วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การลงทุน : กุญแจสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

โดย : รุจา อดิศรกาญจน์, จารุพรรณ วานิชธนันกูล  กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กรกฎาคม 2555
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจากการสำรวจของ IMD World Competitiveness 2012 จำนวน 59 ประเทศ ที่เพิ่งประกาศเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม 2555 พบว่าอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงมาอยู่อันดับที่ 30 จากอันดับที่ 27 ในปีก่อน และมีอันดับแย่ลงในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในอันดับที่ 49 แย่ลงต่อเนื่องติดต่อกันนับแต่ปี 2552 โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยแย่ลง ก็คือ ไทยมีการลงทุนน้อยเกินไปเป็นระยะเวลานาน

สถานการณ์การลงทุนของไทย
เมื่อพูดถึงการลงทุน เชื่อว่าทุกคนคงอยากเห็นประเทศมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่เราคงไม่อยากเห็นการลงทุนที่มากเกินไปถึงร้อยละ 40 ต่อ GDP เหมือนช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เพราะในที่สุดมันก็นำมาซึ่งบทเรียนราคาแพงที่คนไทยยังจำกันได้ดี และหลังจากนั้น ตัวเลขดังกล่าวก็ไม่เคยปรากฏขึ้นในเศรษฐกิจไทยอีกเลย เพราะในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการลงทุนของไทยต่อ GDP ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค เช่น หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ค่าเฉลี่ยของการลงทุนต่อ GDP ของไทยในปี 2549-2554 อยู่ที่ร้อยละ 22 ซึ่งการลงทุนของไทยจะอยู่
ต่ำกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ไม่ต้องพูดถึงเวียดนาม จีน และอินเดีย ที่มีการลงทุนสูงกว่าร้อยละ 30 ของ GDP ไทยจะดีกว่าก็เพียงฟิลิปปินส์เท่านั้น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การลงทุนของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ คือ ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศและการขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นระยะๆ ซึ่งส่งผลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อผนวกกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 2551 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลบั่นทอนความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนในโครงการ ใหม่ๆ ของนักธุรกิจ ขณะที่ภาครัฐเองก็จัดสรรงบลงทุนเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจในสัดส่วนที่ น้อยลงเรื่อยๆ
คำถามต่อมา คือ แล้วระดับการลงทุนรวมต่อ GDP ของไทยควรจะเป็นเท่าไร เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีงานศึกษาระดับการลงทุนที่จะทำให้เศรษฐกิจไทย เติบโตอย่างมีศักยภาพ และพบว่าการลงทุนรวมต่อ GDP ของไทยควรจะอยู่ในระดับร้อยละ 28-30 เทียบกับปัจจุบันที่ร้อยละ 22 จึงเห็นได้ชัดว่า เรายังสามารถสนับสนุนให้การลงทุนเพิ่มขึ้นได้โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อ เศรษฐกิจโดยรวม
หนทางเพิ่มการลงทุน
หนทางเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยนั้น นอกจากการสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุน คือการทำหน้าที่ของภาครัฐ โดยรัฐควรทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนผ่านการสร้างบรรยากาศให้ เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและความชัดเจนของนโยบาย นอกจากนี้ รัฐสามารถเป็นผู้ลงทุนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินในโครงการลงทุนใหม่ การจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจร่วมลงทุนกับเอกชนทั้งด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการขนส่งมวลชน การสื่อสารโทรคมนาคม การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันได้อย่าง ยั่งยืน และยังมีผลชักนำให้เกิดการลงทุน (Crowding in) ไปสู่ภาคเอกชนได้มากขึ้นอีกด้วย
สำหรับ ธปท. สามารถมีบทบาทในการสนับสนุนการลงทุนได้ผ่านการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ และการเงิน เนื่องจากนักลงทุนจะประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว และคงไม่มีนักลงทุนรายใดประเมินการลงทุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจเพียงปีใดปี หนึ่ง หรือลงทุนในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตแบบสามวันดีสี่วันไข้เป็นแน่ ดังนั้น การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนทำธุรกิจ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้อีกทางหนึ่ง
โดยสรุปแล้ว จะเห็นว่าไทยยังสามารถลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของ ประเทศในเวทีโลกได้อีกมาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะรั้งท้ายไปมากกว่านี้ โดยภาครัฐจะต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการลงทุนและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อ การลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งหากสามารถผลักดันการลงทุนในประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้พัฒนา ได้อย่างยั่งยืน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น