันการเงินและตลาดทุนไทยจะยังไม่มีปัญหาในเวลานี้ก็ตาม เช่น เกิดการผิดนัดชำระหนี้จากคู่ค้าในยุโรป สถานการณ์หนี้เสียเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงิน เป็นต้น ในส่วนของตลาดทุนนั้น ทราบมาว่า ก.ล.ต.ได้จำลองสถานการณ์ว่า หากดัชนีหลักทรัพย์ปรับลดลงอย่างเร็วและแรง 10-20% ติดต่อกัน 3-5 วัน จะมีผลกระทบอย่างไรต่อระบบชำระราคา ฐานะการเงินของ บล. และ บลจ. รวมทั้งกองทุนต่างๆ ผลทดสอบในเบื้องต้นยังไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล
มาตรการสำคัญสำหรับรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก คือ การเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนทางด้านโลจิสติกส์และระบบขนส่ง การลงทุนทางด้านนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และยกระดับขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยระยะยาว
การลงทุนทางด้านระบบขนส่งและโลจิสติกส์ภายในระยะสิบปีข้างหน้าจะใช้เม็ดเงิน ประมาณ 1.86 ล้านล้านบาท หากเร่งให้เกิดขึ้นภายในปีนี้และปีหน้าได้ก็จะช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะ เศรษฐกิจโลกถดถอยได้ แนวทางพัฒนาระบบขนส่งของไทยควรเน้นไปที่ระบบราง พัฒนาให้สามารถเข้าถึงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและแหล่งชุมชนสำคัญทั้งหมด เชื่อมโยงกับประเทศอาเซียนทั้งหมด ระบบรางจะทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน มีความปลอดภัยสูงและต้นทุนต่ำ การทยอยลงทุนทางด้านระบบขนส่งด้วยเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทย่อมเกิดผลต่ออัตรา การเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านหลายช่องทาง เช่น ช่องทางการลงทุนภาคเอกชน โดยการลงทุนทางด้านระบบขนส่งจะไปกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนเกี่ยวเนื่อง ต่างๆ เติบโตเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อมีการลงทุนก่อสร้างระบบรางรถไฟความเร็วสูง ตัดถนนเส้นทางใหม่ๆ ก็จะเกิดเมืองเศรษฐกิจและชุมชนใหม่เกิดขึ้นตามเส้นทางที่สร้างขึ้นใหม่ ช่องทางการบริโภคภาคเอกชน การจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น การบริโภคโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น ช่องทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เครือข่ายระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของภาค ธุรกิจลงได้อย่างมากซึ่งปัจจุบันจากการศึกษาเรื่องต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดี พี ของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ร้อยละ 7-10 ต่ำกว่าอย่างชัดเจน
แผนการพัฒนาระบบขนส่งและจราจร พ.ศ. 2554-2563 ได้กำหนดเป้าหมายสำคัญไว้หลายประการ เช่น สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง ปัจจุบันร้อยละ 2.2 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 และสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 14 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 18 เพิ่มสัดส่วนการใช้บริการขนส่งสาธารณะระหว่างเมือง จากปัจจุบันร้อยละ 41 เป็นร้อยละ 46 และการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลจากปัจจุบันร้อยละ 59 ลดลงเหลือร้อยละ 54 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติหลักของประเทศ โดยต้องรองรับได้ไม่น้อยกว่า 60 ล้านคนต่อปี
การทำตามเป้าหมายเหล่านี้ได้ โครงการขนาดใหญ่ทางด้านโครงสร้างระบบขนส่งต้องเดินหน้าเต็มที่ หลายโครงการสะดุดต่อเนื่องมาหลายรัฐบาลแล้ว หวังว่า รัฐบาลชุดนี้คงจะผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศและชด เชยการชะลอตัวของภาคส่งออกด้วยการลงทุน ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น